Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 25/11/2563 ]
เตือนรับมือโรคติดต่อหน้าหนาว แนะเด็กเล็ก-คนแก่ต้องระวังหนัก

 นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ห่วงใยสุขภาพประชาชน ในช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะ กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็กช่วงอายุ 0-5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งอาจเจ็บป่วยด้วยโรคที่มาพร้อมฤดูหนาว อาทิ 1.โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บหรือแสบคอ สำหรับไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ หรืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย 2.โรคติดเชื้อไวรัส RSV มีอาการสำคัญเหมือนโรคไข้หวัดและ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยมักหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังเกี่ยวกับหัวใจ และปอด และผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากพบว่ามีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอ มีเสมหะ หายใจเร็วและแรง หอบเหนื่อย หรือมีเสียงวี้ดขณะหายใจ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว 3.โรคมือ เท้า ปาก อาการสำคัญ คือ มีไข้ 2-4 วัน เบื่ออาหาร มีแผล คล้ายแผลร้อนในที่ปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และมีผื่นเป็นจุดแดง ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส แดง บริเวณที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ต้นขา หรือที่ก้น ไม่มีอาการคัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 10 วัน 4.โรคหลอดลมอักเสบและปอดบวม อาการ สำคัญ คือ มีไข้ ไอ มีเสมหะมาก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อยหอบ 5.โรคอุจจาระร่วง จากเชื้อโรต้าไวรัส อาการสำคัญ คือ มีไข้ อาเจียน และถ่ายเหลวเป็นน้ำ ซึ่งอาการถ่ายเหลวจะหายภายใน 3-7 วัน นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น ภูมิแพ้ ผื่นผิวหนังอักเสบ ตาอักเสบ เป็นต้น
          ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็กช่วงอายุ 0-5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังโรคที่พบว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้น ในปี 2563 กรุงเทพมหานคร จึงรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกัน โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักอนามัย โดยศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง ได้ให้ บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งสิ้น 70,000 ราย อย่างไรก็ตาม เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ลดความเสี่ยง และความรุนแรงของโรค จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้ 1.หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และจัดเตรียมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่น 2.รับประทานอาหารที่มี ประโยชน์ กินอาหารร้อนหรืออาหารปรุงสุก ใหม่ 3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ 4.ใส่หน้ากากอนามัย/ผ้า ล้างมือ บ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 70% 5.หากบุตรหลานป่วยให้พักรักษาตัวอยู่บ้าน และควรหยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ 6.ดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ ดูแลรักษาและทำความสะอาดอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องเล่น ของใช้ ของเด็กเล่น เป็นประจำทุกสัปดาห์ด้วยน้ำยาทำความสะอาด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร.02-2032887-9 ในวันและเวลาราชการ หรือทาง E-mail : genercon_bma@hotmail.co.th, Website : www.bmadcd.go.th

 pageview  1210906    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved