Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 24/03/2555 ]
ตรวจพิสูจน์ยาเสพติด

 ผลจากการเอาจริงเอาจังในการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีการจับกุมผู้เสพ และผู้ค้าแบบรายวัน ยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก โดยของกลางยาเสพติด และปัสสาวะ จะถูกส่งไปตรวจที่สถานตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ซึ่งมีประมาณ 90 แห่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานวิทยาการตำรวจ
          ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้งานตรวจพิสูจน์ยาเสพติด จึงมาพูดคุยกับ ภญ.สุขศรี อึ้งบริบูรณ์ไพศาล ผอ.สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ คือ ภญ.ดร.วิยะดา อัครวุฒิ ภญ.ดร.วลัยลักษณ์ เมธาภัทร ดร.เจริญดี ปิงสุทธิวงศ์ และ ภญ.ณปภา สิริศุภกฤตกุล
          ภญ.สุขศรี ให้ข้อมูลว่า ในปี 2554 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวอย่างของกลางยาเสพติด และปัสสาวะส่งมาตรวจที่สำนักยา และวัตถุเสพติด รวมถึงศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 13 แห่ง กว่า 1.2 แสนตัวอย่าง แยกเป็นของกลางยาเสพติดประมาณ 23,000 ตัวอย่าง และปัสสาวะประมาณ 1 แสนตัวอย่าง
          ที่จะต้องส่งตรวจของกลางยาเสพติดและปัสสาวะ ก็เพื่อนำผลไปประกอบการพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมาย ว่าของกลางเป็นยาเสพติดจริง หรือ ในปัสสาวะมีสารเสพติดจริง โดยของกลางที่ส่งตรวจนั้น สำนักยาและวัตถุเสพติดจะสุ่มตัวอย่างเพียงบางส่วนเอาไว้ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ส่วนที่เหลือจะทำบัญชีส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
          สำหรับผลการตรวจของกลางที่ผ่าน มาพบว่า ยาเสพติดที่ส่งมาตรวจส่วนใหญ่เป็น เมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้าถึง90% ส่วนปัสสาวะตรวจพบเมทแอมเฟตามีน 90% เช่นกัน
          กระบวนการตรวจพิสูจน์ยาเสพติด เริ่มจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจนำของกลางมาส่งตรวจที่สำนักยาและวัตถุเสพติด ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักยาและวัตถุเสพติดจะตรวจสอบทางกายภาพ เช่น สี กลิ่น ตราประทับ ลักษณะของกลาง เช่น เป็นผง เม็ด หรือน้ำ การบรรจุใส่หีบห่อ หรือ ใส่ซอง ใส่ภาชนะอะไร โดยจะทำการชั่งน้ำหนักต่อหน้าตำรวจ ถ้ามีการระบุจำนวนเม็ดก็จะมีการนับซ้ำอีกรอบว่าตรงกันหรือไม่ และถ่ายรูปไว้
          จากนั้นจะมีการตรวจเบื้องต้นด้วยน้ำ ยาเคมี เรียกว่า "คัลเลอร์ เทสต์" เป็นการทำปฏิกิริยาให้เกิดสี ดูว่าเป็นยาเสพติดชนิด ใด เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป
          ในการตรวจเบื้องต้นวิธีนี้จะทราบผลทันที น้ำยาที่ใช้ คือ "น้ำยามาควิส" วิธีการ เริ่มจากนำยาเสพติดของกลางใส่ถาดหลุมแล้วหยดน้ำยามาควิสลงไป ถ้าเป็นยาบ้า น้ำยาจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ถ้าเป็นยาอี น้ำยาจะเปลี่ยนเป็นสีเทาออกดำ หรือถ้าเป็นเฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น น้ำยาจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง
          เมื่อทราบผลเบื้องต้นแล้ว กระบวนการต่อมา คือ การตรวจยืนยันผล เป็นเทคนิคทาง "โครมาโตกราฟฟี" แยกสารออกจากกัน นอกจากนี้จะมีการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูรูปร่างลักษณะเฉพาะของผลึกสารเสพติด รวมถึงการตรวจวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบค่าการดูดกลืนรังสีของสารสำคัญในตัวอย่างเทียบกับสารมาตรฐาน
          ขณะเดียวกันจะมีการตรวจความบริสุทธิ์ของตัวยาเสพติดด้วย เพื่อนำไปใช้ประกอบการลงโทษ เนื่องจากความบริสุทธิ์มากกับบริสุทธิ์น้อยโทษจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของกลางด้วยว่ามีกี่เม็ด มากน้อยเพียงใด
          ยาบ้าซึ่งมีการนำส่งตรวจมากที่สุดนั้น พบว่า ส่วนประกอบ 1 เม็ด ที่แยกได้ มีเมทแอมเฟตามีน คาเฟอีน และ แป้ง การใส่แป้งลงไปก็เพื่อให้เกาะเป็นเม็ดและแตกตัวได้ โดยยาบ้า 1 เม็ดจะมีเมทแอมเฟตามีนประมาณ 15-20% คาเฟอีน 70-80% อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมายังมีการตรวจพบ ยาบ้าปลอม เป็นระยะ ๆ คือ ไม่มีสารเสพติดอยู่เลย หรืออาจจะมีสารเสพติดอยู่แต่น้อยมาก ทำให้ตรวจไม่เจอ
          ส่วนการตรวจหายาบ้าในปัสสาวะ มี 2 ระดับ คือ การตรวจเบื้องต้น เพื่อหาความเป็นไปได้ว่าจะมีการใช้ยาบ้าหรือไม่ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการ และการตรวจยืนยันผล เป็นการตรวจหาชนิดของสารออกฤทธิ์ ซึ่งตัวอย่างที่ส่งมาจะต้องอยู่ในสภาพที่เย็น วิธีที่นิยมตรวจ คือ โครมาโตกราฟฟี เป็นการแยกสารผสมออกจากกัน ทั้งนี้ในการตรวจยืนยันผล บางครั้งจำเป็นต้องใช้วิธีการตรวจพิสูจน์ร่วมกันหลาย ๆ วิธี เพื่อให้ได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
          คงต้องบอกว่า งานปิดทองหลังพระตรงนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้คนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้จักก็ตาม!?!?.
 

 pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved