Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 29/11/2562 ]
เบาหวาน.ควบคุมได้ ครอบครัวต้องร่วมมือ

 ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้มีเพียงร้อยละ 40 แม้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมียาในการรับประทาน รวมถึงมีการให้อินซูลิน แต่องค์ประกอบที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ต้องอยู่ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้ป่วยด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "เครือข่าย" หรือกลุ่ม รวมถึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนและปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาในการดำเนินงานของทุกภาคส่วนโดยมีสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นแกนนำ ร่วมกับกรมการแพทย์ 13 เขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยบริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนการจัดสัมมนา "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างเครือข่ายและชมรมเบาหวานของประเทศไทย" ณ โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อเร็วๆ นี้
          นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า "ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นเบาหวานประมาณ 5 ล้านคนและมีแนวโน้มเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากปี พ.ศ.2534 คนไทยเป็นเบาหวานร้อยละ 2.3 และปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 เสียชีวิตจากโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนถึงร้อยละ 21.96 และยังควบคุมระดับน้ำตาลได้น้อยเพียงประมาณร้อยละ 40 มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่สามารถควบคุมทั้ง 3 อย่าง คือ ระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิต ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี และหากมี 3 โรคร่วมด้วย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือดสมอง ทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี"
          นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า แนวทางในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานจะต้องประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งการให้ความรู้และสร้างทักษะเพื่อการดูแลโรคเบาหวานด้วยตนเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไข้ การให้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ซึ่งการให้ความรู้เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ดูแลและผู้ที่มีความเสี่ยง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน วิธีการดูแลรักษาโรคเบาหวาน สร้างทักษะเพื่อการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง และให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น รูปแบบการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยจะต้องอาศัยความสัมพันธ์แบบพึ่งพา เป็นการหารืออภิปรายแลกเปลี่ยนกันและกัน จนเห็นพ้องต้องกัน จึงจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน
          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นยังพบว่าผู้ป่วยมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้น้อย โดยคนไข้ใหม่ในปีแรกจะดูแลตัวเองดีมาก คุมระดับน้ำตาลได้ดี แต่เมื่อนานไปเริ่มที่จะคุมไม่ได้ ซึ่งการจะบอกคนไข้ให้เปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิตและต้องเปลี่ยนไปตลอดชีวิตกับสิ่งที่คุ้นเคยมานาน 30-40 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายและเกิดขึ้นได้ทันที
          นพ.เพชรกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้นนั้น จะต้องอาศัยมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรมด้วยตามแบบแผนการดูแลโรคเรื้อรังจะต้องประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ระบบสุขภาพ และชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากเมื่อคนไข้ได้รับความรู้และการดูแลจากระบบแล้ว จะต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ในชุมชน สภาพแวดล้อมของคนไข้ส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ชุมชน เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตนเอง ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีอย่างยั่งยืน จะต้องอาศัยครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยในการสนับสนุนอำนวยความสะดวก เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานดูแลตนเองได้ดีขึ้น แต่หากมุ่งเน้นการดูแลแต่เฉพาะในสถานพยาบาลจะไม่สำเร็จ
          แนวทางการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสามารถเริ่มต้นด้วยการใช้รูปแบบของการสร้างชมรม เครือข่ายหรือกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันมารวมตัวกันด้วยความสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือกันและกัน ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์อย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้มีกำลังใจ สามารถปรับตัว และมีศักยภาพในการดูแลตนเองและจัดการกับสุขภาพตนเอง เพราะคนไข้ด้วยกันจะมีความเข้าใจกันและกันมากกว่าแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
          "เป้าหมายหลักของการมีกลุ่มสนับสนุนหรือเครือข่ายผู้ป่วยเบาหวานที่ช่วยเหลือ ประคับประคอง ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญกับความวิตกกังวล ลดความรู้สึกที่ต้องแยกตัวออกจากสังคม เพื่อความสามารถในการเผชิญกับความเจ็บป่วย มีการรับรู้ที่ถูกต้อง รู้จักแหล่งให้ความช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพในการดูแลตนเอง ทั้งนี้ มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การมีกลุ่มสนับสนุนของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น หากผู้ป่วยมีความตั้งใจที่จะงดรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม แต่คนในชุมชนไม่เข้าใจแล้วติว่าอาหารไม่อร่อย ผู้ป่วยก็อาจจะท้อและเลิกทำ แต่หากมีกลุ่มหรือเครือข่ายที่เข้าใจกัน ก็จะคอยส่งเสริม สนับสนุน ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้นๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลตนเองต่อไปได้" นพ.เพชรกล่าว
          ตัวอย่างชุมชนต้นแบบ คือที่ "ชุมชนจอมทอง" อ.เมือง ซึ่งมีวิสัยทัศน์ชุมชนที่ให้ชาวจอมทองสุขภาพพอเพียง ผู้นำชุมชนจึงมีนโยบายสาธารณะในเรื่องเหล้า บุหรี่ ห้ามเผาหญ้า โรงเรียนปลอดก๊อบแก๊บ ร้านค้าต้นแบบ ร้านนี้ดีมีเมนูอ่อนหวาน ร้านนี้เกลือเจือจาง ล้อมรั้วด้วยรักปลูกผักสวนครัว วัดปลอดพระ (อ้วน) เครือข่ายพระบิณฑบาตความทุกข์ ด้วยการนิมนต์พระเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น เมื่อมีการขับเคลื่อนทั้งชุมชนเช่นนี้ ส่งผลให้การรายงานอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันในผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จอมทอง เป็น 0 ตั้งแต่ปี 2559-2562
          เหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานนั้น จำเป็นที่จะต้องมีเครือข่ายที่เข้าใจและพร้อมดำเนินการไปด้วยกัน รวมถึงการส่งเสริม สนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน.

 pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved