Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 03/05/2555 ]
แนะพ่อ-แม่รับมือลูกน้อยวัยซนกินข้าวยาก

 พฤติกรรมการทานข้าวยาก (Picky Eater) ทานข้าวได้น้อย ไม่ยอมทานข้าว หรือแม้กระทั่งเบื่ออาหารของเด็ก ในวัย 1-7 ขวบ เป็นปัญหาที่พ่อ-แม่กังวลและ มาปรึกษาคุณหมอถึงสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจส่งผลให้พัฒนาการดังกล่าวไม่เป็นไปตามวัย พ่อ-แม่ยิ่งต้องใส่ใจการกินให้เหมาะสมเพื่อช่วยให้ลูกเจริญอาหาร เพราะสาร อาหารเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างความพร้อมให้กับลูกในทุกๆ ด้าน ทำให้เด็กมีพื้นฐานร่างกายที่ดี และมีความพร้อมต่อการเรียนรู้ต่อไป
          นพ.ประพัฒน์ โสภณาทรณ์ กุมารแพทย์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "พ่อเรียนรู้ แม่เข้าใจ ช่วยไขปัญหาลูกกินยาก" ในงานแถลงข่าวแนะนำโครงการ "SEVEN SEAS SEVEN SHARING ลูกรักอิ่มท้อง แบ่งน้องอิ่มด้วย" ถึงพฤติกรรมการทานข้าวยากของเด็กว่า คุณพ่อ-คุณแม่ต้องมีความเข้าใจก่อนว่า พฤติกรรมการกินที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน มาจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ปัจจัยด้านครอบครัว เช่น การที่พ่อ-แม่เป็นต้นแบบการกินให้กับลูก การสร้างวินัยในการกิน อิทธิพลจากคนรอบข้าง ที่ตามใจให้เด็กกินไม่เป็นเวลา ปัจจัยด้านอาหาร เช่น รสชาติ ความหลากหลาย หน้าตาของอาหาร ปัจจัยจากเด็กเองก็มีส่วนด้วย เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยต้องการอาหารไม่เท่ากัน รวมไปถึงปัจจัยด้าน สิ่งแวดล้อมและสิ่งเร้าต่างๆ เช่น ทีวี. เกม ก็มีส่วนต่อพฤติกรรมการกินด้วย
          "ปัญหานี้จะส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็ก อันเป็นช่วง ที่สำคัญที่สุดของเด็กที่อยู่ในช่วงวัยแรกเกิด ถึง 7 ขวบ ที่เรียกว่า Gold Age เป็นเวลาทองที่จะส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้ได้ประสิทธิผลอย่างสูงสุด การทำความเข้าใจและลงมือแก้ไขปัญหาจึงสามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมไปตามวัยได้ แม้พ่อ-แม่ ผู้ปกครองอาจจะต้องใช้เวลาและความอดทนบ้าง แต่ก็จะส่งผลดี ต่ออนาคตของเด็กในวันข้างหน้า"
          นางกฤษฎี โพธิทัต นักกำหนดอาหารและที่ปรึกษาโภชนาการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่พ่อ-แม่จะตัดสินว่าลูกกินยากนั้น พ่อ-แม่ควรพิจารณาก่อนว่าพ่อ-แม่ได้ใช้เกณฑ์ตัวเอง ในการตัดสินหรือเปล่าว่าปริมาณที่ลูกกินยังน้อยไป เพราะความต้องการปริมาณอาหารของลูกกับพ่อ-แม่ไม่เท่ากัน หน้าที่ของ ผู้ปกครอง คือการจัดสรรอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ตามเวลาที่เหมาะสม จัดสรรพื้นที่ (Eating Atmosphere) ที่เอื้อต่อการทานอาหาร ดัดแปลงเมนูอาหาร เพื่อดึงดูดให้เด็กรับประทานได้ง่ายขึ้น และเป็นสารอาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสมด้วย ส่วนหน้าที่ของลูก คือ การรับประทานอาหารที่คุณพ่อ-คุณแม่ได้ตั้งใจทำไว้ให้
          นอกจากนี้ อิทธิพลจากคนรอบข้างที่ตามใจให้เด็กกินไม่เป็นเวลา ก็ทำให้เด็กมีพฤติกรรมการกินข้าวยากเช่นกัน เช่น มีการให้กินขนมได้ตลอดเวลา พ่อแม่ อาจแนะนำพร้อมให้เหตุผลกับปู่ ย่า ตา ยาย ว่าให้ตามใจเด็กให้น้อยลง ให้ของกินตรงตามเวลาที่ควรได้รับ และเลือกอาหารที่เหมาะสมให้ด้วย
          "พฤติกรรมเด็กกินข้าวยากไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้ หากพ่อ-แม่ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ มีวินัย มีความอดทน และจัดสรรอาหารที่หลากหลายให้ลูก รวมถึงให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกหรือ ทำอาหารด้วยตัวของเขาเอง ที่สำคัญ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย แล้ววันหนึ่งข้างหน้าเขาก็สามารถทานอาหารที่หลากหลายได้ และส่งผลดีต่อเขาในอนาคตแน่นอน" นางกฤษฎี กล่าวทิ้งท้าย
 

 pageview  1210912    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved