Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 22/07/2563 ]
กลัวโควิด-19 ทำก้อนมะเร็งกระจาย

 แนะใชวธฉีดยาใต้ผิวหนังแทนเส้นเลือดดำ
          ประหยัดเวลาการอยู่ รพ.
          ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวในการแถลงข่าววิถีใหม่ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งยุคโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ว่า ขณะนี้สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง คือแพทย์จะต้องจัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วย เช่น มะเร็งเต้านมระยะแรกต้องรีบมารับยา หรือกลุ่มที่ผ่าตัดแล้วก็จะต้องมารับยาให้ตรงเวลารวมถึงผู้ป่วยที่ให้เคมีบำบัดก็ต้องมารับอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้โรคสงบเป็นต้น อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในยุคนิวนอร์มอล สิ่งที่ต้องการ คือ ลดความแออัด ลดการเดินทางมาโรงพยาบาล และไม่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ดังนั้นการปรับวิธีการให้ยาแบบใหม่จึงถือเป็นสิ่งที่ดี เช่น กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อนุญาตให้มีการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน ซึ่งถือเป็นอีกวิธีที่ได้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีบ้านอยู่ใกล้โรงพยาบาลหรือผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ป่วยทุกสิทธิ์ได้รับยาที่สะดวกและมีประสิทธิภาพดี เช่น การฉีดยาใต้ผิวหนังในผู้ป่วยมะเร็ง แทนการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ หรือการเปลี่ยนจากการให้ยาจากยาฉีดเป็นยาแบบรับประทานแทน เป็นต้น
          "จากการตรวจผู้ป่วยมะเร็งหลังจากพบโรคโควิด-19 มา 1 เดือน พบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เคยได้รับยามุ่งเป้า แต่เมื่อมีโรคโควิดระบาดผู้ป่วยจึงกังวลและหายไปประมาณ 2 เดือน ทำให้พบว่าก้อนมะเร็งเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการกระจายของรอยโรคไปที่สมอง รวมถึงผู้ป่วยบางรายมีความลำบากในการเดินทางข้ามจังหวัดจึงทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น" ผศ.พญ.เอื้อมแขกล่าวและว่า สำหรับการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำและทางผิวหนังยังไม่มีการประเมินเรื่องความคุ้มทุน แต่ค่าใช้จ่ายต่างกันไม่มาก หากประเมินความเสี่ยงและระยะเวลาน่าจะมีความคุ้มทุน อย่างไรก็ตามวิธีนี้สามารถเบิกค่ารักษาได้ทุกสิทธิ์ แต่ สปสช.จะจ่ายให้ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวเกิน 60 กิโลกรัมเท่านั้น ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยมะเร็งเมื่อติดโรคโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย
          ด้าน นพ.ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 จะต้องลดระยะเวลาการอยู่ในโรงพยาบาลดังนั้นการเปลี่ยนวิธีการให้ยาจากเดิมที่มีการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อครั้ง มาเป็นการฉีดเข้าบริเวณใต้ผิวหนังที่ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีต่อครั้งแทน ซึ่งให้ประสิทธิผลเทียบเท่ากับการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ เป็นต้น และจากการสอบถามผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์พึงพอใจการฉีดยาใต้ผิวหนังมากกว่า.

 pageview  1210920    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved