Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 17/03/2555 ]
การบาดเจ็บที่ทำให้ไทเกอร์ วูดส์ ต้องถอนตัวออกจากการแข่งขัน

          สัปดาห์นี้ผมขอนำเรื่องราวสด ๆ ร้อน ๆ จากการแข่งขันกอล์ฟดับเบิลยูจีซี "คาดิลแล็ค แชมเปี้ยนชิพ" ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่มีข่าวว่าการแข่งขันเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ภายหลัง ไทเกอร์ วูดส์ เล่นไปได้ 11 หลุม ก็มีความจำเป็นต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันไป ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อว่า มีการบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวายด้านซ้าย ซึ่งเคยมีการบาดเจ็บมาก่อนเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อติดตามเข้าไปดูในเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็พบว่ามีอาการไม่มากนัก และตัวไทเกอร์ วูดส์ เองก็สื่อสารทางทวิตเตอร์ของตนเองว่า แพทย์ประจำตัวได้ตรวจและให้การรักษาแล้ว บอกว่าปลายสัปดาห์นี้คงเริ่มลงซ้อมได้ และจะสามารถเข้าแข่งขัน เดอะ มาสเตอร์ได้อย่างแน่นอน
          เอ็นร้อยหวายอยู่ตรงส่วนไหนของร่างกาย?หลายท่านอาจจะลืมไปแล้วว่า เอ็นร้อยหวาย คือส่วนไหนของร่างกาย? ผมขอทบทวนให้ทราบดังนี้ หากท่านมองไปที่น่องของผู้ที่ใส่กางเกงขาสั้นหรือกระโปรง ท่านจะมองเห็น่อง หรือบางคนเรียกว่า ท้องน่อง อาจจะเป็นเพราะตัวกล้ามเนื้อน่อง อาจจะมีการนูน ๆ ออกมา เหมือนเวลาคนตั้งครรภ์หรือตั้งท้องจะมีหน้าท้องยื่นออกมานั่นเอง น่องจะเป็นส่วนของกล้ามเนื้อที่สำคัญ 2 มัด ชื่อ แก๊สตร็อคนีเมียส (Gastrocnemius) และโซเลียส (Soleus)  ไม่มีชื่อในภาษาไทยเสียด้วย (กรุณาดูรูปประกอบ)  และจะมีกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ อีก 1 มัด ชื่อ แพลนต้าลิส (Plantaris) อยู่ด้วย รวมเป็น 3 มัด
          ถ้าหากมองไล่ลงไปที่ส้นเท้า ท่านจะสังเกตเห็นส่วนที่อยู่เหนือขอบรองเท้าด้านหลังขึ้นมาจะเป็นลำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. นั่นก็คือ เอ็นร้อยหวาย นั่นเอง ถ้าหากดูจากรูปจะเห็นได้ว่า กล้ามเนื้อ ตรงน่องนั้นเมื่อลงไปตรงส้นเท้าจะค่อย ๆ กลายเป็นเอ็น มีลักษณะเหมือนเส้นเชือกขนาดใหญ่เป็นลำ ในคนจริงจะเป็นสีขาวเงามัน เอ็นร้อยหวายนี้จะลงไปเกาะที่กระดูกส้นเท้า
          เอ็นร้อยหวายทำหน้าที่อะไร? ทำไมถึงบาดเจ็บได้ง่าย
          กล้ามเนื้อน่องนี้ ส่วนบนเฉพาะแก๊สตร็อคนีเมียส จะขึ้นไปเกาะที่กระดูกส่วนที่อยู่ เหนือข้อเข่า ทางด้านหลัง ซึ่งจะเป็นกล้ามเนื้อที่มีการเกาะที่กระดูกโดยข้ามหรือผ่านถึง 2 ข้อด้วยกัน คือ ข้อเข่าและข้อเท้า หน้าที่ของกล้ามเนื้อนี้เวลาหดตัวจะดึงส้นเท้าขึ้น ผลโดยรวมคือทำให้กระดูกข้อเท้ากระดกลง หรือถ้าท่านนึกว่าเวลาเราเขย่งปลายเท้าและยืนอยู่นิ่ง ๆ กล้ามเนื้อน่องจะทำงานเพื่อดึงให้ส้นเท้ากระดกขึ้น และเรายืนอยู่บนปลายนิ้วเท้าได้ ดังนั้นในการเล่นกีฬาเกือบทุกชนิดที่มีการเคลื่อนไหวข้อเท้าอยู่ตลอดเวลา เอ็นร้อยหวายจะรับบทหนักในการทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหว
          ส่วนที่เชื่อกันว่า เอ็นร้อยหวายบาดเจ็บได้ง่าย ก็เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่มีที่เกาะข้ามหรือผ่าน 2 ข้อต่อ (ทั้งข้อเข่าและข้อเท้า) ดังนั้นจึงรับแรงเสียดทานค่อนข้างมาก การดึงรั้งที่กระดูกส้นเท้ามาก ๆ ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นบริเวณที่ไปเกาะกระดูกส้นเท้า หรือบางรายอาจเกิดขึ้นในบริเวณเนื้อเอ็นร้อยหวายเองก็เป็นได้ นอกจากนี้ ในผู้ที่สูงวัย เอ็นร้อยหวายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้นหรือบางรายมีการอักเสบของเอ็นร้อยหวายมานาน อาจได้รับการรักษาโดยใช้การฉีดยาสเตียรอยด์มาก่อน จะมีผลทำให้เอ็นร้อยหวายเปื่อยง่าย เวลาไปออกแรงมาก ๆ บางรายถึงขนาดทำให้เอ็นร้อยหวายขาดไปเลยก็มี
          การป้องกันไม่ให้เอ็นร้อยหวายอักเสบหรือบาดเจ็บ
          ก็คงเหมือนกับการป้องกันการบาดเจ็บทางการกีฬาที่เกิดกับเอ็นและกล้ามเนื้อทั่ว ๆ ไป นั่นก็คือ การที่ต้องมีลำดับขั้นตอน ก่อนและหลังเล่นกีฬาดังนี้ วอร์มอัพ / การยืดเอ็นและกล้ามเนื้อ / เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย / วอร์มดาวน์  หรือ คูลดาวน์ / การยืดเอ็นหรือกล้ามเนื้อ (อีกครั้งหนึ่ง) ซึ่งถ้าหากท่านทำทุกครั้งตามขั้นตอนดังกล่าว เชื่อว่าการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเอ็นของท่านจะเกิดได้ยาก รวมทั้งเอ็นร้อยหวายอักเสบด้วย
          การรักษาตามข่าวในเว็บไซต์ได้บอกว่า ภายหลังออกจากการแข่งขัน ไทเกอร์ วูดส์ ได้ใช้น้ำแข็งประคบและหลังจากนั้นไม่ทราบว่าได้รับการรักษาอย่างไร?
          เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ เรื่องการดูแลการบาดเจ็บทางการกีฬา ผมขอทบทวน การดูแลเบื้องต้น ที่ใช้หลัก  R.I.C.E. ดังนี้R = Rest หมายถึง เมื่อมีการบาดเจ็บให้หยุดเล่น ซึ่งไทเกอร์ วูดส์ ก็ออกจากการแข่งขัน
          I = ICE หมายถึง ใช้ความเย็นประคบจุดที่บาดเจ็บ ซึ่งไทเกอร์ วูดส์ ก็ใช้เช่นกัน
          C = Compression หมายถึง ใช้ผ้าพันหรือรัดบริเวณบาดเจ็บ ซึ่งข้อนี้ไม่ทราบว่า ไทเกอร์ วูดส์ ทำหรือเปล่า แต่ถ้าหากท่านมีอาการแบบนี้ การทำอาจช่วยได้
          E = Elevation หมายถึง การยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวมของส่วนปลายเท้า ปกติเมื่อมีการอักเสบมักจะทำให้เกิดการไหลเวียนเลือดในบริเวณนั้นลดลง และหากมีการพันผ้ารัดไว้ด้วย อาจทำให้เกิดการบวมได้ การยกส่วนนั้นสูงขึ้น จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจ จะทำให้ลดการบวมลงได้
          นอกจากนี้อาจมีการรักษาโดยการให้ยาลดการอักเสบหรือยาลดบวม ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลหรือสั่งยาโดยแพทย์ และหลังการบาดเจ็บ 48-72 ชั่วโมง แพทย์อาจแนะนำให้มีการแช่เท้าในน้ำอุ่นหรือการใช้ความร้อนด้วยการนวดโดยใช้ยานวด หรือการใช้เครื่องมือ เช่น อัลตราซาวด์ ทำให้เกิดการไหลเวียนเลือดมาเลี้ยงบริเวณบาดเจ็บนี้ให้มากขึ้น ก็อาจทำให้หายได้ไวขึ้นด้วย
          ผมหวังว่า บทความในคอลัมน์ "คุยกันวันเสาร์กับหมอไพศาล" วันนี้ คงจะเกิดประโยชน์จากเหตุการณ์ของไทเกอร์ วูดส์ ที่เกิดขึ้น และนำมาเรียนรู้กันเพื่อว่าทุก ๆ ท่านที่อ่านเดลินิวส์ จะได้ประโยชน์ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สวัสดีครับ.
 

 pageview  1210889    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved