Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 16/03/2563 ]
ไทยวันเดียวพุ่งพรวด32รายติดเชื้อโควิด-19กักตัว77คนกลับจาก อิตาลี

 นายกฯเล็งเปิดรพ.เฉพาะกิจรักษาไวรัสมรณะถ้าเข้าเฟส3 'ธรรมนัส'ขอกักตัวเอง14วันหลังเข้าสักการะพระธาตุพนม
          สธ.แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มรวดเดียว 32 ราย พร้อมกักตัวคนไทยกลับจากอิตาลี 77 ราย นายกฯ เผยเตรียมเปิดโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะกิจรักษาโควิด-19 โดยเฉพาะ หากสถานการณ์เข้าสู่ระดับ 3 เปิดให้กลุ่มเสี่ยง ใช้สิทธิ์ตรวจรักษาฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลใน 72 ชม. ยอมรับหารือข้อเสนอปิดผับ-สถานบันเทิง แล้ว โฆษก สธ.ยืนยัน เจ็บป่วยจริงเข้าตรวจรักษาฟรีทุกโรงพยาบาล วุ่นทั้งเมือง! สั่งปิดพระธาตุพนม กักตัวพระ-เด็กวัด- ตำรวจ หลังเซียนมวยอัดคลิปยอมรับติดเชื้อ "สเปน- ฝรั่งเศส" ประกาศปิดประเทศ สกัดการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ ด้านองค์การสหประชาชาติสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำงานจากที่บ้าน
          เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ของโรคระบาดไวรัส โควิด-19 ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยใหม่ที่ยืนยันว่า ติดเชื้อทั้งหมด 32 ราย ด้วยกัน แบ่งออก เป็นผู้ติดจากสนามมวย คอนเฟิร์มเชื่อทั้งหมด 9 ราย กลุ่มที่มีการสัมผัสนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ในสุวรรณภูมิ 3 ราย นักท่องเที่ยว กลับจากต่างประเทศ 7 ราย ในจำนวนนี้ เป็นคนต่างชาติ ไม่สบายและมารักษา 2 ราย ข้าราชการไปดูงานที่สเปน ติด 1 ราย ผู้สัมผัสเจ้าของร้านอาหาร 2 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 3 ราย รวมผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด 32 ราย โดยยังมีผู้ป่วยที่รอยืนยันผล 51 ราย มีความสัมพันธ์ 6 กลุ่มดังกล่าว ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 114 ราย ระหว่างนี้ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยง การเดินทางไปในสถานที่แออัด ส่วนหน่วยงานราชการก็ขอให้งดการเดินทางไปต่างประเทศชั่วคราว โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีคนไทยที่เดินทางกลับจากอิตาลี จำนวน 80 กว่าคน มี 6 คน ส่งตัวเข้า โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวัง อีก 77 ราย ให้กักตัวที่สัตหีบ
          เตรียมมาตรการรองรับระยะ3
          เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า การมาประชุมในวันนี้เพราะมีความกังวล ว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร จึงมานั่งไล่ตรวจสอบกันในทุกหน่วยงานตามมาตรการที่ได้ประกาศออกไปแล้วว่าทำไปได้แค่ไหนอย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน รวมทั้งได้ทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่ทำลงไป ในที่ประชุมได้พูดคุยถึงการ เตรียมมาตรการรองรับหากสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต้องทำอะไร เตรียมการในส่วนใดบ้าง ฝ่ายความมั่นคงต้องไปพิจารณาว่าจะต้องใช้กฎหมายใดเพื่อเพิ่มเติมเป็นพิเศษ การประกาศนั้นง่ายอยู่แล้วแต่สิ่งสำคัญเราต้องมาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และเรื่องสุขภาพ ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น
          ขอปชช.อย่ากังวลมากเกินไป
          "ยอมรับว่าวันนี้ประชาชนเดือดร้อนเยอะ จึงอยากขอร้องว่าวันนี้ยังไม่ถึง ขั้นตอนที่จะต้องไปกักตุนอะไรนักหนา ผมคิดว่าอย่าไปกลัวถึงขนาดนั้นเลย วันนี้ เรามีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมา ทั้งในเรื่องการติดตามตัว การใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ กำลังพิจารณาดูว่าจะบังคับใช้กับทุกคนได้หรือไม่ เพราะบางครั้งก็ติดในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว" นายกฯกล่าว
          เล็งเปิดรพ.รักษาโควิด-19โดยเฉพาะ
          นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับเรื่อง โรงพยาบาลในอนาคตตนได้ให้แนวทางไปว่าควรจะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลที่เปิดเป็นศูนย์เฉพาะกิจในการรักษาพยาบาลโรคไวรัสโควิด-19 ถ้าสถานการณ์เข้าสู่ ระยะที่ 3 ซึ่งขณะนี้มีสถานที่แล้วเป็น โรงพยาบาลที่สร้างใหม่แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน มีประมาณ 100 เตียง จะใช้เป็นโรงพยาบาล ศูนย์เฉพาะกิจสำหรับโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ ถือเป็นมาตรการรองรับในอนาคต ในส่วน ของอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ก็ให้มีการ เสนอขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลพร้อมทุ่มสรรพกำลัง ในตรงนี้ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลสนับสนุน ทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของหน่วยงาน ภาครัฐจากมติของคณะกรรมการโรคระบาดแห่งชาติ
          หารือปมปิดผับ-สถานบันเทิงแล้ว
          ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอให้มีการปิดผับและสถานบันเทิงในพื้นที่เสี่ยง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในเรื่องของสถานบันเทิงได้มีการหารือแล้ว ขณะนี้กำลังดูว่าถ้าขอความร่วมมือได้ก็จะขอความร่วมมือ ในส่วนที่มีปัญหาอยู่ก็ต้องดูว่าเขาพร้อมที่จะปิดตัวเองหรือยัง และเมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้องปิดทั้งหมด แต่สิ่งนี้คืออีกขั้นตอนหนึ่ง เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเราทำช้าแต่ต้องคำนึงถึงหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นสนาม กีฬา สนามมวย ผับต่างๆ ขณะนี้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกำลังไปหารือกันว่าควรมีมาตรการอย่างไร เรื่องนี้เราต้องฟังจากหมอว่าจะควบคุมอย่างไร ไม่ใช่อะไรก็จะให้นายกฯ สั่งตาม ใครอยากได้อะไรตนจะต้องสั่ง ทำงานอย่างนี้ไม่ใช่ นับจากนี้ไปตนจะพูดให้น้อยลงก็แล้วกัน พูดเยอะเดี๋ยวกลายเป็นหมอตู่ไปอีก
          เปิดให้กลุ่มเสี่ยงตรวจรักษาฉุกเฉิน
          ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอให้ประชาชน สามารถตรวจเชื้อหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ฟรี เพื่อเป็นอีกวิธีในการป้องกันการแพร่ระบาด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ มีการเสนอแล้วโดยจะมีการใช้กฎหมายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ที่เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 โดยให้ผู้ป่วยในทุกสิทธิ์การรักษาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงแรก ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องให้หมอเป็นผู้อธิบาย ตนไม่ใช่หมอ
          สงสัยป่วยรักษาฟรีทุกโรงพยาบาล
          นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีหลายภาคส่วนมีเสียงสะท้อนว่าค่าตรวจโรคโควิด-19 มีราคาแพงจะมีมาตรการอย่างไรว่า ตามปกติหากใครก็ตาม มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ เป็นหวัดหรือน้ำมูกและประวัติเสี่ยง สามารถไปที่โรงพยาบาลที่แต่ละคนมีสิทธิ ซึ่งจะไปเองหรือให้เจ้าหน้าที่ไปรับก็ได้ โดยจะได้รับการตรวจและรักษาฟรีในทุกโรงพยาบาล เพราะทุกคนมีทั้งสิทธิของข้าราชการ สิทธิตามหลักประกันสุขภาพ หรือแม้แต่สิทธิประกันสังคม แต่มีหลักเกณฑ์จะต้องมีอาการป่วยและประวัติเสี่ยงสัมผัส รวมถึง นโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ ทุกที่" หรือ Universal Coverage Emergency Patient (UCEP) หากเจ็บป่วยภายใน 72 ชั่วโมงแรก สามารถเข้ารับการรักษาหรือช่วยชีวิตโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก ไม่ว่าจะในโรงพยาบาลไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่มีอาการแล้วไปโรงพยาบาลจะไม่สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ ดังนั้นต้องมีอาการหอบอย่างหนัก ต้องสงสัยว่าเป็นโควิด-19 สามารถเข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ โดยใช้สิทธิ UCEP
          วอนไม่ต้องไปตรวจหากไม่มีอาการ
          ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะมีการคัดกรองและซักประวัติ แต่หากไม่มีอาการป่วย ขอความกรุณา ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตรวจ เพราะตรวจไปก็ไม่มีประโยชน์ และเสียเงินด้วย ส่วนใหญ่ตรวจไปก็ไม่พบเชื้อ แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองมีประวัติเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่นสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว ก็ขอให้ติดต่อมายังกรมควบคุมโรค สายด่วน 1422 ได้ทันทีจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล วันนี้ผู้ป่วยที่ได้นับยืนยันในแต่ละราย เราทำงานเต็มที่ เราติดตามคนที่ใกล้ชิด 40-170 ราย แต่ไม่ใช่ว่าคนเหล่านี้ มีอาการแต่เป็นกลุ่มเสี่ยง
          ขออย่ากังวล-กำลังมีวัคซีนรักษา
          เมื่อถามว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ เข้าใกล้การระบาดในระยะที่ 3 แล้วแค่ไหน นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ตนไม่อยากให้มากังวลเรื่องระยะใดก็ตาม เพราะสิ่งสำคัญคือ เปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ป้องกันได้ เราต้องป้องกันตัวเอง และป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่คนอื่น ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โรคนี้มียารักษาและกำลังจะมีวัคซีน ซึ่งโดย ปกติเวลาเกิดการแพร่ระบาดของโรคสำคัญ เช่นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่โรคไข้หวัดใหญ่ระบาด เมื่อเกิดโรค เราจะเก็บเชื้อไปพัฒนาเป็นวัคซีน มันมีวิธีการทำโดยใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ก็จะได้วัคซีนออกมา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่วัคซีน แต่อยู่ที่ว่าโรคนี้แพร่ระบาดจากการไอหรือจามที่เป็นละอองฝอย ดังนั้นผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือ ซึ่งสิ่งสำคัญประชาชนต้องดูข้อมูลที่ถูกต้อง อย่าเพิ่งแชร์หรือทำอะไรก็ตาม ขอให้เช็คข้อมูลให้ถูกต้องก่อน
          มท.1ตั้งผู้ว่าฯเป็นพนง.ควบคุมโรค
          พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงมหาดไทย(มท.) ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการ ทุกจังหวัดโดยมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉบับที่ 3 และฉบับที่ 4 ว่า โรคไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะกำหนดจากศูนย์กลางแล้วส่งไป จึงอยากสร้างความเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน คำสั่งที่ออกไปลงไปยังตำบล 7,000 กว่าแห่ง ต้องรับลูกจากส่วนกลาง ทั้งสาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขตำบล อำเภอ จังหวัด อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งต้องซักซ้อมช่วยดำเนินการให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถ้ามีอะไรจะต้องปรับ ก็ต้องช่วยกัน ทั้งนี้ ขอสื่อมวลชนช่วยสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจว่าอยู่ในขั้นที่ตนคิดว่าเรียบร้อย เมื่อถามถึงกรณีประชาชนเริ่มกักตุนสินค้า พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ถ้าพูดไปจะเป็นประเด็น ขอให้ถามกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดีกว่า
          กองทัพไทยสั่งยกระดับสกัดโรค
          พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.) สั่งให้หน่วยขึ้นตรงของกองบัญชาการกองทัพไทยทุกหน่วย ยกระดับมาตรการในการควบคุมสถานการณ์ของโรคโควิด-19 โดยกำหนดให้กำลังพลทุกระดับ เฝ้าระวังโรคฯ ดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในกองบัญชาการกองทัพไทย โดยให้กำลังพลทุกนายปฏิบัติตนใน 2 ประเด็นหลักอย่างเคร่งครัด ได้แก่ 1.ความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว โดยการงดเดินทางไปยังต่างประเทศ หรือการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่แออัด งดการสังสรรค์ สมาคมร่วมกับคนหมู่มาก หากเกิดอาการป่วยหรือสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง จะต้องปฏิบัติตนตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่เป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด 2.หากมีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงขอให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และรายงานให้หน่วยต้นสังกัดทราบทันที
          เจ้ากรมสวัสดิการอยู่ระหว่างวินิจฉัย
          พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ตามที่มีปรากฏข่าวสารว่ากระทรวงสาธารณสุขประกาศผู้ติดเชื้อโควิด-19 และหนึ่งใน ผู้ป่วยติดเชื้อได้เข้าไปร่วมกิจกรรมที่สนามมวย ลุมพินี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ต่อมามีการให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยในโรงพยาบาล โดยหนึ่งในบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัยและ กักบริเวณตนเองคือ พล.ต.ราชิต อรุณวงษ์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ขณะนี้อยู่ใน ระหว่างการวินิจฉัยของทีมแพทย์ว่าจะเข้าข่าย เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ส่วนครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดก็ได้ดำเนินตามมาตรการตรวจคัดกรองและกักตัวเอง 14 วัน เพื่อสังเกตอาการแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาและล่าสุดกองทัพบกได้ดำเนินการตามมาตรการกำจัดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดในทุกสถานที่ที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะการทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามสถานที่ เป้าหมายแล้ว
          ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์ไปหา พล.ต.ราชิต เพื่อสอบถามอาการและ ข้อเท็จจริงแล้ว แต่ พล.ต.ราชิตไม่รับสาย
          'บิ๊กแดง'ยันสบายดี-ไม่ได้ป่วย
          ส่วนกรณีมีกระแสในโลกออนไลน์พาดพิงถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่าอาจจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยนั้น ล่าสุดจากการสอบถามบุคคลใกล้ชิดยืนยันว่า พล.อ.อภิรัชต์ยังคงแข็งแรงสบายดี และไม่ได้มีอาการป่วยแต่อย่างใด พร้อมทั้งพักผ่อนอยู่ที่บ้านพักส่วนตัว
          สั่ง2ด.ต.กักตัวดูอาการ15วัน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีตำรวจภูธรอำเภอธาตุพนม ออกหนังสือคำสั่ง ที่ 93/2563 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2563 ให้ ตำรวจยศ ด.ต.จำนวน 2 นาย พร้อม คนในครอบครัว กักตัวเองในบ้านพัก เพื่อเฝ้าดูอาการ เป็นเวลา 15 วัน และประสานแพทย์ พยาบาลเข้าตรวจดูอาการ หลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊ค ชื่อ "นราธิเบต ทองดำ" หรือ "เบส เชียงใหม่" หัวหน้าค่ายมวยชื่อดัง ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอ ในสื่อออนไลน์ว่า ติดเชื้อโควิด-19 โดย อ้างว่าเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ได้เดินทางมา สักการะองค์พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร ก่อนกลับเข้ากรุงเทพฯ ต่อมา มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้ จึงไป พบแพทย์มีผลตรวจเบื้องต้น เข้าข่ายติดเชื้อ โควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม ผลตรวจของ นายตำรวจ 2 นาย ไม่พบว่ามีไข้ แต่ก็ต้อง เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
          ปิดพระธาตุพนมกักตัวพระสงฆ์
          ผู้สื่อข่าวรายงานไทม์ไลน์ที่นายนราธิเบต เดินทางมาที่จังหวัดนครพนม ทราบว่า แวะร้านอาหาร 2 แห่ง กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 2 แห่ง และนอนพักในโรงแรมอีก 1 แห่ง ขณะที่วัดพระธาตุพนมได้มีคำสั่งให้ปิดบริเวณพื้นที่ชั้นใน ห้ามผู้ใดเข้าไปโดยเด็ดขาด ซึ่งทางคณะแพทย์ พยาบาล จะลงไปทำ ความสะอาดฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่ระบาด ให้พระภิกษุสงฆ์ และเด็กวัดที่นำคณะเข้าภายในพระธาตุพนม กักตัว 14 วัน
          เผย'ธรรมนัส'เข้าไปในพระธาตุ
          นอกจากนี้แล้ว ปรากฏว่าเมื่อ 12 มีนาคม ก็มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 23 ประจำปี 2563 จากนั้นก็ได้เข้าไปภายในองค์พระธาตุพนม พร้อมกับคณะผู้ติดตาม ซึ่ง อาจมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้เช่นกัน
          รอผลตรวจ-กักตัวเอง14วัน
          ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากคนใกล้ชิด ของ ร.อ.ธรรมนัส แจ้งว่า ร.อ.ธรรมนัส ได้ไปตรวจหาเชื้อไวรัสดังกล่าวที่ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หลังเข้าสักการะ องค์พระธาตุพนม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม และขอยืนยันว่าแม้ไม่พบเชื้อ ร.อ.ธรรมนัส ก็จะกักตัวเอง 14 วัน ไม่เดินทางไปที่ไหน และต้องลาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ โดยเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และเป็น ตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนของผู้มีความเสี่ยง ส่วนคณะทำงานของ ร.อ.ธรรมนัสได้ไป ตรวจเชื้อโรคโควิด-19 แล้วเช่นกัน โดย ทุกคนจะกักตัวเอง 14 วัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อบุคคล และเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
          'สเปน-ฝรั่งเศส'สั่งปิดประเทศแล้ว
          สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สเปนและฝรั่งเศสเป็น 2 ประเทศ ล่าสุดที่ประกาศใช้นโยบายปิดประเทศ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสเปนอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดหนักเป็นอันดับ 2 รองจากอิตาลี ทำให้รัฐบาล มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ให้ประชาชน 47 ล้านคน ต้องกักบริเวณตนเองอยู่แต่ในที่พัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประกาศมาตรการฉุกเฉินเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดเป็นเวลา 15 วัน โดยชาวสเปน ทุกคนจะต้องอยู่ภายในบ้านพัก เว้นแต่ ออกมาซื้อยา อาหาร ไปทำงาน ไปโรงพยาบาล หรือมีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น
          หลังการประกาศปิดประเทศสเปนเพียงไม่นานก็มีรายงานข่าวยืนยันว่า นางมารีอา ซานเชส ภริยานายกรัฐมนตรีสเปน ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19
          ชาวเมืองน้ำหอมออกดื่มจนล้นบาร์
          ส่วนที่ฝรั่งเศส ประชากร 67 ล้านคน ก็ถูกสั่งให้กักบริเวณอยู่ภายในบ้านพัก ขณะที่ร้านค้าต่างๆ ที่ไม่จำเป็น รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ก็ถูกสั่งระงับเช่นกัน หลังจากปริมาณผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ในเวลา 72 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสยืนยันว่า ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้คน อย่างไรก็ตาม หลังคำประกาศดังกล่าว ปรากฏว่าบาร์หลายแห่งกลับเต็มไปด้วยผู้คน หรือมีผู้คนออกมาใช้บริการมากขึ้น แม้รัฐบาลจะมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงสถานที่ ที่มีผู้คนออกมาชุมนุมกันก็ตาม
          ยูเอ็นให้จนท.นิวยอร์กทำงานที่บ้าน
          ส่วนที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของเลขาธิการใหญ่ คือนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ให้เจ้าหน้าที่การทูตทั้งหมดประจำสำนักงานใหญ่ของยูเอ็น ซึ่งตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก ในสหรัฐ ทำงานอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ เนื่องจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ภารกิจของยูเอ็นเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บุคคลใดต้องเดินทางมายังอาคารสำนักงานใหญ่ของยูเอ็น ขอให้เป็นการเข้าสู่พื้นที่ "เฉพาะมีกิจจำเป็นเท่านั้น" เนื่องจากยูเอ็นต้องการลดการสัมผัสและการใกล้ชิดระหว่างบุคคลในพื้นที่ให้เหลือน้อยที่สุด ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของยูเอ็นที่นครนิวยอร์กมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3,000 คน เป็นตัวแทนจากรัฐสมาชิกทั้ง 193 แห่ง
          ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าว มีขึ้นหลังสำนักงานคณะผู้แทนถาวรของฟิลิปปินส์ประจำยูเอ็น ยืนยันการมีนักการทูตคนหนึ่งติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นับเป็นบุคลากรสังกัดสำนักงานใหญ่ยูเอ็นคนแรก ซึ่งล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าการล้มป่วยของนักการทูตคนนี้รวมอยู่ในสถิติผู้ติดเชื้อสะสมของรัฐนิวยอร์กหรือไม่ ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 613 คน และเสียชีวิตแล้ว 2 คน
          ปิดสำนักงานเจนีวา-ระงับประชุม
          ในเวลาเดียวกัน สำนักงานของยูเอ็นที่เมืองเจนีวา ทางตะวันตกของ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากนานาประเทศปฏิบัติงานอยู่รวมกันประมาณ 1,600 คน ปิดสำนักงานและให้เจ้าหน้าที่ทำงานจากที่บ้านชั่วคราวเช่นกัน หลังมีรายงานเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ติดเชื้อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ส่วนหน่วยงานอีกหลายแห่งซึ่งมีสำนักงานอยู่ใกล้เคียงกับสำนักงานของยูเอ็นในเมือง เจนีวา อาทิ องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ระงับประชุมจนถึงวันที่ 20 มีนาคม
          สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในช่วงค่ำวันที่ 15 มีนาคม 2563 มียอดผู้ติดเชื้อ รวม 157,372 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 5,844 ราย

 pageview  1210937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved