Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 19/11/2562 ]
รพ.อาหารปลอดภัย...ครบวงจร

เขตปลอด "มหันตภัยเงียบ" คุกคามชีวิตจากสารเคมีปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร
          406 ชีวิต...ที่ต้องสังเวยพิษจากสารเคมีอันตรายแค่ช่วงเวลา 10 เดือน
          ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่เดือน ต.ค.2561 ก.ค.2562 พบผู้เสียชีวิตจากสารเคมีทุกประเภทถึง 406 ราย รวมถึงสารเคมีอันตราย 3 ชนิด ทั้ง พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนทั้ง 3 สารในวันที่ 1 ธ.ค.2562 ทั้งยังพบด้วยว่ามีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลเพราะได้รับผลกระทบจากสารเคมีมากกว่า 15,000 ราย
          และยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความอันตรายของสารเคมีมากขึ้นไปอีก เมื่อ ผลการศึกษาวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ระบุตรงกันว่ามีสารเคมีปะปนอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ทำให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคมะเร็ง โรคทางสมองที่รักษาไม่หายขาดและภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น
          จากปัญหาสารพิษปนเปื้อนในระบบห่วงโซ่อาหารนี่เอง กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเห็นถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ที่ต้องเริ่มตั้งแต่การบริโภคอาหารที่ปลอดภัยจึงได้จัดทำโครงการ "โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย" ขึ้น เพื่อเป็นจุดเริ่มในการให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย เพราะในแต่ละปีมีผู้มารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 368 ล้านครั้งต่อปี นั่นเท่ากับว่าผู้มารับบริการส่วนใหญ่จะต้องบริโภคอาหารในโรงพยาบาล
          ดังนั้น จุดมุ่งเน้นในการดำเนินงานตามโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย คือ อาหารที่ผลิตจากโรงครัว ร้านอาหารในโรงพยาบาลต้องสะอาดปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ทั้งยังต้องคัดเลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัยมาปรุงอาหาร ขณะเดียวกันได้มีการปรับแก้กฎระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถจัดซื้อพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษในราคาที่สูงกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้ทำเกษตรอินทรีย์ด้วย
          ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยให้โรงพยาบาลทั่วประเทศที่มีความพร้อม สั่งซื้อผักปลอดสารพิษจากกลุ่มประชารัฐ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ในราคาที่สูงกว่าปกติ โดยจะเป็นการจัดซื้อในโครงการพิเศษ ซึ่งงบประมาณทั้งหมดที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องโครงการอาหารปลอดภัยทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท
          "โรงพยาบาลอาหารปลอดภัยช่วยให้ผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ได้บริโภคอาหารที่สะอาด มีมาตรฐานปราศจากสารปนเปื้อนเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ให้ประชาชนรับประทานอาหารปลอดสารเคมีจะช่วยให้ประชาชนไม่เจ็บป่วยจากโรคที่มีผลจากสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยในชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกผักและผลไม้ปลอดสาร ส่งขายให้กับโรงพยาบาลในรูปวิสาหกิจชุมชนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทำให้มีรายได้หมุนเวียนในชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองให้อยู่ได้ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อย่างยั่งยืนโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 878 แห่ง และจะขยายให้ครบ 960 แห่งทุกโรงพยาบาลในปี 2562" ดร.สาธิต ขยายภาพโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยที่จะครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2562 นี้
          ขณะที่ นายวรัตนถ์ แก้วบุญชู รอง ผอ.ฝ่ายบริหารโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี เล่าถึงโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ว่าโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาเข้าร่วมโครงการมาประมาณ 2 ปี เป็นโรงพยาบาลแรกในจังหวัดที่ทำโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการปลูกเองในโรงพยาบาลสั่งซื้อผักจากกลุ่มประชารัฐซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน มีการเปิดตลาดนัดสีเขียวในโรงพยาบาล และมีกระบวนการปรุงอาหารปลอดภัยให้ผู้ป่วยได้รับประทานช่วยสร้างความตระหนักในการรับประทานผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษ โดยมีผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยเริ่มหันมารับประทานผักปลอดสารพิษ และเริ่มอุดหนุนสินค้าปลอดสารพิษโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่เห็นถึงความสำคัญ และร่วมมือกันทำแปลงผักปลอดสารพิษเพื่อให้คนในครอบครัวได้รับประทาน ส่วนที่เหลือจากการรับประทานก็จะนำมาขายให้กับโรงพยาบาลและญาติของผู้ป่วย
          "โรงพยาบาลยอมจ่ายราคาสูงกว่าผักผลไม้ทั่วไปประมาณ 30% เพราะเห็นว่า สาเหตุหนึ่งของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนมาจากการรับประทานอาหารและผักที่มีสารเคมีปนเปื้อน ดังนั้นการดูแลสุขภาพต้องเริ่มจากอาหารที่ปลอดภัย และใช้โรงพยาบาลเป็นตัวสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเริ่มต้นรับประทานอาหารที่ปลอดภัยโดยที่ จ.กาญจนบุรี พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มากที่สุดและมองว่าผักและอาหารที่มีสารพิษเจือปน คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มากขึ้น" นายวรัตนถ์ เล่าถึงแนวทางการดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัยของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา
          ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยกับการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งเริ่มจากการรับประทานอาหารที่ปลอดจากสารเคมีอันตราย เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา โดยเฉพาะการเริ่มต้นที่ โรงพยาบาลเป็นเขตปลอดสารเคมีปนเปื้อนจากห่วงโซ่อาหาร
          แต่สิ่งที่อยากฝากคือ การควบคุมมาตรฐาน "โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย" ต้องทำอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการตรวจสอบไม่ให้มีการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในอาหารอย่างเด็ดขาด
          เพื่อให้ "โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย" เป็นต้นแบบปลุกคนไทยให้ตระหนักถึงมหันตภัยเงียบที่คุกคามชีวิต
          และที่สำคัญคือ การเป็น "สถานที่ซ่อมและสร้างสุขภาพ" ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง.

 pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved