Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 17/04/2563 ]
บำราศฯสู้ศึกโควิด-19 62ปีพาไทยพ้นวิกฤติ

ในยามเกิดโรคระบาดโควิด-19 นี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นและเสียชีวิตรายวัน ทำให้เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ที่รักษาผู้ป่วยต่างยังระดมกำลังความสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอันตราย จนหายป่วยกลับบ้านได้แล้วเกือบพันราย
          จำนวนนี้ "สถาบันบำราศนราดูร" นับเป็นโรงพยาบาลแรกๆที่ต้องรับศึกโควิด-19 ในฐานะเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง มีผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อให้การดูแลรักษาโดยเฉพาะ
          ที่สำคัญ...มีมาตรฐานในการดูแลผู้ติดเชื้อเทียบเท่าสากลมานานกว่า 62 ปี
          หากย้อนตั้งแต่ปี 2501-2502 ได้เกิด "โรคระบาด" ในพระนครทั้งไข้เลือดออก อหิวาตกโรค โปลิโอคร่าชีวิตผู้เจ็บป่วยมากมาย ในระหว่างนั้น "พระบำราศนราดูร" หรือ นพ.บำราศ หลง เวชชาชีวะ รมว.สาธารณสุขใช้โรงพยาบาลโรคติดต่อพญาไท ถนนดินแดง อ.ดุสิต จ.พระนคร ในการทำงานควบคุมโรคจนสงบลง
          ก่อนย้ายมาตั้งที่ ต.ตลาดขวัญ จ.นนทบุรี เปลี่ยนชื่อใหม่ "โรงพยาบาลบำราศนราดูร" เพื่อเป็นเกียรติแก่ "พระบำราศนราดูร" ที่ประกอบคุณงามความดี สังกัดกรมควบคุมโรค มีหน้าที่หลัก...ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุม ตรวจ วินิจฉัย รักษาฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย
          โดยเฉพาะการดูแลภาพรวมการป้องกันโรคติดต่อ จนถูกใช้เป็นสถานที่หลักในการดูแลและป้องกัน รักษาผู้ป่วย โรคติดต่อ..."ไวรัสโควิด-19" ที่กำลังระบาดในขณะนี้การเป็นสถาบันป้องกันโรคติดเชื้อโดยเฉพาะนี้
          การเป็นสถาบันป้องกันโรคติดเชื้อโดยเฉพาะนี้ "ทีมสกู๊ปหน้า 1" มีโอกาสสังเกตการณ์มาตรการต่างๆในช่วงโรคระบาดนี้ ตั้งแต่ผู้ป่วยมีไข้ไอ และจาม เข้ามารักษาอาการ ทีมแพทย์ พยาบาล ต้องสวมชุดป้องกันเชื้อและนำตัวไปสอบสวนโรค ผ่านเส้นทางเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไปสู่อาคารผู้ป่วยทั่วไป
          ขั้นตอนต่อไปเป็นการสอบสวนโรค และเก็บสารคัดหลั่งหากผลตรวจยืนยัน "ติดเชื้อไวรัสโควิด-19" ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปเฝ้าดูอาการ "หอผู้ป่วยแยกโรค" ที่ภายในห้องความดันลบหรือห้องคลีนรูม ซึ่งเป็นห้องที่มีความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอกส่งผลให้อากาศในห้องหรือเชื้อไวรัสไม่ไหลออกไปนอกห้องได้
          กลไกให้อากาศภายนอกเข้าภายในห้องผู้ป่วย และถ่ายเทอากาศผ่านระบบชั้นกรองอากาศพิเศษ เพื่อให้ปราศจากเชื้อโรค ส่วน "ขยะของเสีย" ต้องทำลายเชื้อโรคด้วยกระบวนตามมาตรฐานที่เป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ไม่ให้เล็ดลอดออกไปได้ ในการตรวจดูอาการใช้วิธีวิดีโอคอล กล้องวงจรปิด 24 ชม.
          เรื่องนี้ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร บอกว่า แม้ว่าสถาบันบำราศนราดูรจะเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อแต่ก็ทำหน้าที่เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป ให้บริการแผนกผู้ป่วยนอก และแผนกผู้ป่วยใน ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาซับซ้อนเกินศักยภาพ ก็จะส่งต่อยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่าที่มีศักยภาพ
          ในส่วนของผู้ป่วยโรคติดต่อโควิด-19 จะถูกแบ่งแยกออกจากอาคารของผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งใช้มาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดในการรองรับบุคคลต้องสงสัย หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อเข้ามาใช้บริการนี้
          เริ่มบริเวณทางเข้าโรงพยาบาลมีจุดคัดกรองคนไข้ Terminal Screening ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย มีอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส เพื่อคัดกรองคนมีอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 แล้ว
          แยกออกจากคนไข้ทั่วไป ที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล...
          ก่อนนำ "ตัวคนอุณหภูมิสูง" ซึ่งในการซักประวัติแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรก...คนมีอาการไข้หวัดทั่วไป ไม่มีประวัติเสี่ยงโรคโควิด-19 ก็ถูกส่งตรวจรักษาคลินิกทั่วไป รูปแบบ One-Stop Service ให้บริการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องรวมอยู่ที่เดียวกัน ทั้งการตรวจ เก็บตัวอย่าง และจ่ายยาเพื่อความรวดเร็ว ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกลุ่มงานโรคติดต่อ
          กลุ่มที่สอง...คนมีอาการเป็นไข้หวัดที่มีประวัติเสี่ยงสูง เช่น ในครอบครัวมีคนติดเชื้อโควิด-19 หรือเดินทางกลับจากประเทศที่ระบาดซึ่งแพทย์จะเก็บตัวอย่าง ด้วยการป้ายเยื่อบุในคอ หลังโพรงจมูก หรือนำเสมหะที่อยู่ในปอดออกมาตรวจหาเชื้อไวรัสในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐาน ใช้เวลา 1 วัน
          ช่วงนี้ต้องแยก "ผู้ป่วย" ในห้องผู้ป่วยแยกโรคธรรมดา ในการสังเกตอาการก่อน จนกว่าจะทราบผลการตรวจนั้น ถ้าผลตรวจเลือดเป็น "บวก" ก็ต้องมารักษาตัวใน "หอผู้ป่วยแยกโรค" มีอยู่ประมาณ 6 ฟลอร์ (ชั้น) เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 แต่ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นตอนนี้มีเตียงผู้ป่วยหนัก 15 เตียง และมีผู้ป่วยอื่นอีก 80 เตียง
          ทำให้มีแผนเปิดฟลอร์ที่ 7 ในการเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยไม่หนัก เพื่อขยายรับรองผู้ป่วยเพิ่มด้วยแต่ถ้าถึงจุดหนึ่ง...เตียงผู้ป่วยไม่พอจริง อาจมีโรงพยาบาลสนาม หรือพื้นที่ที่ออกแบบเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว เช่น โรงพยาบาล ก.จังหวัดนี้มีไว้รับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะส่วนผู้ป่วยทั่วไปอาจย้ายไปโรงพยาบาลอื่น
          กรณี "ผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนัก" ต้องนำตัวมาอยู่ในห้องเดี่ยว "ความดันลบ" ที่มีอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ เครื่องติดตามสัญญาณชีพเครื่องมอนิเตอร์ต่างๆ ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อไม่รุนแรง...ส่งไปยังห้องแยกเดี่ยวธรรมดา กรณีห้องเดี่ยวเต็ม ก็ให้มานอนพัก "ห้องวอร์ดสามัญ" หรือ "ห้องผู้ป่วยรวม" มีเตียงราว 10 เตียง
          ในห้องผู้ป่วย...มีเครื่องอำนวยความสะดวกเช่น โทรทัศน์ติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ WiFi เพื่อผ่อนคลายเพราะผู้ป่วยจะไม่สามารถออกจากห้องนั้นได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดเครียด จะมีนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยพูดคุยอยู่ตลอดทุกวัน หากเครียดรุนแรงอาจต้องให้ยาคลายเครียดแบบอ่อนๆ
          ประเด็นการดูแลผู้ป่วย..."งดญาติเยี่ยมผู้ป่วย" ลดโอกาสการปนเปื้อนเชื้อไวรัสเพราะบางครั้งผู้ที่มาเยี่ยมอาจนำเชื้อไวรัสเข้ามาปล่อยให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล หากมี "ความจำเป็นต้องเยี่ยมจริง" ก็ต้องมีการพิจารณา "อนุญาตเป็นรายบุคคล" ที่ต้องมีการจดบันทึกการเข้าออก เพื่อสะดวกต่อการติดตามตัวได้ง่าย
          ส่วน "บุคลากรทางการแพทย์" ที่จะเข้าไปเยี่ยมดู ตรวจอาการคนไข้ต้องมีการ สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่ได้มาตรฐาน เช่น ล้างมือสวมกาวน์กันน้ำ ใส่ N95 mask สวมหมวกคลุมผม สวมหน้ากากกันกระเด็นสวมถุงมือ 2 ชั้น เป็นต้น หรือการเก็บตัวอย่างตรวจ ก็มีอุปกรณ์ เฉพาะให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วย
          ทว่า..."ผู้ป่วยโควิด-19" ที่ยังเป็น "เด็ก" ก็มีอยู่ไม่มาก ซึ่งให้พักดูอาการในห้องแยกเดี่ยวธรรมดา มีพ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่คอยดูแล ที่ต้องสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันตัวตามมาตรฐานของการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อเช่นกัน ในบางครั้ง "เด็ก" มีความสงสัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง แต่ผู้ปกครองมีวิธีทำความเข้าใจได้ดี ทำให้ไม่มีปัญหาอะไร
          ข้อสังเกต..."เด็กติดโควิด-19" เข้ารักษาอยู่ สถาบันบำราศนราดูร ส่วนใหญ่มักมีเชื้อไวรัสไม่แรงเท่ากับผู้ใหญ่ติดเชื้อ...ทำให้มีอาการไม่หนักมากมีผลให้โอกาสแพร่กระจายเชื้อค่อนข้างต่ำ และผู้ดูแลอยู่ด้วยกันกับเด็กตลอดระหว่างป่วยนั้น ไม่มีใครติดเชื้อเลย จนหายดีกลับบ้านแล้ว ก็ยังคงติดตามอาการอยู่เป็นระยะสม่ำเสมอ...
          สถาบันแห่งนี้...มีห้องแยกโรคด้วยอุณหภูมิความดันลบ 7.5 ปาสคาล คือดูดอากาศทิ้งมากกว่าดูดอากาศเข้าไปในห้องทำให้เกิดความดันเป็นลบมีการซีลห้องไม่ให้อากาศเล็ดลอดผ่านเข้าออกได้ยกเว้นผ่านท่อระบายอากาศที่ผ่านแผ่นกรองพิเศษ 3 ชั้น เพื่อลดปล่อยเชื้อสู่ภายนอก มีมาตรฐานดีสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
          อีกทั้งยังสามารถผ่าตัดผู้ป่วยในห้องนี้ได้ด้วย เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไป เพราะเสี่ยงแพร่เชื้อออกภายนอก โดยมีเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาล หมุนเวียนคอยดูแลเวรละ 8 ชั่วโมง เมื่อมีคนไข้เยอะขึ้นก็มีการดึงบุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่งานส่วนอื่นมาช่วยกัน เพราะมีผู้ป่วยคนไข้นอกมารับการตรวจเพิ่มขึ้นทุกวัน
          สำหรับ..."การทำความสะอาด" ซึ่งเป็นหน้าที่ของ "แม่บ้าน" ทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมการทำความสะอาดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงโรคติดต่อ เช่นจุดใดควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเข้มข้นสูงหรือพื้นที่ทั่วไปต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเข้มข้นต่ำรวมถึงการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวอย่างถูกต้องป้องกันการติดเชื้อขึ้นได้...
          ทั้งหมดนี้คือ มาตรฐานของ "สถาบันบำราศนราดูร" คอยดูแล "โรคติดเชื้อ" เป็นหลัก มาตั้งแต่ปี 2501 ที่ผ่านการพัฒนาจนมีมาตรฐานระบบสากลมาถึงปัจจุบันทุกวันนี้.
          "สถาบันแห่งนี้...มีห้องแยกโรคด้วยอุณหภูมิความดันลบ 7.5 ปาสคาล คือ ดูดอากาศทิ้งมากกว่าดูดอากาศเข้าไปในห้อง ทำให้เกิดความดันเป็นลบ มีการซีลห้องไม่ให้อากาศเล็ดลอดผ่านเข้าออกได้ ยกเว้นผ่านท่อระบายอากาศ ที่ผ่านแผ่นกรองพิเศษ 3 ชั้น เพื่อลดการปล่อยเชื้อสู่ภายนอกมีมาตรฐานดีสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย"

 pageview  1210935    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved