Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 27/03/2555 ]
ปุจฉา..เห็ด-โสม-หญ้า "สมุนไพร" "สู้โรคร้าย"ได้ลุ้น??

แม้วิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ในปัจจุบันจะเจริญรุดหน้ามาก ทั้งด้านเครื่องมืออุปกรณ์ แพทย์ และยา แต่กระนั้นในปัจจุบันก็ยังมีโรคต่าง ๆ อีกหลาย ๆ โรคที่การแพทย์สมัยใหม่ไม่สามารถจะเอาชนะได้ง่าย ๆ และบางโรคก็ไม่สามารถจะเอาชนะได้ ทำได้เพียงเยียวยาบรรเทาไปตามอาการ ด้วยเหตุนี้จึงมีการพยายามมองหาตัวช่วยให้กว้างขึ้นและลึกขึ้นกว่าเดิม และรวมถึงมีการมองย้อนไปถึงตัวช่วยที่เคยเป็นที่นิยมในยุคอดีต
          'สมุนไพร" ตัวช่วยในอดีตจึงได้รับความสนใจ
          ทั้งกับการใช้ 'สู้โรค" ที่ไม่รุนแรงและโรคร้ายๆ
          ทั้งนี้ กล่าวสำหรับสมุนไพรที่หวนกลับมาได้รับความสนใจจากผู้คนในยุคปัจจุบัน ก็มีมากมายหลากหลาย ซึ่งสำหรับในประเทศไทยนั้นว่ากันเฉพาะที่เป็นสมุนไพรไทยเดิม ๆ ก็แทบจะไม่สามารถแจกแจงชื่อกันได้ครบถ้วน อีกทั้งยังมีสมุนไพรที่ได้รับความสนใจในประเทศอื่น ๆ เข้ามาเสริมด้วย ซึ่งสำหรับสมุนไพรในกลุ่มที่ฟังชื่อแล้วไม่น่าใช่สมุนไพรไทยเดิม ๆ แต่ได้รับความสนใจในไทยมาก ก็เช่น.หญ้าปักกิ่ง, เห็ดหลินจือ, โสม-โสมเกาหลี
          หญ้าปักกิ่ง, เห็ดหลินจือ, โสม เป็นพืชสมุนไพรที่มีการทำเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรบำรุงร่างกายกันแพร่หลาย บ้างก็ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้ บ้างก็ใช้ 2 อย่าง และบ้างก็ใช้ทั้ง 3 อย่างนี้เป็นส่วนผสม
          กับ 'หญ้าปักกิ่ง" นั้น จากข้อมูลในเว็บไซต์ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ระบุว่า เป็นไม้ล้มลุก สูง 10 ซม. ลำต้นกลม สีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ออกเรียงสลับ ใบที่โคนต้นรูปขอบขนาน กว้าง 1.5 ซม. ยาว 10 ซม. ใบที่ปลายยอดมีขนาดเล็กกว่าและสั้นกว่า ปลายใบแหลม ขอบใบและแผ่นใบเรียบ ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีฟ้าหรือม่วงอ่อน กลีบดอกบาง มี 4 กลีบ โคนกลีบเรียว ผลเป็นผลแห้งแตกออกได้ โดยหญ้าปักกิ่งนี้มีสรรพคุณเช่น.ใช้แก้ไข้ รักษาโกโนเรีย ใช้เป็นยาพอก แก้อักเสบ แก้ปวดบวม
          แต่ที่สนใจกันมากเป็นพิเศษจะยึดโยงกับ 'มะเร็ง"
          อย่างในวันที่ 27 มี.ค. นี้ เวลา 08.00-16.00 น. ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และชมรมหญ้าปักกิ่งต้านมะเร็ง จัดเสวนาเรื่อง "หญ้าปักกิ่ง : สมุนไพรทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง บันทึกความเมตตาของคุณลุงณรงค์ สุทธิกุลพาณิช" ที่ห้องประชุม 302 อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจะมีทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับหญ้าปักกิ่ง การบรรยาย การเสวนา โดยบุคคลจากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งนักวิชาการ ผู้ที่ทำเรื่องยาสมุนไพร ผู้ปลูกสมุนไพร และผู้ที่เคยมีประสบการณ์ในการใช้หญ้าปักกิ่งในรูปแบบสมุนไพร ทั้งที่มีประสบการณ์ตรง และได้รับรู้การใช้ของคนใกล้ชิด รวมทั้งจะมีการแจกพันธุ์หญ้าปักกิ่งฟรีจำนวน 200 ต้น ซึ่งก็เชื่อว่างานเสวนางานนี้คงจะได้รับความสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
          สำหรับ 'โสม" นี่ก็เด่นดังมานาน ซึ่งข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุไว้ว่า.โสมเป็นพืชที่มีสารที่มีคุณสมบัติลดความเครียด ช่วยปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้ทนต่อภาวะต่าง ๆ ได้มากขึ้น กระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายสร้างพลังงานเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานเกี่ยวกับการวิจัยคุณสมบัติอีกหลายกรณี ทั้งที่เกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศชาย หญิงวัยหมดประจำเดือน ระดับน้ำตาลในเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง อาการข้างเคียงจากการฉายรังสี
          ขณะที่ 'เห็ดหลินจือ" ก็ดังไม่แพ้กัน ทั้งกับตำนานการใช้ในจีนมานานกว่า 2,000 ปี สรรพคุณในการบำรุงร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจ ความจำ ประสาทสัมผัส การไหลเวียนของเลือด ผิวพรรณ และส่วนที่เกี่ยวโยงกับโรคภัยไข้เจ็บ ก็เช่น ความดันโลหิตสูง-ต่ำ อัมพาต อัมพฤกษ์ ตับแข็ง ตับอักเสบ เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองอุดตัน เกาต์ แผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ริดสีดวง อาหารเป็นพิษ โรคเอสแอลอี โรคตับ ภูมิแพ้ ภาวะมีบุตรยาก เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และก็ได้รับความสนใจมากกับกรณีมะเร็ง เช่นเดียวกับโสมและหญ้าปักกิ่ง
          ทั้งนี้ กับเรื่องของ "สมุนไพร" ในการ 'สู้โรค" นั้น นายยูซุปคาร เพียรรักษ์ ประธานบริษัท เอส เค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งผลิตยาสมุนไพรบำรุงร่างกาย ตะวันเดือน โดยมีหญ้าปักกิ่ง, โสม, เห็ดหลินจือ ที่ผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ รวมถึงไวรัสตับอักเสบบี และโรคร้ายอย่างมะเร็ง ให้ความสนใจ เป็นส่วนผสม สะท้อนเรื่องนี้ว่า.สมุนไพรกับการใช้บรรเทาเยียวยาโรคต่าง ๆ นั้น ทางผู้ผลิตต้องมีศีลธรรม ต้องมีการให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัย ต้องมีการชี้แนะอย่างถูกต้อง และต้องไม่ใช่แค่การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อประโยชน์ทางการค้า เพราะคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ซึ่งในการใช้นั้นก็ควรจะต้องควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบันด้วย
          ผู้ผลิตสมุนไพรรายนี้ยังระบุอีกว่า.สมุนไพรถือเป็น 'แพทย์ทางเลือก" ที่ 'ค่าใช้จ่ายไม่สูง" ซึ่งควรต้องมีการร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชนมากขึ้น
          ก็น่าคิด.กับการใช้ 'สมุนไพรสู้โรค" ที่มักมีข้อกังขา
          ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน..ใช้เป็นล่ำเป็นสัน
          ถ้าไทยเคลียร์เรื่องนี้ให้ชัด ๆ จริง ๆ ได้.ก็น่าจะดี!!.

 pageview  1210900    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved