Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 30/12/2563 ]
บุคคลแห่งปี 2563 บุคลากรทางการแพทย์-อสม. ทัพหลักประเทศไทยในสงครามสู้โควิด-19

    ปีพ.ศ.2563 ที่จะผ่านพ้นไป ถือเป็นปีแห่งความยากลำบากของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ต่างต้องเจอและต่อสู้กับ "ไวรัสโควิด-19" ตลอดทั้งปี โดยบางประเทศ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตก็สูงจนหลายคนไม่คาดคิด โดยที่ในปี 2564 ก็ยังมีแนวโน้มที่การป้องกัน-ควบคุมโรค-การรักษาพยาบาล ในสมรภูมิโควิด อาจยังต้องดำเนินต่อไปโดยไม่รู้ว่าสิ้นสุดเมื่อใด แม้บางประเทศจะเริ่มมีความหวังต่อวิทยาการทางการแพทย์ในการเตรียมทดลองฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด แต่ดูจากสถานการณ์ตอนปลายปี 2563 แล้ว การสู้กับโควิดของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย คงเป็นศึกยืดเยื้อไปอีกนานพอสมควร
          สำหรับประเทศไทย ที่ช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ สถานการณ์โควิดกลับมาแพร่ระบาดอีกรอบ หลังก่อนหน้านี้ตอนระบาดรอบแรก ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิดมาได้อย่างรวดเร็ว จนตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศไม่พบเลย ตัวเลขเป็นศูนย์ เป็นเวลาติดต่อกันนานมาก จนคนไทยลืมกันไปแล้วว่าประเทศไทยมีคนติดโควิด
          โดยความสำเร็จในการสู้กับโควิดรอบแรก รวมถึงที่กำลังสู้กันอยู่ตอนนี้ในการระบาดของโควิดรอบสอง ที่แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศไทยยังน่าวิตก แต่ภาพรวมหลายฝ่ายก็ยังมั่นใจว่า ระบบสาธารณสุขของไทยยังพอรับมือได้
          ซึ่งทั้งหมดต้องยกเครดิตให้คนไทยทุกคนที่ร่วมมือร่วมใจกันสู้โควิดพร้อมกัน จนก่อนหน้านี้ได้รับเสียงชื่นชมและได้รับการจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกในการแก้ปัญหาโควิด
          อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งหมดคือเครดิตของคนไทยที่ร่วมมือร่วมใจกัน แต่ทุกฝ่ายก็เห็นตรงกันว่า กลุ่มบุคคลที่ทำงานหนัก มีบทบาทสำคัญในการสู้กับโควิด ที่หลายครั้งก็ทำงานภายใต้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งรอบแรกและรอบปัจจุบัน ก็คือ
          "บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนรวมถึงองคา             พยพอื่นๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม."
          "กองบรรณาธิการข่าวไทยโพสต์" จึงเห็นว่า สมควรอย่างยิ่งที่ "บุคคลดีเด่นแห่งปี 2563" จะต้องยกย่อง ชื่นชม และให้กำลังใจ การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งระบบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ อสม.ทั่วประเทศ ที่ทำงานอย่างทุ่มเทเสียสละ-แบกรับความกดดันและความเสี่ยง ในการรับมือกับไวรัสโควิดตลอดทั้งปี 2563 ที่กำลังผ่านพ้นไป และในปีหน้า 2564 ก็ยังคงต้องทำหน้าที่นี้ต่อไป ตราบใดที่วิกฤติไวรัสโควิดจะค่อยๆ หายไปจากโลกใบนี้
          โดยบทบาท-ความสำคัญของ "บุคลากรทางการแพทย์" รวมถึง อสม. ในการสู้กับโควิดที่ไทยโพสต์ยกให้เป็นบุคคลแห่งปี 2563 ก็ได้มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่มองความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์-อสม.ในการรับมือกับโควิดไว้ดังนี้
          เริ่มที่ "สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข" บอกว่า ขอให้กำลังใจบุคลากรทางแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ทุกฝ่าย ที่ได้ร่วมกันต่อสู้กับโควิดตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ออกมา ซึ่งขอย้ำว่า ไม่ว่าใครทำงานหนักแค่ไหน แต่หากประชาชนทุกคนไม่ร่วมมือกัน ก็ไม่สามารถต่อสู้กับโรคโควิดได้ เพราะเรื่องโรคระบาดเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางแนวทางไว้  ก็ขอให้กำลังใจการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์-อสม.ทั้งหมด
          "ทั้งหมดเป็นการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันแบบลงตัว ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ภายใต้การทำงานร่วมกันอย่างหนักของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข และ อสม."
          5 กลุ่มหลัก ทัพหน้าสู้โควิด  ด้าน "นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และอดีต รมช.สาธารณสุข" ให้ความเห็นว่า การรับมือกับโควิดที่ผ่านมา มีบุคคลห้ากลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มแรกคือ หมอ-พยาบาลที่ดูแลคนไข้ คนติดเชื้อโควิด ที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ เพราะอยู่กับคนที่มีเชื้อที่มีหลายระดับ เช่น ผู้ติดเชื้อแต่อาการยังไม่มาก คนติดเชื้อที่มีอาการหนัก ต้องนอนไอซียู มีเครื่องช่วยหายใจ กลุ่มนี้ต้องทำงานหนัก อยู่เวรเฝ้าไข้อย่างใกล้ชิด
          ...กลุ่มสอง กลุ่มนักระบาดวิทยา เป็นกลุ่มที่ทำให้ประเทศมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะการควบคุม-เฝ้าระวัง ต้องมีนักระบาดวิทยาที่มีความรู้ ทั้งออกแบบและบริหารระบบ ซึ่งประเทศไทยมีการสะสม-ลงทุนด้านนี้มาหลายสิบปี พวกเขาเหล่านี้ทำงานหนักมาก โดยทำงานตั้งแต่การควบคุมโรคที่ด่านเข้าประเทศไทยในจุดต่างๆ รวมถึงการไปติดตามคนไข้ สอบสวนโรค พวกนักระบาดวิทยาทำงานหนักมาก
          ...กลุ่มสาม ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ "ทีมระบาดวิทยาในพื้นที่" คือปัจจุบันไม่มีแค่ที่กรมควบคุมโรคเท่านั้น แต่ยังมี "หน่วยควบคุมโรคในพื้นที่" ที่กระทรวงสาธารณสุขออกแบบไว้นานแล้ว เป็นหน่วยงานที่เรียกว่า "หน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อการควบคุมโรค" หรือ Surveillance and Rapid Response Team (SRRT) ซึ่งทั่วประเทศไทยก็มีประมาณพันทีม มีทุกอำเภอ ยกเว้นในกรุงเทพมหานคร โดยหน่วยนี้จะใช้โรงพยาบาลอำเภอเป็นหลัก
          สำหรับกลุ่มที่สี่และห้าก็คือ กลุ่ม อสม.และเจ้าหน้าที่ระดับล่างใน รพ.สต. ที่หลายครั้งต้องทำงานในพื้นที่ร่วมกัน เช่น หากมีคนที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้วอยู่ในพื้นที่ แล้วคนในพื้นที่ไม่ยอมรับโดนรังเกียจ เจ้าหน้าที่ใน รพ.สต.และ อสม.ก็ต้องไปช่วยกันดูแล  โดยทั้งห้ากลุ่มข้างต้นทำหน้าที่สองเรื่องใหญ่ๆ คือเฝ้าระวังควบคุมการแพร่เชื้อโควิดกับรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด
          "ความสำเร็จของประเทศไทยในการรับมือกับโควิด โดยเฉพาะตอนระบาดรอบแรก ทั้งหมดเกิดจากไทยเรามีระบบการเฝ้าระวังที่ดี ที่คนทำงานในส่วนนี้ไม่ได้มีแค่หมอ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข แต่ระบบเฝ้าระวังของเรามีรากฐานไปถึงระดับหมู่บ้าน-ระดับชุมชน มี อสม. มีประชาสังคม เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คอยร่วมมือกัน
          ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องทุกคน ก็ขอให้กำลังใจและขอบคุณเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม.ในการทำหน้าที่เฝ้าระวังควบคุมดูแล จนทำให้ประชาชนคนไทยอุ่นใจ และขอให้คนไทยทุกคนร่วมมือในการป้องกันด้วย อย่าให้พวกเขาทำงานหนักอยู่ฝ่ายเดียว"
          ร่วมให้เครดิต ศบค.เด็ดขาดแก้ปัญหา ปิดท้ายที่ความเห็นจาก "นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา" ที่บอกว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโควิดที่ผ่านมามีหลายฝ่ายทั้งแพทย์-พยาบาล-นักเทคนิคการแพทย์ ที่ตรวจเชื้อโควิด-เจ้าหน้าที่ห้องยา ห้องแล็บ ที่ล้วนแล้วแต่ต้องทำงานสู้กับโควิดทั้งสิ้น
          ...สำหรับ "แพทย์" คือผู้ที่ต้องรับภารกิจ "คอยปะทะ"กับโควิดโดยตรง หากดูจากสถิติทั่วโลก มีแพทย์ที่เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากโควิดมากมาย โดยเฉพาะในบางประเทศอย่างอิตาลี ที่ทำงานโดยมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ซึ่งหากภูมิต้านทานมีปัญหาก็อาจถึงกับเสียชีวิต จึงถือว่าแพทย์คือผู้ที่ทำงานหนัก ซึ่งแพทย์ก็มีงานประจำอยู่แล้ว แต่เขาก็ต้องมาสู้กับโควิดที่เป็นงานใหม่ นอกจากนี้กลุ่มแพทย์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็คือ กลุ่มแพทย์ที่ทำงานอยู่ใน "กรมควบคุมโรค" โดยกรมควบคุมโรคก็มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องการป้องกัน และเมื่อพบผู้ป่วยก็จะมีหน้าที่ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องเช่น โรงพยาบาลทรวงอก-โรงพยาบาลราชวิถี เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่ม "พยาบาล" ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญเพราะพยาบาลต้องทำงานอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย คอยดูแลผู้ป่วยแม้ผู้ป่วยจะเป็นโควิด เป็นหน้าที่ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้น กลุ่มพยาบาลทั้งที่ทำงานใน รพ.ส่วนกลางและต่างจังหวัด เช่น ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ก็เป็นวิชาชีพที่ทำงานหนัก รวมถึง อสม.ทั่วประเทศ
          "เครดิตทั้งหมดคงให้แต่เฉพาะแพทย์กลุ่มเดียวก็คงไม่ได้ เพราะภารกิจทั้งหมด ประกอบไปด้วยบุคคลหลายภาคส่วน เช่น การที่นายกฯ จัดตั้ง ศบค. ที่สั่งงานจากจุดเดียวในการสู้กับโควิด ที่ทำให้การทำงานรวดเร็ว และใน ศบค.ก็มีบุคลากรจากฝ่ายต่างๆ เช่น แพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข แพทย์จากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาให้ความรู้และให้ความเห็น จนกำหนดเป็นนโยบายต่างๆ ออกมาจาก ศบค. ประกอบกับการตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่ทำให้เกิดอำนาจที่เบ็ดเสร็จในการต่อสู้กับโควิด ที่ไม่สามารถใช้ได้จากกฎหมายที่มีอยู่ตามปกติ เช่น การสั่งห้ามสายการบินเข้าประเทศ การตัดสินใจล็อกดาวน์ก็เป็นอีกหนึ่งประกอบที่ทำให้การควบคุมโควิดทำได้ผล"
          "นพ.เจตน์" กล่าวทิ้งท้ายว่า ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์และ อสม.ต่างก็ทำงานอย่างหนักในการต่อสู้กับโควิด ตั้งแต่มกราคม 2563 จนถึงจะสิ้นปี ก็ขอให้กำลังใจกับทุกคน และหวังว่า ในปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยจะดีขึ้น ก็ขอให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนอดทน เพราะเชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศเขาเฝ้าดูการทำงานและให้กำลังใจอยู่
          สุดท้ายแล้ว ไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะกลับมาระบาดอีกกี่รอบ รวมถึงแม้แต่โรคระบาดใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังหมดโควิด แต่ถ้าคนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน เฝ้าระวัง และให้ความร่วมมือในการดูและตัวเองและสังคมรอบข้าง จะเป็นโควิดหรือโรคระบาดอะไรก็แล้วแต่ คนไทยก็จะจับมือฝ่าฟันไปได้
          ยิ่งเมื่อมี "บุคลากรทางการแพทย์-อสม." ของไทย ที่มีความสามารถทุ่มเททำงานอย่างเสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง อย่างน้อยคนไทยก็วางใจได้ว่า คนไทยทุกคนจะชนะร่วมกัน ในการต่อสู้กับโรคระบาดต่างๆ ไม่ใช่แค่ไวรัสโควิด-19.

 pageview  1210902    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved