Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 24/03/2564 ]
นอนไม่หลับ ทำสุขภาพแย่ 10 วิธีช่วยให้หลับเพียงพอ

 การนอนหลับที่เหมาะสมเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุด และยังส่งผลดีสุขภาพกายและใจ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ
          แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนกรน นอนไม่หลับ นอนไม่พอ มีอาการง่วงนอนกลางวันผิดปกติ หรือผู้ที่มีพฤติกรรมการนอนผิดปกติอื่น ๆ เช่น นอนแขนขากระตุก นอนกัดฟัน หรือนอนละเมอ นอนฝันร้าย สะดุ้งตื่นเป็นประจำ อาการเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อุบัติเหตุจากความง่วง สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า อาการซึมเศร้า ภาวะอ้วน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
          ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่าคนไทยร้อยละ 30 มีปัญหานอนไม่หลับช่วงกลางคืนหรือหลับไม่เพียงพอแบบไม่มีคุณภาพ และร้อยละ 10   ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีปัญหาการนอนไม่หลับเรื้อรัง
          สำหรับระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ได้แก่ เด็กก่อนวัยเรียนอายุ 3-5 ขวบ ควรมีระยะเวลาในการนอน 11-13 ชั่วโมง เด็กวัยเรียนอายุ 5-10 ขวบ ควรมีระยะเวลาในการนอน 10-11 ชั่วโมง วัยรุ่นอายุ 10-17 ปี ควรมีระยะเวลาในการนอน 8.5-9.5 ชั่วโมง วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรมีระยะเวลาในการนอน 7-9 ชั่วโมง
          ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายด้าน อีกทั้งการนอนหลับไม่เพียงพอในผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจทำให้โรคหรืออาการของโรคที่มีอยู่เพิ่มขึ้นหรือกำเริบขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่
          10 วิธีที่จะช่วยให้หลับเพียงพอและสุขอนามัยที่ดีในการนอนหลับ (Sleep hygiene)
          1. เข้านอนและตื่นเป็นเวลา ไม่ว่าวันทำงานหรือวันหยุด
          2. ไม่แนะนำให้นอนกลางวัน หากนอนกลางวันไม่ควรเกิน 30 นาที และไม่ควรเกินเวลา 15.00 น.
          3. หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
          4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน แอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
          5. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงออกกำลังกาย 2 ชั่วโมงก่อนนอน
          6. ผ่อนคลายความวิตกกังวล นั่งสมาธิ หลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์หรือดูหนังสยองขวัญก่อนนอน
          7. จัดสภาพแวดล้อมการนอนให้เหมาะสม อุณหภูมิในห้องนอนต้องไม่ร้อนหรือไม่เย็นเกินไป ปราศจากสิ่งรบกวน เช่น แสงสว่าง  เสียง
          9.  ใช้เตียงนอนเพื่อการนอนเท่านั้น 10. รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้า อย่างน้อย 30 นาทีของทุกวัน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นการควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญของร่างกาย
          หากพบว่ามีความผิดปกติในการนอนหลับ ทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นประจำ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ และง่วงนอนมากในเวลากลางวัน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจและประเมินสาเหตุที่แท้จริง.

 pageview  1210880    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved