Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 08/05/2563 ]
ศบค.ผ่อนปรนระยะที่2คลายล็อก17พค. เปิดห้าง-กิจการขนาดใหญ่

 บิ๊กตู่จี้คุมเข้มเส้นทางสัญจรรักษาระยะห่าง-วัดไข้-ใส่แมสป่วยโควิดเพิ่มแค่3/ไม่มีตาย
          ยืนหลักเดียวต่อเนื่อง ไทยพบติดเชื้อใหม่ 3 ราย ไม่มีตายเพิ่ม เหลือรักษาตัวในรพ. 165 คน นายกฯนั่งหัวโต๊ะ ถกศบค. สั่งคุมเข้มทุกช่องทางเข้า-ออก สกัดนำเชื้อเข้าประเทศ เฝ้าระวังสถานที่กักตัวของรัฐ คุมเข้ม การใช้รถสาธารณะ เรือ รวมถึงรถไฟฟ้า เคร่งครัดมาตรการ เว้นระยะห่าง สมช.ชงไทม์ไลน์คลายล็อก ระยะที่ 2 ดีเดย์ 17 พฤษภาคม ผ่อนปรนห้าง กิจการขนาดใหญ่ กิจการสำคัญต่อการดำรงชีวิต สธ.ตั้งเป้าค้นหา ผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ แรงงานผิดกฎหมาย คนขับรถ พนักงานไปรษณีย์ ให้ได้ 4 แสนราย
          เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) เป็นประธานประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.)เต็มคณะ เพื่อประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และพิจารณาแนวทางผ่อนปรนระยะที่ 2
          บิ๊กตู่ย้ำอย่าประมาทเข้มสกัดโรค
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯกล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า หลังขยายเวลา ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากแก้ปัญหาแพร่ระบาดของโรคแล้ว ต้องคำนึงถึงการปรับตัวรับกระแสเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ถือว่าตอนนี้เป็นช่วงปรับตัว ซึ่งตนได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาที่มีคณะกรรมการครอบคลุมทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข ความมั่นคง และพอใจมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ผู้ติดเชื้อลดน้อยลง แต่อย่าประมาทต้องปฏิบัติตัวตามมาตรฐานป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการทำงานของรัฐบาล ที่ยังมีงานและปัญหาต้องแก้ไขต่อไป
          จี้แก้ปัญหาผู้โดยสารแน่นรถไฟฟ้า
          นอกจากนี้ นายกฯยังมอบแนวทางดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านระยะต่างๆ  ให้เน้นผลกระทบทุกภาคส่วน แม้สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แต่การดำเนินการยังต้อง เข้มงวด เน้นเชิงรุก ให้ควบคุมดูแลการ เดินทางเข้า-ออก ประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ผู้เดินทางต้องผ่านมาตรการ State Quarantine และมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด อีกทั้ง ยังสั่งให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาระหว่างผ่อนปรนมาตรการ เช่น ความหนาแน่นของผู้โดยสารบนรถไฟฟ้า BTS   พร้อมย้ำว่าการผ่อนปรนจะค่อยๆ ผ่อนคลาย พร้อมกับมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม และมีแผนฉุกเฉินรองรับ นายกฯยังสรุปสั่งการให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงความสมดุล และสร้างความเชื่อมั่น โดยให้ร่วมพิจารณาว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดำเนินมาตรการอย่างไร ต้องช่วยเหลือ เยียวยา และย้ำให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจให้ ตรงกัน ผ่านชุดข้อมูลเดียวกันเพื่อป้องกันการบิดเบือน และไม่ให้เกิดความสับสนในสังคม
          กทม.สั่งBTSเพิ่มจนท.จำกัดผู้โดยสาร
          ด้านกระทรวงมหาดไทยรายงานมาตรการป้องกันช่วยเหลือประชาชนว่า ยังเข้มข้น โดยสั่งทุกจังหวัด และกทม.ดำเนินตามข้อกำหนดฯ ให้กำกับติดตามสถานประกอบการ พนักงาน และผู้ใช้บริการว่าปฏิบัติตามมาตรการที่ศบค.กำหนด ได้แก่ ทำความสะอาดพื้นที่ จุดล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่าง ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด กรณีพิจารณาสั่งปิดสถานประกอบการให้ทำตามข้อกำหนดฯ กรณีจะออกคำสั่งปิดสถานที่เพิ่มให้รายงานศบค. และกระทรวงมหาดไทยก่อน และปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้านกรุงเทพมหานครรายงาน การปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรน โดยตรวจ ตักเตือนผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กรณีรถไฟฟ้า BTS ได้สั่งให้กำหนดเจ้าหน้าที่ประจำสถานีให้มากขึ้น เพื่อตรวจจำนวนประชาชนไม่ให้แออัด และคนจำหน่ายตั๋ว
          กำชับกต.ยืดหยุ่นตัวเลขคนไทยกลับปท.
          กระทรวงการต่างประเทศ รายงานจำนวนคนไทยแสดงความจำนงกลับประเทศ มี 45,147 คน แบ่งเป็น ทางบก 25,660 คน ทางอากาศ 19,487 คน ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณานำบุคคลกลับประเทศตามลำดับคือ กรณีด่วนที่สุด ได้แก่ กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้ตกค้างสนามบิน วีซ่าหมดอายุ นักท่องเที่ยวตกค้าง กรณีนำกลับด่วนมาก ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ นักเรียน นักศึกษา คนตกงาน ทั้งนี้ จะพิจารณาผ่านองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ความยากลำบากของพื้นที่ ระบบสาธารณสุข รวมทั้งความเสี่ยงในพื้นที่ ในประเด็นนี้ นายกฯกำชับให้ยืดหยุ่นจำนวนตัวเลขประชาชนที่เข้ามาในประเทศ เพื่อให้คนไทยที่ติดค้างในต่างประเทศได้รับผลกระทบ น้อยที่สุด
          เข้มมาตรการสกัดโควิดทุกเส้นทาง
          นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกฯมอบให้กระทรวงคมนาคมลงพื้นติดตามสถานการณ์ จัดระเบียบเรือโดยสารในคลองแสนแสบ กำชับป้องกันแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ตลอดเส้นทางการเดินทาง สืบเนื่องจากกรมเจ้าท่า รายงานสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์ จำนวนผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยสัปดาห์นี้มีผู้โดยสารมากขึ้นประมาณ 10,000 คนต่อวัน กระทรวง คมนาคมจึงเพิ่มมาตรการ อย่างเพิ่มเที่ยวเรือเต็มพิกัดจากเดิม 40 ลำ เป็น 60 ลำ มีระยะรอคอย 3-5 นาทีต่อเที่ยว ทำเครื่องหมายจุดยืนบนเรือและท่าเรือเว้นระยะห่างทางสังคม ที่นั่งจำกัดระยะห่างไว้ไม่น้อยกว่า 1 เมตร ถ้าพบมีผู้โดยสารหนาแน่นให้ เจ้าหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ทันที นอกจากนี้ ยังเข้มงวดตรวจคัดกรองวัดไข้ สวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รักษาระยะ ห่างทางสังคม นายกฯกำชับหน่วยงานที่กำกับดูแล ให้ตรวจสอบเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนเดินทางถึงที่หมายได้อย่างสะดวก ปลอดภัยทุกการเดินทางไม่ว่าทางเรือ ทางรถขนส่งสาธารณะ รวมถึงรถไฟฟ้า
          พบป่วยเพิ่ม3ไม่มีตายหาย2.7พัน
          ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันว่า พบ ผู้ป่วยใหม่ 3 ราย ในจำนวนนี้ 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 59 ปี อาชีพแม่บ้าน มาจากการค้นหาเชิงรุกใน จ.ยะลา โดยสัมผัส ผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ที่กลับมาจากมาเลเซีย ส่วนอีก 2 ราย เป็นชายไทย อายุ 46 ปี กับชายไทยอายุ 51 ปี อาชีพรับจ้าง กลับมาจากคาซัคสถานเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม และอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ โดยมีผู้โดยสารในเครื่องบินลำเดียวกัน 55 คน ขณะนี้อยู่ในการดูแลทั้งหมด ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 2,992 ราย หายป่วยสะสม 2,772 ราย อยู่ระหว่างรักษา 165 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เพิ่ม เสียชีวิตสะสม 55 คน
          สั่งคุมเข้มช่องทางเข้า-ออกปท.
          นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่นายกฯเป็นประธาน ในฐานะผอ.ศบค. ได้มอบแนวทางทำงาน ขอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านเฟสต่างๆ ลดผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมขอบคุณทุกกำลังใจที่มีส่วนทำให้เกิดความสำเร็จ สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แต่ยังต้องดำเนินการเชิงรุก เข้มงวดการเข้า-ออกประเทศตามช่องทางต่างๆ ไม่ให้นำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา และยังให้ความสำคัญกับสถานที่กักตัวของรัฐ ขอให้ป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดต่อไป อีกทั้ง ยังกำชับให้หน่วยงานต่างๆ ห้ามละเลย ต้องไปตรวจสถานที่ที่ได้รับการผ่อนปรนให้เป็นไปตามข้อกำหนด นอกจากนี้ ยังสั่งให้ศบค.ติดตามผลกระทบจากมาตรการผ่อนคลาย
          ตึงมาตรการในปท.ปิดทางเชื้อจากตปท.
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เสนอให้คงมาตรการในประเทศให้เข้มข้นและตรึงการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศให้ได้ เพราะจะทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ อยู่ที่เลขตัวเดียวและดีขึ้นกว่านี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งผอ.ศบค.ได้มีข้อชี้แนะให้หามาตรการและแนวทางเฉพาะของกิจการ กิจกรรม เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากจนเกิดความแออัดว่า ต้องมีแนวทางแก้ไข หากรถเสีย ขายตั๋วให้เหมาะกับสถานการณ์ พร้อมสั่งให้ 20 กระทรวงประชาสัมพันธ์ภารกิจของตัวเองที่เชื่อมโยงกับ ศบค.ด้วย
          หนุนเหลื่อมเวลาทำงาน-จ่อยืดปิดเทอม
          "ที่ประชุมเห็นตรงกันเรื่องการเหลื่อมเวลาทำงานของหน่วยราชการ ให้เหลื่อมเวลาหลายช่วง โดยให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปดูว่าจะทำให้เหลื่อมเวลามากขึ้นได้หรือไม่ ส่วนการทำงานที่บ้าน ซึ่งเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด 50% หรือมากกว่านั้น เพื่อช่วย ลดการเคลื่อนย้ายคน รวมถึงสั่งให้หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รายงานผลทำงาน เหลื่อมเวลาและการทำงานที่บ้านเข้ามา ขณะที่ สถานศึกษาเตรียมขยายช่วงเวลาของการเปิดเรียนออกไป จะนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน"นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          17พค.เปิดเฟส2ผ่อนกิจการขนาดใหญ่
          และว่า ในที่ประชุม เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้พูดไทม์ไลน์การผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยตารางเวลาคร่าวๆ ช่วงวันที่ 8-12 พฤษภาคม เป็นช่วงรับฟังความคิดเห็น ดูชุดข้อมูล สถิติ สถานการณ์ และความเห็น จากนั้นวันที่ 13 พฤษภาคม จะซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการ วันที่ 14 พฤษภาคม จะยกร่างมาตรการผ่อนปรนระยะ ที่ 2 เสนอนายกฯ ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไร ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ไม่ทะลุขึ้นแบบผิดปกตินั้น วันที่ 17 พฤษภาคม จะเริ่มออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 แต่กว่าจะถึงวันที่ 17 พฤษภาคม เราต้องช่วยกัน เพื่อให้อีก 10 วัน ข้างหน้าเราจะได้เข้าสู่มาตรการระยะที่ 2 เป็น การผ่อนปรนกิจการขนาดใหญ่ และกิจการที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต  เมื่อผ่อนปรนระยะที่ 1 แล้วไม่ทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ระยะที่ 2 ต้องเกิดขึ้นแน่นอน จึงต้องทำวันนี้ให้ดี  จึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคน
          ตั้งเป้าค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก4แสนราย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า อธิบดีกรมควบคุมโรคเสนอเป้าหมายค้นหาผู้ติดเชื้อในประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยตั้งเป้าตรวจให้ได้ 6,000 รายต่อ 1 ล้านประชากร หรือประมาณ 400,000 ราย ขณะนี้ตรวจไปแล้วประมาณ 230,000 ราย เหลืออีก 170,000 ราย โดยจะ ตรวจในกลุ่มที่มีการขยายเกณฑ์ เช่น มีไข้ มีอาการคล้ายหวัด จมูกไม่ได้กลิ่น 85,000 ราย และอีก 85,000 ราย จะไปหาในประชากรกลุ่มเสี่ยงคือ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขัง แรกรับ  แรงงานผิดกฎหมายที่อยู่ในสถานที่ กักคนขับรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ พนักงานขนส่งสินค้า แรงงานต่างด้าว และอาชีพเสี่ยงต่างๆ โดยจะไปสุ่มตัวอย่างกระจายในทั่วประเทศ ทฤษฎีนี้ได้ผลกว่าการตรวจแบบหว่านแห
          สั่งลงทุนศึกษาวัคซีนร่วมอาเซียน
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เสนอที่ประชุมว่าสถานการณ์การติดเชื้อในหลายประเทศดีขึ้น ควรปรับรายชื่อ ประเทศที่ถูกประกาศเป็นเขตโรคติดต่ออันตราย เพื่อให้ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ สังคมใกล้ชิดขึ้น โดยนายกฯและที่ประชุมเห็นชอบ แต่ต้องดำเนินการ ให้เป็นไปตามขั้นตอน  การเดินทางเข้าประเทศต้องดำเนินตามมาตรการที่ยังเข้มข้นอยู่ นอกจากนี้ นายกฯยังเพิ่มเติมเรื่องการลงทุนเพื่อศึกษาวัคซีนร่วมกันในกลุ่มอาเซียน ให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน
          ไม่พบป่วยรอบ28วัน มากถึง39จว.
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,992 ราย โดยการแยกจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันรายใหม่จำแนกตามระยะเวลารายงาน แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 สีส้มอ่อน มีรายงาน ผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมามี 29 จังหวัด ได้แก่ กทม. ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พะเยา เลย ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี
          กลุ่มที่ 2 สีเหลืองอ่อน ไม่มีรายงาน ผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมา มี 39 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี และ ตรัง และกลุ่มที่ 3 สีเขียว ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อนมี 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง กำแพงเพชร น่าน พิจิตร บึงกาฬ ระนอง และสตูล (เป็นผู้ที่อยู่ในสถานที่รัฐบาลจัดไว้ State Quarantine)
          "ในกลุ่มที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วัน ที่ผ่านมา 29 จังหวัดก็อยากให้ลดลงเรื่อยๆ ในกลุ่มสีส้ม ต้องขอชมภาคเหนือที่เหลืออยู่ 2 จังหวัด คือ นครสวรรค์ พะเยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหลืออยู่ 4 จังหวัด คือ เลย ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา และกลุ่มสีเขียว 9 จังหวัดยังเหนียวแน่นอยู่" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 pageview  1210930    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved