Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 03/12/2557 ]
ทานยากับการขับรถ
  ท่านผู้อ่านครับ อาการง่วงนอนที่เกิดจากการทานยาเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการหลับในขณะขับรถ โดยเฉพาะกลุ่มยาที่มีผลข้างเคียงให้เกิดอาการง่วงนอน หากทานยาในช่วงก่อนหรือขณะขับรถจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้เพื่อความปลอดภัย สนทนาจราจรวันนี้มีข้อแนะนำเรื่องนี้จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส กระทรวงมหาดไทยครับ
          กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ให้เกิดอาการง่วงนอน 1.ยาแก้ปวด มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง 2.ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และอาการปวดตึงของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย 3. ยาประเภทอื่นๆ เช่น ยาแก้แพ้ยาลดน้ำมูก ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด ยาแก้เวียนศีรษะ ยาแก้เมารถ ยารักษาโรคความดัน โลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ยาลดไขมันในเส้นเลือด
          ทั้งนี้ กลุ่มยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงให้เกิดอาการง่วงนอน อ่อนเพลียง่าย ไม่สามารถปรับระยะสายตาได้ ทำให้ภาพที่มองเห็นไม่ชัดเจนหรือเบลอ วิงเวียศีรษะ หน้ามือและ เสียสมาธิได้ จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถ ทำให้การตัดสินใจแก้ไขเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้าช้าลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
          ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการง่วงนอนขณะขับรถจากการทานยา 1. หลีกเลี่ยงดการทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน ในช่วงก่อนและขณะขับรถ โดยเฉพาะยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้แพ้ ซึ่งมีฤทธิ์ให้เกิดอาการง่วงนอน  ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง
          2. ปรับเวลาในการทานยาให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการทานยาที่มีฤทธิ์ให้เกิดอาการง่วงนอนทั้งในช่วงก่อนและขณะขับรถ โดยทานยาเมื่อเดินทางถึงที่หมายแล้ว จะช่วยป้องกันหลับในหรือเปลี่ยนเวลาทานยาเป็นช่วงก่อนนอนร่างกายจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และลดอาการข้างเคียงที่ทำให้ง่วงนอน
          3. ห้ามทานยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะกรณีที่จำเป็นต้องขับรถ  เพราะนอกจากจะมีอาการเมาแล้ว ยังส่งผลให้ง่วงนอนเพิ่มเป็น 2 เท่า ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการขับรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
          4. หลีกเลี่ยงการขับรถด้วยตนเองกรณีทานยาฤทธิ์ให้เกิดอาการง่วงนอนควรใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เช่น แท็กซี่ รถตู้โดยสาร รถไฟฟ้า เป็นต้น หรือให้ผู้อื่นขับรถแทน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการง่วงหลับใน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้
          **** การทานยาแก้หวัด หรือยาแก้เมารถ มีอันตรายเทียบเท่ากับการเมาแล้วขับเพราะยาทั้งสองชนิดมีสารที่ทำให้เกิดอการง่วงนอน โดยยาแก้หวัดส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชม. และมีฤทธิ์คงอยู่อีกอย่างน้อย 4-6 ชม. ส่วนยาแก้เมารถจะออกฤทธิ์ประมาณ 6-12 ชม. เพื่อความปลอดภัย หลังทานยาควรรอให้ยาหมดฤทธิ์ก่อนค่อยขับรถ เพราะยาจะส่งผลต่ประสิทธิภาพการขับรถ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
 pageview  1220585    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved