Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 25/08/2563 ]
สธ.ยันคุมเข้มกาตาร์ป่วยมะเร็งติดโควิดเข้าไทยผ่านระบบตรวจเชื้อ-กักตัว14วัน

ศบค. เผยสถานการณ์โควิด-19 ในไทย พบผู้ป่วย 2 ราย เป็นนศ.ไทยกลับจากอินเดีย พักในสถานที่กักตัวของรัฐ อีกรายเป็นชายชาวกาตาร์วัย 71 ปี เข้ามารักษามะเร็งตับถูกตรวจ พบเชื้อในรอบที่ 3 สธ.แจงยิบชายชาวกาตาร์ผ่านระบบตรวจเชื้อก่อนเข้าประเทศ มาถึงคุมเข้มตั้งแต่ลงเครื่องบินจนเข้ากักตัวใน รพ.ที่รักษา 100% และต้องให้ครบ 14 วันรวมถึงผู้ติดตาม เล็งทบทวนมาตรฐานแล็บ เผยจ่อคิวเข้าไทยอีก 673 คน
          เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันว่า พบผู้ป่วย ยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย เป็นผู้ที่เดินทาง มาจากต่างประเทศ และเข้าพักใน State Quarantine เป็นนักศึกษาชายไทยวัย 35 มาจากอินเดีย  อีกรายเป็นชายวัย 71 สัญชาติ กาตาร์ อาชีพรับจ้าง เข้ามารักษามะเร็งตับในไทย ส่วนในประเทศยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง
          ไทยติดเชื้อเพิ่ม2มาจากอินเดีย-กาตาร์
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยยืนยันสะสมของไทยล่าสุดอยู่ที่ 3,397 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และตรวจพบในสถานที่กักกันที่ รัฐจัดให้ 460 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้ว รวม 3,222 ราย ส่วนผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัว อยู่ในโรงพยาบาล 117 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
          สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 2 คน คนแรก เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 35 ปี กลับจากอินเดีย เดินทางมาถึงไทยวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา เที่ยวบินเดียวกับ ผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 20 คนเข้าพัก State Quarantine ในกรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 3 วันที่ 21 สิงหาคม นี้ ผลตรวจพบเชื้อ ให้ประวัติเคยมี อาการป่วย และอยู่ระหว่างสอบสวน
          เร่งสอบชายกาตาร์มารักษามะเร็งติดเชื้อ
          ส่วนคนที่ 2 เป็นชายสัญชาติกาตาร์ อายุ 71 ปี เดินทางจากกาตาร์ ถึงไทยวันที่ 22 สิงหาคม  เข้าพัก Alternative Hospital Quarantine (AHQ) ที่ โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 22 สิงหาคม ผลตรวจพบเชื้อ ผู้ป่วยมีเดินทางเข้ามารักษาโรคมะเร็งตับต่อเนื่อง โดยเดินทางมาพร้อมลูกชาย ผลตรวจก่อนเดินทางไม่พบเชื้อทั้ง 2 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม
          นอกจากนี้ ยังพบว่าจากตัวเลขคนไทย และชาวต่างชาติที่เดินทางจากกาตาร์ เข้าไทยมาทั้งหมด 654 คน พบติดเชื้อ ไวรัสโควิด-19 แล้ว 16 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 3.26 ส่วนคนไทยและชาวต่างชาติ เดินทางจากอินเดีย 3,286 คน พบป่วยแล้ว 47 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10
          สธ.แจงปมกาตาร์ยันผ่านตรวจเชื้อแล้ว
          ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงถึงกรณีมีชายชาวกาตาร์ที่เข้ามารักษาโรคมะเร็งตับในไทย แต่ตรวจพบโควิด-19 ว่า การรับคนต่างชาติมารักษาโรคเรื้อรังในไทยนั้นกำหนดว่าต้องตรวจแล็บหาเชื้อใน 72 ชั่วโมง หากปลอดเชื้อถึงให้เข้าไทย ซึ่งรายดังกล่าวได้ตรวจแล็บใน 72 ชม. ซึ่งไม่เจอเชื้อ แต่เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อ วันที่ 22 สิงหาคม ได้ตรวจสอบซ้ำ ถึงเจอ ขณะนี้ไม่แสดงอาการของไวรัสโควิด ส่วน ผู้ติดตามเป็นคนใกล้ชิดในครอบครัว ก็ตรวจสอบหาเชื้อในห้องปฏิบัติการแล้ว ไม่เจอเชื้อไวรัสโควิดแต่อย่างใด ทั้งนี้ จะเห็นว่าการดำเนินการนั้นมีลักษณะคล้ายสถานที่กักกันตัวของรัฐ ที่เรารับคนไทยกลับมา บางคนตรวจครั้งแรกไม่เจอเชื้อ แต่มาเจอในครั้งหลังๆ ขึ้นอยู่กับ หลายปัจจัย ทั้งระยะฟักตัวของโรค โดยการเจอครั้งนี้ เป็นเคสที่ 2 ส่วนรายแรกที่เข้ามารักษาโรคเรื้อรังแล้วตรวจเจอโควิดภายหลังคือ ชาวบังกลาเทศ
          คุมเข้มตั้งแต่สนามบิน-เล็งรื้อมาตรฐานแล็บ
          นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า ระบบที่เราทำคือ คนไข้เข้ามาจะอยู่ในระบบปิด มีรถ ไปรับตั้งแต่สนามบิน และกักตัวในรพ.ตลอด ดังนั้น แม้ตรวจเจอเชื้อ ถือว่าอยู่ในการควบคุมดูแล ขณะนี้กองระบาดวิทยาได้สอบสวนโรคเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ เพื่อให้ระบบปลอดภัยมากที่สุด ยืนยันระบบปัจจุบันสามารถจับเชื้อได้ ผู้ป่วยอยู่ในระบบปิด 100% ไม่มีผลกระทบต่อ ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวสิ่งที่ต้องทบทวน คือ เดิมที่เราเปิดให้ประเทศเสี่ยงต่ำเข้ามาได้ แต่จากนี้อาจต้องทบทวนประเทศที่จะอนุญาตให้เข้ามารักษาโรคเรื้อรัง พร้อมดูเรื่องมาตรฐานการตรวจแล็บด้วย วันนี้การที่เราพบถือว่าน้อย และตอนเข้าผลตรวจก็เป็นลบ ตรงกับแนวทางของประเทศคือ ไม่ใช่การเอาคนที่มีเชื้ออยู่แล้วเข้ามาในประเทศ
          ยันกักตัว14วันในรพ.ที่มารักษาทุกคน
          "การเปิดให้คนต่างชาติ เข้ามารักษาโรคประจำตัว ที่ไม่ใช่รักษาโควิด พร้อม ผู้ติดตามไม่เกิน 3 คนนั้น ต้องตรวจแล็บด้วยวิธี RT-PCR ใน 72 ชม.ไม่มีติดเชื้อ ถึงจะให้เข้ามาในไทย เมื่อเข้ามาแล้วต้องตรวจแล็บอีก 3 ครั้ง ต้องมีหลักฐานทางการเงินที่แสดงความพร้อมจ่ายค่ารักษา มีกรมธรรม์ เมื่อเข้ามาแล้วทุกคน ต้องกักตัวในรพ.ดังกล่าว 14 วัน ถึงแม้จะรักษาโรคเรื้อรังเสร็จก่อนครบ 14 วัน แต่ก็ต้องอยู่รพ.จนครบตามาตรฐาน 14 วัน หากฝ่าฝืนมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541" นพ.ธเรศกล่าว
          ตปท.จ่อคิวเข้ามาอีก673ราย
          และว่า ตั้งแต่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามา ปลายเดือนกรกฎาคม มีคนต่างชาติ เข้ามาแล้ว 166 ราย เป็นผู้ป่วย 90 ราย ผู้ติดตาม 76 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน อาเซียน และอาหรับ เข้ามารักษาโรคเรื้อรัง เบาหวาน มะเร็ง กล้ามเนื้อ โรคข้อกระดูก รวมถึงรักษาโรคมีบุตรยาก สำหรับวันที่ 24 สิงหาคม จะเข้ามาอีก 3 ราย ส่วนคน ที่ทำเรื่องขอเข้ามาตอนนี้เป็นผู้ป่วย 432 ราย ผู้ติดตาม 250 ราย รวมเป็น 673 ราย สำหรับเข้ามารักษาที่คลินิกนั้น ต้องจับคู่กับ รพ. เพื่อให้เป็นสถานที่กักตัว 14 วันด้วย
          นายกฯยันไทยพร้อมเป็นฐานวิจัยวัคซีน
          ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่วมประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีผู้นำ 6 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมว่า นายกฯกล่าวตอนหนึ่ง ถึงการสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า สาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญและมีความพร้อม 4 สาขา ได้แก่ 1.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ขยายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขง 2.ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ไทยได้รับการยอมรับว่าจัดการ และควบคุมสถานการณ์โควิด-19 เป็นผลจากความร่วมมือ ของประชาชน และนโยบายด้านสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับความพร้อมบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ ความสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยา ตลอดจนความพร้อมเมื่อเจอภาวะวิกฤติ ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกับนานาชาติภายใต้กรอบ WHO โดยจะเร่งพัฒนาขีดความสามารถของไทยในการเป็นฐานการผลิตยาและวัคซีนของอนุภูมิภาค รวมทั้งเห็นพ้องกับประเทศสมาชิกว่า เมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จประชาชนทุกภาคส่วนควรจะสามารถเข้าถึงได้ และ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19
          โควิดโลกตายพุ่ง8.1แสน-ติดเชื้อ23.6ล้านคน
          วันเดียวกัน เว็บไซต์ worldometers.info รายงานสถานการณ์ระบาดทั่วโลกใน 213 ประเทศพบผู้ป่วยสะสม 23,612,676 ราย เสียชีวิตรวม 812,987 ราย รักษาหาย รวม 16,103,435 ราย ไทยอยู่อันดับที่ 118 โดยประเทศที่มีผู้ป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดยังเป็น สหรัฐ มีผู้ป่วย 5,874,295 ราย เสียชีวิตสะสม 180,605 ราย บราซิล อันดับที่ 2 มีคนป่วย 3,605,783 ราย เสียชีวิต 114,772 ราย อินเดีย อันดับ 3 ป่วยสะสม 3,110,761 ราย เสียชีวิตสะสม 57,715 ราย รัสเซีย ติดเชื้อสะสม 961,493 ราย เสียชีวิตรวม 16,448 ราย และอันดับ 5 แอฟริกาใต้ ป่วย 609,773 ราย เสียชีวิตสะสม 13,059 ราย

 pageview  1210918    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved