Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 01/10/2563 ]
โรคเบาหวาน ภัยเงียบคร่าชีวิตคนไทย แพทย์เตือนความเสี่ยงโควิด-19 ซ้ำเติมผู้ป่วย

 "โรคเบาหวาน" เคียงคู่มากับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต การกินอยู่แบบตามใจปากแต่ไม่ออกกำลังกาย ปล่อยให้ไขมันพอกพูนจนเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ถ้าใครมีพฤติกรรมเช่นนี้อาจต้องเปลี่ยนมาเดินเข้าออกโรงพยาบาล ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก ผู้ป่วยเบาหวานยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะถ้าติดเชื้อเมื่อไหร่ก็เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนปกติ
          จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนปี 2557 พบว่าคนไทย 4.8 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ในกลุ่มคนไทยอายุ 60-79 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 19% ที่น่าตกใจคือเด็กและวัยรุ่นเป็นโรคนี้มากขึ้น โดยผู้ป่วยวัย 15 ปีขึ้นไป พบสัดส่วน 8.9% และส่วนมากไม่รู้ตัวมาก่อน
          รศ.พญ.นันทกร ทองแตง แพทย์สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคเบาหวานมีหลายชนิดแต่ที่พบมากในประเทศไทยและทั่วโลกคือเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมาพร้อมกับภาวะโรคอ้วน จากผลสำรวจชี้ว่าเดิมเบาหวานชนิดนี้พบมากในประชากรวัย 60-79 ปีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 แต่ปัจุบันมีแนวโน้มเกิดในกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่นเพิ่มขึ้น
          ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองป่วยด้วยโรคเบาหวานให้สังเกตอาการง่ายๆ คือ มักดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะหากต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน น้ำหนักลด ปากคอแห้ง ชาตามปลายมือปลายเท้า ไปจนถึงตาพร่ามัว การทำงานของไตไม่ปกติ หรือมีแผลแล้วรักษาไม่หาย แน่นอนว่าผู้ที่เสี่ยงกับโรคนี้อันดับแรกๆ คือ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อ้วน หรือมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคเบาหวานมาก่อน ผู้มีไขมันในเลือดสูง มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดลูกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กก. ฯลฯ ใครที่เข้าข่ายเหล่านี้แนะนำให้รีบรุดไปตรวจสุขภาพโดยเร็ว
          โรคเบาหวานทำให้คนไทยอายุสั้นลงจากการเสียชีวิตก่อนวัย โดยพบผู้มีอายุ 60 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวาน อายุจะสั้นลง 6 ปี และการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตาบอด ไตวาย เท้าเป็นแผลเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ เป็นต้น
          "สิ่งที่อยากฝากไว้คือในช่วงที่ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 แม้สถานการณ์ในไทยดูจะสงบ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน หากไปติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงกว่าคนปกติ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการไปสถานที่เสี่ยง ถ้าจำเป็นก็ต้องป้องกัน"
          รศ.พญ.นันทกร ระบุด้วยว่า หัวใจสำคัญของการรักษา ได้แก่ การปรับพฤติกรรม ร่วมกับใช้ยารักษาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบัน
          มียารักษาหลายกลุ่มทั้งยากินและยาฉีด เป็นทางเลือกให้กับ
          ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งยาฉีดมีทั้งที่เป็นยาฉีดอินซูลินและยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน หรือยาฉีดจีแอลพีวัน อะนาล็อก (GLP-1 Analogue) ยาชนิดใหม่ ๆ ถูกพัฒนามาเพื่อลดผลข้างเคียงที่อันตราย ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) นอกจากนี้ ยาบางชนิด เช่น ยาฉีดจีแอลพีวัน อะนาล็อก และยากินบางกลุ่ม ยังมีผลช่วยลดน้ำหนักตัวของผู้ป่วยได้ เป็นต้น โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาตามความเหมาะสม
          ปัจจุบันยังมีการพัฒนาให้ผู้ป่วยบริหารยาได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเจ็บตัวน้อยลง เช่น การรวมเม็ดยา จากเดิมที่ต้องกิน 2-3 เม็ดก็รวมเหลือ 1 เม็ด การรวมยาฉีด 2 ชนิดในเข็มเดียว การพัฒนาเข็มและอุปกรณ์การฉีดยาให้เล็กลง เพื่อให้เจ็บน้อยลง และ การพัฒนายาฉีดจากเดิมต้องฉีดทุกวันเป็นฉีดเพียงสัปดาห์ละครั้ง เป็นต้น
          นอกจากนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย เช่น เครื่องติดตามระดับน้ำตาลของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ (real time) แอพลิเคชัน หรือเครื่องมือช่วยคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรทหรือแคลอรี่ในอาหารแต่ละจาน เพื่อควบคุมการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับภาวะของผู้ป่วย เป็นต้น
          "โรคเบาหวานสามารถป้องกันได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน หมั่นออกกำลังกาย และลดน้ำหนักตัวลงอย่างน้อย 5-7% ของน้ำหนักตั้งต้น จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ 30-50% และควรตรวจคัดกรองโรค โดยผู้อายุ 35 ปีขึ้นไปควรเจาะเลือดตรวจ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักตัวเกิน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรตรวจให้เร็วกว่าปกติ"
          สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นมาจาก สถาบันครอบครัว โรงเรียน สถานศึกษา และ หน่วยงานภาครัฐ ควรรณรงค์ให้คนปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบใหม่ เป็นทางออกที่ดีที่สุดในการสกัดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

 pageview  1210916    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved