Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 24/06/2563 ]
เตือน โควิดระบาดใหม่ อันตรายกว่า

  ศิริราชห่วงไทยไร้ภูมิ แม้ไม่เจอ29วันแล้ว นายกฯเล็งยืดพ.ร.ก.
          คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเตือนโควิดระบาดรอบใหม่อันตราย เผยคนไทยไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจนกว่าจะมีวัคซีน นายกฯก็ห่วง หวั่นโควิด-19 หวนกลับมาระบาดซ้ำเช่นกัน แม้ผู้ติดเชื้อไวรัสล้างโลกในไทยไม่เจอมา 29 วันแล้ว แต่ยังต้องเข้มงวดหลายอย่างและอาจต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพราะจำเป็น เพื่อให้ประเทศปลอดภัย ครม.อัดฉีดเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ทำงานสู้โควิด แพทย์รามาฯปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้ติดเชื้อโควิด-19 เคสแรกของโลก อีสานโพลล์ชี้วิถีใหม่ต้องใส่แมสก์ออกนอกบ้าน ยอดติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มเป็น 9.2ล้านคน ส่วนไทยเจออีก 5 คน จากคนไทยที่กลับจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกันตัว 29 วันแล้วที่ไทยไร้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศและยอดผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 58 ราย
          แต่ถึงแม้จะไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อที่กลับจากต่างประเทศที่ตรวจพบในวันที่ 23 มิ.ย. รวม 5 คน ขณะที่การเว้นระยะห่างทางสังคม นายกรัฐมนตรียังขอให้ประชาชนปฏิบัติกันต่อไป เพราะโอกาสการแพร่ระบาดยังมีอยู่
          ยึดแก้ท่องเที่ยวแบบระวังที่สุด
          ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เช้าวันที่ 23 มิ.ย.ก่อนการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการพิจารณาผ่อนคลายเรื่องการท่องเที่ยวในมาตรการป้องกันโควิด-19 ว่า เรื่องการท่องเที่ยว รัฐบาลต้องแก้ปัญหา โดยเฉพาะที่ยังมีความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องระวังให้มากที่สุด ทั้งเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม โอกาสการแพร่ระบาดยังมีอยู่ยังไม่หมดไป 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น ต่างประเทศที่ในบางประเทศหายไปแล้วก็กลับมาอีก ไทยไม่สามารถทำอะไรได้ เราต้องดูแลในประเทศ ขับเคลื่อนสินค้าในประเทศ สนับสนุนให้กินใช้กันเอง แต่ที่สำคัญคือจะไม่มีเงินกินกันอีกก็ต้องดูแลกัน
          “อนุทิน” บอกวัคซีนคืบ
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการประกาศเป็นหนูทดลองวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ว่า ขณะนี้ผลทดลองกับสัตว์เป็นที่น่าพอใจ ต้องพัฒนาต่อไปเพื่อฉีดในสัตว์ที่ใหญ่ขึ้น จะไปพบกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ฯ และสถาบันวัคซีน เพื่อจัดงบประมาณไปสนับสนุนการทดลองของสถาบันการแพทย์ต่างๆในประเทศไทย เราจะเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด เมื่อถามว่าจะผลิตวัคซีนเสร็จก่อนกำหนดหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องการผลิตให้ทันไม่สำคัญเท่ากับการผลิตให้ปลอดภัย เรามีหน้าที่สนับสนุนให้มีการผลิตวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ
          ทราเวลบับเบิ้ลต้องรับกฎเรา
          เมื่อถามถึงความคืบหน้าแผนทราเวล บับเบิ้ล หรือการจับคู่ประเทศท่องเที่ยว นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับสถานทูตหลายประเทศ เริ่มร่างกรอบ กติกา เงื่อนไขที่หลายประเทศจะยอมรับ ทราเวลบับเบิ้ล ไม่ใช่การเปิดกว้าง จะเลือกประเทศที่ควบคุมโควิด-19 ได้ดี ที่เรารับได้ มีผู้ติดเชื้อน้อยหรือไม่มีเลย หรือประเทศที่มีธุรกิจเร่งด่วน ที่ต้องเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย โดยจำแนกประเทศเป็นกลุ่มๆ วิธีการต้องต่างตอบแทนกัน เช่น เราใช้กฎนี้กับเขา เขาก็ต้องยอมรับกฎนี้กับเราในตอนที่เราเดินทางไปประเทศเขาด้วย ส่วนที่มีประเทศระบาดรอบสอง ต้องดูมาตรการของแต่ละประเทศ ต้องดูรายละเอียดการระบาด หากเป็นการระบาดภายในประเทศ คงคุยกันลำบาก แต่หากเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ พบในสถานกักกันไม่เป็นไร เราเน้นปลอดภัยประชาชน ข้อตกลงเอ็มโอยูต้องเขียนชัดเจน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์สามารถแก้ไขกติกาได้
          เตรียมส่งเรื่องเข้า ศบค.พิจารณา
          นายอนุทินกล่าวอีกว่าเรื่องนี้ ต้องผ่านที่ประชุม ศบค.ก่อน กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่รวบรวมเงื่อนไขต่างๆส่งต่อที่ประชุม ศบค. คาดว่าจะเข้าที่ประชุม ศบค.วันที่ 26 มิ.ย. เราเลือกคนที่จะเดินทางเข้ามาแบบจำเพาะเจาะจงกลุ่ม ยังไม่ใช่นักท่องเที่ยวแน่นอน เมื่อถามว่าไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกัน 29 วันแล้ว มีแนวโน้มยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องหารือในที่ประชุม ศบค. ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงสาธารณสุข จะไปชี้นำไม่ดี
          ครม.ยังไม่ถกต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 มิ.ย.ว่า ยังไม่มีการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 23 มิ.ย.เพราะถ้าไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้า ครม. ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดเวลาถ้าไม่ต่อก็หมดอายุไปโดยปริยาย
          พบติดเชื้อในที่กักกัน 5 ราย
          อีกด้านหนึ่ง ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย ในกักกันตัวของรัฐ ผู้ป่วยรายใหม่ 2 รายแรกมาจากอียิปต์ เป็นนักศึกษาชาย อายุ 31 ปี มาจากเมืองไคโร รายที่ 2 เป็นเพศหญิงอาชีพแม่บ้านอายุ 22 ปี เดินทางมาถึงไทยวันที่ 9 มิ.ย.เข้ากักกันที่ จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อครั้งแรกวันที่ 13 มิ.ย.ไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 20 มิ.ย.พบเชื้อ ทุกรายไม่มีอาการ อีก 3 รายมาจากกรุงโดฮา กาตาร์ ถึงไทยวันที่ 16 มิ.ย.เข้ากักกันตัวที่ จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 21 มิ.ย. พบเชื้อ ทุกรายไม่แสดงอาการ รายที่ 3 เป็นเพศหญิงอายุ 31 ปี รายที่ 4 เป็นเพศชาย อายุ 22 ปี อาชีพพนักงานนวดสปา รายที่ 5 เป็นคนขับรถเครนเพศชายอายุ 52 ปี
          รักษาตัวในโรงพยาบาล 75 ราย
          พญ.พรรณประภา กล่าวต่อว่า รวมผู้ป่วยสะสมขณะนี้มีทั้งสิ้น 3,156 ราย เป็นผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 ราย และเป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 219 ราย ทั้งนี้ในวันนี้ยังมีผู้ป่วยรักษาหาย 1 รายรวมรักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 3,023 ราย และยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 75 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตไม่มีเพิ่มคงอยู่ที่ 58 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือช่วงอายุ 20-29 ปี
          เด็กป่วยเพิ่มหลังเปิดเมือง
          พญ.พรรณประภา กล่าวต่อว่า ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯแสดงความกังวล หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐทางตอนใต้ ได้แก่ ฟลอริดา เซาท์แคโรไลนา จอร์เจีย เท็กซัส และพื้นที่อื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แรกๆ ที่กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง หลังมาตรการล็อกดาวน์ ทางการอ้างว่าเป็นเพราะมีการตรวจหาเชื้อมากขึ้น ขณะที่หลายคนมองว่า ผู้ป่วยรายใหม่เกิดจากแนวทางการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ล้มเหลว ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาระบุว่าผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ทางการต้องเปลี่ยนทิศทางการป้องกันและดูแลประชาชนไปสู่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 20-30 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการและไม่จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และมีหลักฐานว่าเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายในหมู่คนอายุน้อยจึงต้องตรวจเชื้อเพิ่ม เหมือนกับไทยที่พบผู้ป่วยมากสุดในกลุ่มอายุ 20-29 ปี เป็นกลุ่มวัยทำงานสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือเมื่อไปทำงานต้องสวมหน้ากากทุกครั้ง เมื่อกลับบ้านต้องรีบอาบน้ำ
          2 กระทรวงทำคู่มือเปิดเรียน
          เมื่อถามว่าในวันที่ 1 ก.ค.จะมีการเปิดเรียนความพร้อมเป็นอย่างไร พญ.พรรณประภากล่าวว่า สิ่งที่เตรียมพร้อมขณะนี้ คือ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำคู่มือให้สถานศึกษาได้ปลอดภัย เช่น เตรียมจุดคัดกรองก่อนเข้าเรียน ให้นักเรียน ครู บุคลากร ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา เพิ่มจุดล้างมือเพื่อให้ล้างมือบ่อยขึ้น มีการกำหนดนักเรียนต่อห้องให้ในชั้นปฐมศึกษาไม่เกิน 20 คนต่อห้อง มัธยมศึกษาเรียนไม่เกิน 25 คนต่อห้อง หากโรงเรียนไหนมีนักเรียนมากกว่านี้ ให้สลับกันเรียนหรือดำเนินการตามมาตรการของแต่ละโรงเรียน แต่หากผู้ปกครองพบบุตรหลานป่วยมีไข้ไอเจ็บคอก็ให้หยุดอยู่บ้าน
          หวั่นโควิดมาระบาดใหม่
          เวลา 12.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แถลงหลังประชุม ครม.ว่า แม้ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกัน 29 วัน แต่เรายังพบมีผู้ติดเชื้อในสถานกักกันของรัฐที่กลับจากต่างประเทศ เชื้อโรคเหล่านี้บางครั้งยังไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่ที่พบในระยะฟักตัวจะวันที่ 14 แล้ว ต้องตรวจสอบต่อไปด้วยความเข้มงวด กลับมาแพร่ระบาดใหม่คงลำบาก หลายประเทศหายแล้วพบกลับมาแพร่ระบาดใหม่ เพราะเกิดจากการเปิดประเทศ เปิดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เห็นใจสถานประกอบการ แต่ถ้าเราอยากมีอาชีพมีรายได้ ท่านต้องมีมาตรการป้องกันของตัวเองด้วย อาจไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่นี่คือ New Normal อย่างการแสดงดนตรีอาจต้องมีที่กั้น ยังปล่อย 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะโอกาสกลับมาระบาดใหม่ยังมีอยู่
          ตปท.เที่ยวไทยขอดูก่อน
          นายกฯกล่าวอีกว่า เรื่องการท่องเที่ยวจะพิจารณาการท่องเที่ยวในประเทศก่อนให้ต่างประเทศเข้ามาต้องพิจารณาความเหมาะสมในห้วงเวลาก่อน เราต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ส่วนการทำงานที่บ้านวันนี้น่าจะลดลงเพราะสถานการณ์ดีขึ้น หลายคนต้องกลับมาทำหน้าที่ตัวเอง รวมไปถึงภาคธุรกิจเอกชน สิ่งที่เน้นย้ำคือการเหลื่อมเวลาการทำงานทั้งภาครัฐ เอกชน สังคม ถ้าทำได้ก็ช่วยแก้ปัญหาจราจรได้ สัมพันธ์กับเรื่องเหลื่อมเวลาเรียนของเด็ก นอกจากผู้ปกครองที่มีลูกหลานต้องไปส่งที่โรงเรียน หากเหลื่อมเวลาการทำงาน คนในส่วนนี้ก็จะสบายใจขึ้น ตนได้ให้แนวทางให้โรงเรียนเปิดเหลื่อมเวลาระหว่างชั้นเรียน มีการเรียนการสอนที่น้อยลง
          ส่อยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังจำเป็น
          นายกฯกล่าวถึงการต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจะครบกำหนดขยายเวลาวันที่ 30 มิ.ย.ว่า กำลังพิจารณาอยู่ ยอมรับว่ายังมีความจำเป็น ที่ปลอดภัยทุกวันนี้เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่จะพยายามผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด แต่เป็นการใช้กฎหมายในเชิงบูรณาการ ถ้าเราไม่คอนโทรล คงไม่ได้อย่างนี้ การจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้อยู่ที่ตนคนเดียว ต้องหารือคณะทำงานทุกฝ่ายให้ความเห็นชอบ หากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีมาตรการป้องกัน จะมาถึงวันนี้หรือไม่ วันนี้สถานการณ์ยังไม่จบ ทั่วโลกยังมีการติดเชื้อ มีการแพร่ระบาดเกือบจะ 10 ล้านคน ไม่ได้ต้องการจะใช้กฎหมายกดดันใคร หลายคนก็จ้องเรื่องเดียวว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ทำไมต้องมาเคลื่อนไหวกันตอนนี้ บ้านเมืองกำลังมีปัญหา การค้าการลงทุนก็ยังมีปัญหา เศรษฐกิจโดยรวมก็มีปัญหา จะขัดแย้งกันใช่เวลาหรือไม่ลองคิดดู
          อัดฉีด จนท.ท้องถิ่นสู้โควิด
          ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบกว่า 2.9 แสนคน ในลักษณะเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนรวม 7 เดือน วงเงิน 699 ล้านบาท โดยใช้งบฯปี 64 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติมร่วมป้องกันและลดความเสี่ยง ในการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ครม.ยังกำชับให้จัดทำระเบียบ หลักเกณฑ์การจัดสรรเงินเพิ่มพิเศษให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอื่นที่ให้จ่ายเป็นรายเดือนอย่างเคร่งครัด เพราะช่วงโควิด-19 ระบาด กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งให้คนกลุ่มดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานโรคติดต่อตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อต้องเสียสละเวลาประกอบอาชีพส่วนตัว ขณะที่เงินตอบแทนตำแหน่งในปัจจุบันก็ไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ
          ลงขันกับนานาชาติ 3.3 ล้านบาท
          น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำข้อตกลงการบริหารจัดการกองทุน “United Nations COVID-19 Response and Recovery Multi-Partner Trust Fund หรือ “UN COVID-19 MPTF” ของสหประชาชาติ สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นผู้ลงนามข้อตกลงของฝ่ายไทย กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติงบฯปี 63 จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 3.3 ล้านบาท เพื่อแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของไทยในกรอบสหประชาชาติ
          ระบาดระลอกใหม่อันตราย
          วันเดียวกัน ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวตอนหนึ่งในการสรุปสถานการณ์โควิด-19 จากทั่วโลกและการปรับกระบวนทัศน์แบบองค์รวม ที่ไทยต้องทำให้เกิดสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ว่า องค์การอนามัยโลกประกาศเตือน ถึงการเข้าสู่การระบาดใหม่ของโควิด-19 ระลอกใหม่ว่าจะอันตราย เนื่องจากมีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า 81 ประเทศมีผู้ป่วยใหม่ต่อวันเพิ่มสูงขึ้น มีเพียง 36 ประเทศที่สถานการณ์ลดลง ทั่วโลกมีการติดเชื้อใหม่วันละ 1.3 แสนราย อัตราการเสียชีวิต 4-6 พันรายต่อวัน ประเทศที่มีคนป่วยมากขึ้น เสียชีวิตมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศตามมา โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้น จนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข สิ่งที่ตามมา คือการเสียชีวิตจำนวนมากเหมือนใน หลายๆประเทศ
          สร้างสมดุลสุขภาพมีปัจจัย
          ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวต่อว่า การสร้างสมดุลทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ปัจจัยสำคัญคือ “คน” ที่ต้องร่วมมือกัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.รัฐบาลกำหนดนโยบายและออกมาตรการควบคุมโรคต่างๆ 2.ผู้ประกอบการนำมาตรการเหล่านั้นไปใช้ 3.ผู้รับบริการให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ การใช้แอปพลิเคชันไทยชนะสำคัญมาก หากเกิดการติดเชื้อใหม่ การค้นหาให้เร็วจำกัดพื้นที่ได้เร็ว จะทำให้เกิดเพียงคลื่นเล็กๆไม่ระบาดใหญ่ หลักความจริงคือสุขภาพกายที่ดี จะเอื้อให้เกิดการทำงาน มีรายได้ ทำให้สุขภาพใจดีขึ้น สภาพสังคมก็ดีขึ้น ทั้งนี้ จากการผ่อนคลาย 4 ระยะที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือค่อนข้างดี ทั้งการคัดกรอง ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง แต่ระยะหลังหลายแห่งเริ่มผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้เกินไป
          ไทยยังไม่ปลอดภัยแม้ไม่พบเชื้อ
          “การที่ไทยมีเพียงการติดเชื้อจากคนที่กลับจากต่างประเทศเท่านั้น เป็นเรื่องดี ที่ทำให้รู้ว่าในไทยน้อยจริง แต่อย่าคิดว่าปลอดภัย เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่ง มีหลายประเทศเกิดการระบาดขึ้นมาอีก ทั้งที่เคยควบคุมได้แล้ว เช่น จีนเป็นประเทศที่ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศมาแล้ว 57 วัน อยู่ๆ ที่ตลาดขายเนื้อทางตอนใต้ของปักกิ่งก็เกิดการติดเชื้อ แพร่กระจาย ของไทย 28-29 วัน มีโอกาสเกิดอีก ไทยกำลังเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 5 คนออกนอกบ้านมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ขอให้ช่วยกันสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เช็กอิน เช็กเอาต์แอปฯไทยชนะ” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
          คนไทยไม่มีภูมิคุ้มกันโรคโควิด
          คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช กล่าวอีกว่า แม้ว่าคนไทยไม่ได้ตรวจวัดภูมิคุ้มกันทุกคน แต่เชื่อว่าคนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 น้อยมาก ที่ศิริราชมีการศึกษาภูมิคุ้มกันของนักศึกษาแพทย์ พบว่าไม่มีเลย ส่วนที่ รพ.รามาธิบดี ศึกษาภูมิคุ้มกันของบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 พบว่ามีภูมิคุ้มกันแค่ 3% แต่สำหรับสังคมไทยทั่วไป มีผู้ป่วยติดเชื้อแค่ 3 พันกว่าคน สังคมไทยโดยภาพรวมมีภูมิคุ้มกันน้อยมาก หากมีการหลุดของเชื้อเข้ามาจะทำให้เกิดการแพร่กระจายกลับมาอีก จึงต้องร่วมมือกันป้องกันจนกว่าจะมีวัคซีน หวังว่าวัคซีนจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน เมื่อเราร่วมมือกัน ประเทศก็ปลอดภัย คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจไทยปลอดภัย
          ผู้สูงอายุดูแลตัวเองกันติดเชื้อ
          พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการดูแลผู้สูงอายุช่วงคลายล็อกโควิด-19 ว่า ผู้สูงอายุไม่มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 สูงเหมือนวัยอื่น วัยทำงานเสี่ยงกว่าเพราะออกไปสถานที่ต่างๆ และนำเชื้อจากนอกบ้านมาติดผู้สูงอายุในบ้าน ดังนั้น ผู้สูงอายุควรดูแลตัวเอง คือ 1.ล้างมือบ่อยขึ้น 2.ไม่สัมผัสใบหน้า 3.กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกสำรับ ของใช้ส่วนตัว 4.งดออกจากบ้านหากไม่จำเป็น 5.สวมหน้ากาก 6.เว้นระยะห่างผู้อื่น 2 เมตร 7.ติดต่อบุตรหลานช่องทางอื่น เช่น โทรศัพท์ แทนการไปพบ หากผู้สูงอายุต้องออกไปข้างนอก 1.อย่าเดินทางไกลมากจากบ้าน ให้ซื้อของหรืออาหารร้านใกล้บ้าน 2.เลือกพื้นที่เปิดโล่ง เลี่ยงพื้นที่แออัดจะปลอดภัยขึ้น 3.ใช้เวลานอกบ้าน 1-2 ชั่วโมง โดยสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง กลับเข้าบ้าน อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า
          ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้ติดโควิด
          นพ.สุรเดช หงส์อิง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกับ มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนเคสแรกของโลก จาก ด.ช.ศิลา หรือน้องจีโอ้ บุญกล่อมจิตร ผู้บริจาคไขกระดูกวัย 5 ขวบ ขณะติดเชื้อโควิด-19 เพื่อรักษา ด.ญ.จินตนาการ หรือน้องจีน บุญกล่อมจิตร พี่สาววัย 7 ขวบ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่กำเนิด เคสนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกสำหรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนจากผู้ป่วยโควิด-19
          เปิดตัวหุ่นประมวลผลวัคซีน
          ส่วนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นายจำรัส พร้อมมาศ ที่ปรึกษาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผอ.สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล นายเอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยหุ่นยนต์เอไอ แถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมหุ่นยนต์เอไอ-อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunuzer) หุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีนครั้งแรกของไทย ที่ทำงานอัตโนมัติได้ทั้งกลางวัน กลางคืน และยังประมวลภาพผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน ลดภาระของการอ่านผลทดสอบโดยคน ซึ่งจะทำให้ประมวลผลได้เร็วขึ้น
          เทพศิรินทร์ฆ่าเชื้อก่อนเปิดเทอม
          นายชาติชาย เทพแปง นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเทพศิรินทร์ ร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำทีมเทพศิรินทร์จิตอาสา กลุ่มรำเพยพาวเวอร์และทีมรำเพยพาวเวอร์ รวมทั้ง เต๋า-สมชาย เข็มกลัด นักแสดงคนดัง คืนถิ่นลูกแม่รำเพย ร่วมทำกิจกรรมฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดรอบบริเวณโรงเรียนเทพศิรินทร์ ถนนกรุงเกษม แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. ตลอดจนห้องเรียนบนอาคารทุกชั้น หลังปิดเทอมยาวจากผลกระทบวิกฤติโควิด เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในปีการศึกษาใหม่วันที่ 1 ก.ค.นี้ สร้างความมั่นใจแก่บรรดาผู้ปกครอง และนักเรียน
          ตม.ยันไม่ช่วยแรงงานเถื่อน
          ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. แถลงข่าวการจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ในช่วงที่รัฐบาลปิดด่านพรมแดนเข้า-ออกประเทศช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย.จับได้ 12,223 คน ปัจจุบันไทยยังไม่เปิดพรมแดนเข้า-ออก ทำให้มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวพยายามลักลอบเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานในสถานบันเทิง ผับ บาร์ และกลุ่มแม่บ้าน โดยใช้ช่องทางธรรมชาติ ยืนยันการจับกุมผู้กระทำผิดไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปอำนวยความสะดวกให้กับขบวนการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายแน่นอน หากตรวจพบว่ามีตำรวจ ตม.เกี่ยวข้องจะถูกลงโทษทางวินัยและอาญา ส่วนกรณีแรงงานชาวเมียนมาติดโควิด-19 หลังกลับจากไทย ได้รับรายงานจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลสนาม อ.สะเดา จ.สงขลา ว่าแรงงานทั้ง 19 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายเก่าและรักษาหายแล้ว อีก 4 รายนั้น ยังไม่ทราบแหล่งที่มา อยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับทางการเมียนมา
          โพลชี้วิถีใหม่ต้องใส่แมสก์
          ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา เผยว่า ศูนย์บริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อ “COVID-19 กับรูปแบบการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New normal)” พบว่าร้อยละ 84.9 รูปแบบวิถีชีวิตใหม่จะต้องใส่แมสก์ก่อนออกจากบ้าน รองลงมาคือการคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม การพกแอลกอฮอล์ส่วนตัว ใช้โซเชียลมีเดียติดต่อสื่อสารแทนการพบปะพูดคุย ส่วนมาตรการของหน่วยงานภาครัฐ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยมากที่สุดคือ มาตรการผ่อนปรนด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การซื้อสินค้า บริการ ระบบขนส่งสาธารณะ แต่ประชาชนยังคงต้องการให้ภาครัฐตรวจสอบคัดกรองการใช้บริการในสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้าและในจุดต่างๆต่อไป รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเลี่ยงการกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้งของโรคโควิด-19
          ทำความสะอาดโรงเรียนที่กักตัว
          นายนันต์ ปิริยะ ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรี ต.คลองขุด อ.เมืองสตูล นำเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข เข้าทำความสะอาดโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านท่าจีน) ที่เคยใช้เป็นสถานที่กักตัวแรงงานที่กลับมาจากมาเลเซีย ก่อนจะย้ายไปกักตัวที่เทศบาล ต.คลองขุด และคืนพื้นที่ให้โรงเรียนตั้งแต่ต้นเดือน มีการทำความสะอาดไปแล้วรอบหนึ่ง ครั้งนี้เป็นการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อรอบที่ 2 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง นายนันต์กล่าวว่า ทำความสะอาดก่อนโรงเรียนเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค. โดยล้างห้องเรียนทุกห้องก่อนฉีดพ่นฆ่าเชื้อทุกพื้นที่ ทั้งห้องน้ำ ห้องเรียน กระดาน พื้นห้อง สนามเด็กเล่น เครื่องเล่น ห้องอาหาร รวมทั้งเก็บขยะทำความสะอาดเตรียมพื้นที่ให้พร้อมก่อนเปิดเทอมด้วย สำหรับโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านเขาจีน) ใช้มาตรการสลับกันเรียนวันคู่และวันคี่ นักเรียนต้องสวมหน้ากากอนามัยและมีสถานที่ล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ตั้งไว้ตามจุดต่างๆ
          7 รัฐมะกันยอดทะลุหลักแสน
          สำหรับความคืบหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างแดน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกได้เพิ่มเป็น 9.2 ล้านคน เสียชีวิตรวมมากกว่า 475,000 คน โดยจุดศูนย์กลาง แพร่ระบาดอันดับ 1 ของโลกสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ยังคงลุกลาม รัฐฟลอริดาได้กลายเป็นรัฐที่ 7 ของสหรัฐฯ ที่มีผู้ติดเชื้อรวมเกิน 100,000 คน ต่อจากแมสซาชูเสตต์ เท็กซัส อิลลินอยส์ นิวเจอร์ซี แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วประเทศทะลุ 122,600 คน อย่างเป็นทางการ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ยอดผู้เสียชีวิตรวมอาจถึง 150,000 คนหรือมากกว่านั้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการป้องกัน คงเสียชีวิตสูงกว่า 2 ล้าน หรือ 4 ล้านคน
          ฉงนแฝดสามแรกเกิดติดเชื้อ
          ด้านกระทรวงสาธารณสุขเม็กซิโก เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่การแพทย์อยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบหาความชัดเจน หลังพบกรณีศึกษาที่อาจถือเป็นเคสใหม่ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เด็กแฝดสามแรกเกิดที่โรงพยาบาลเมืองซาน หลุยส์ โปโตซี ในภาคกลางของประเทศ ถูกตรวจพบว่าติดไวรัส ภายในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบว่าเด็กทั้งสามคน ได้เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ จึงสันนิษฐานว่า มารดาอาจมีเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการป่วย พร้อมเตรียมตรวจสอบเพิ่มเติมว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายทารกผ่านน้ำคร่ำของมารดา ทั้งนี้ เด

 pageview  1210921    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved