Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 22/01/2564 ]
ศบค.ถกเตรียมปลดล็อกโควิด ช่วย 5 จว.สีแดง เดินทางข้ามเขต/เปิดตลาดกุ้ง

หมอทวีศิลป์/NBT818 คนโล่ง ผลตรวจออกมาแล้วไม่ติดเชื้อ ป่วยใหม่ 198 ราย-พิจิตรตาย 1 ผู้ตรวจการชมรัฐบาล 'บิ๊กตู่'
          ศปก.ศบค.ประชุมประเมินสถานการณ์โควิด-19 ลุ้นผ่อนคลายในพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด โล่ง "หมอทวีศิลป์" ไม่ได้ ป่วย แต่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายชราชาวพิจิตร ที่ติดเชื้อมาจากสมุทรสาคร ทางด้านผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19
          ของรัฐบาลทำอย่างเต็มที่และรอบคอบ เตรียมฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันวาเลนไทน์นี้
          เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 มกราคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคง แห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 วงเล็ก โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
          สำหรับกรอบการประชุม จะเป็น การประเมินสถานการณ์ก่อนถึงวันที่ 31 มกราคม เป็นการวางแผนการออกแบบพื้นที่ ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เสี่ยงและประเมินสถานการณ์เพื่อตัดสินใจว่า จะผ่อนคลายหรือเข้มมาตรการใดบ้าง โดยจะนำข้อเสนอของแต่ละฝ่าย มาพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งการเปิดเรียน การเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง 5 จังหวัดคือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด รวมถึงการเตรียมความพร้อม ก่อนเปิดตลาดกลางกุ้งที่จังหวัดสมุทรสาคร ตามกำหนดที่จะเปิดวันที่ 26 มกราคมนี้ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ซึ่งข้อสรุปทั้งหมดของศปก.ศบค. จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ในวันจันทร์ที่ 25 ม.ค.นี้ และจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 26 ม.ค. ต่อไป
          พบผู้ติดเชื้อใหม่198รายดับเพิ่ม1
          เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 180 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 69 ราย (สมุทรสาคร 56 ราย กรุงเทพฯ 5 ราย อ่างทอง 1 ราย สมุทรสงคราม 5 ราย สมุทรปราการ 1 ราย และระยอง 1 ราย) จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 111 ราย (สมุทรสาคร 107 ราย กรุงเทพฯ 4 ราย) และการติดเชื้อในคนไทยหรือชาวต่างชาติที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 18 ราย ทำให้ ขณะนี้มียอดผู้ป่วยสะสม 13,302 ราย ยอดหายป่วยสะสม 10,448 ราย อยู่ระหว่างรักษา 2,782 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 72 ราย
          ผู้เสียชีวิตวัย81มีโรคประจำตัวรุมเร้า
          สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ เป็นชายไทยอายุ 81 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดพิจิตร มีโรคประจำตัวโรคเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีประวัติสัมผัส ผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวที่เดินทางมาจาก จ.สมุทรสาคร โดยวันที่ 31 ธ.ค.มีอาการหน้ามืดและเข้ารับการรักษาตัว วันที่ 2 ม.ค.มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ถ่ายเหลว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากได้ประวัติจากญาติที่มีอาการติดเชื้อโควิด-19 ต่อมาวันที่ 3 ม.ค.ผลยืนยันติดโควิด-19 ได้เข้าห้องแยกโรค ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น วันที่ 4 ม.ค.มีอาการปอดอักเสบรุนแรง เหนื่อยมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ในวันที่ 9 ม.ค.อาการดีขึ้น จนสามารถเอาท่อช่วยหายใจออก กระทั่งวันที่ 15 ม.ค.มีอาการไข้ ไอ เหนื่อยมากอีกครั้ง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ และอาการแย่ลงไม่ตอบสนองต่อการรักษา และวันที่ 22 ม.ค. เสียชีวิต ในเวลา 22.30 น.
          สำหรับสถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 98,742,691 ราย เสียชีวิตสะสม 2,116,319 ราย
          ผลตรวจ'หมอทวีศิลป์'เป็นลบ
          พญ.พรรณประภา กล่าวอีกว่า ในส่วนรายงานสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ของไทยตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563 ถึงปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 9,065 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อในประเทศ 3,987 ราย และการติดเชื้อจากการตรวจ คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 4,495 ราย
          พญ.พรรณประภา กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ประกาศข่าว NBT ที่ติดเชื้อจนทำให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ต้องไปตรวจหาเชื้อนั้น ผู้ติดเชื้อถือว่าอยู่ใน วงแรก นพ.ทวีศิลป์และทีมงานอยู่ในวงที่สอง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ วันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.ทวีศิลป์ไปตรวจเชื้อแล้วผลเป็นลบ ขณะที่ผู้ดำเนินรายการของ NBT ที่มาทำงานที่ ศบค.ทั้ง 2 คน ก็ได้ไปตรวจเชื้อและผลเป็นลบด้วยเช่นกัน หลังจากนี้ก็ต้องกักตัวเอง ส่วน นพ.ทวีศิลป์ที่เป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำนั้น เมื่อผลเป็นลบก็ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ไปในที่ชุมชน โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา และจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อในเร็วๆ นี้
          เผยครอบครัวคุณตาอาการดีขึ้นแล้ว
          นายกมล กัญญาประสิทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จากกรณีที่ ครอบครัวของคุณตา วัย 81 ปี พร้อมด้วยคุณยายวัย 84 ปี และลูกชายที่เป็นครู และภรรยา ลูกชาย รวม 5 คน เป็นชาว ต.บางลาย อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาตัว ที่ รพ.พิจิตร 1 คน คือ คุณตา วัย 81 ปีส่วนคุณยาย ลูกชาย ภรรยา ลูกชาย หลานชาย เข้ารักษาตัวที่ รพ.ตะพานหิน ซึ่งทั้งหมด ติดเชื้อโควิด-19 มาจากญาติคือลูกสาว-ลูกชาย และ ญาติๆ รวม 6 คน ที่เดินทางมาจาก จ.สมุทรสาคร ซึ่งเดินมาร่วมงานบวช เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ซึ่งเข้าพักรักษาตัวเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564
          นายกมล กล่าวอีกว่า ได้รับรายงานจากทางการแพทย์ ว่า คุณตา วัย 81 ปี ที่รักษาตัว อยู่ที่ รพ.พิจิตร เนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีโรคแทรกซ้อน ติดเชื้อแบคทีเรียเข้าปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด เพิ่มเติม และมีโรค แทรกขึ้นมาอีกคือ โรคหัวใจ โรคความดัน โรคไตเสื่อม ประกอบกับผู้ป่วยมีอายุมากแล้ว ได้เสียชีวิต แล้วเมื่อคืน ช่วงเวลา 22.30 น.วันที่ 22 มกราคม 2564 ในส่วนคุณยาย ที่อายุ 84 ปี อาการดีขึ้น ส่วนลูกชาย-หลานชาย อาการดีขึ้นแต่ยังรักษาตัวที่ รพ.ตะพานหิน
          สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดพิจิตรพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจำนวน 10 ราย รักษาหายแล้ว 6 ราย ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับจังหวัดสมุทรสาคร จากนั้นจังหวัดพิจิตรก็ปฏิบัติการป้องกันเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ซึ่งในรอบ 20 วันที่ผ่านมา ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 เพิ่มเติมแล้ว
          ผู้ตรวจการแผ่นดินเผยผลถกปมโควิด
          พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยผลการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยได้เชิญผู้แทนศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือ ตามคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.กรณีการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดตลาดนัดชุมชน 2.กรณีการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัยจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งไม่มีการควบคุมราคาหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ (ร้าน 7-11) และ 3.กรณีร้องเรียนความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน
          ยันปิดตลาดไม่ได้เลือกปฏิบัติ
          โดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เสนอแนะใน 3 ประเด็นตามข้อร้องเรียน ดังนี้ กรณีมาตรการปิดตลาดนัดชุมชน ที่ผ่านมาจะปิดเฉพาะตลาดที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อรุนแรง พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เช่น ตลาดกลางกุ้ง ตลาดกลางบางใหญ่ ส่วนตลาดอื่นๆ ถ้าพบมีผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อรุนแรง จะดำเนินการปิดชั่วคราว เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค และมีกรมอนามัยเข้าตรวจตราความปลอดภัยก่อนเปิดตลาดที่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนห้างสรรพสินค้านั้นยังไม่พบว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อรุนแรง ซึ่งรัฐยืนยันว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำชับให้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและวิธีการฆ่าเชื้อในพื้นที่นั้นๆ แทนการปิดตลาด หากจำเป็นต้องปิดตลาด ขอให้ปิดในระยะเวลาสั้นที่สุด เพื่อลดผลกระทบผู้ประกอบการและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ในขณะเดียวกัน ให้ทุกสถานที่เข้มงวดมาตรการป้องกันพื้นฐาน
          ขอซีพีขายแมสใน7-11ราคาควบคุม
          ส่วนกรณีหน้ากากอนามัยของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และการควบคุมราคา ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยประเภท Surgical Mask ที่ขอขึ้นทะเบียน 78 แห่ง มีกำลังผลิตประมาณ 5 ล้านชิ้น/วัน และมีผู้ที่ขออนุญาตนำเข้าอีก 234 ราย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต่อจำนวนประชากรที่มีกว่า 65 ล้านคน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำชับให้ ศบค. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่เจ็บป่วย สามารถเลือกใช้หน้ากากทางเลือก หรือหน้ากากผ้า ก็เพียงพอต่อการป้องกันฝอยละอองจากการไอ จาม และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้
          จากการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า โรงงานผลิตหน้ากากของเครือซีพี ได้ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกฟรีให้แก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนกลุ่มผู้เปราะบางเท่านั้น เช่น คนชรา ผู้พิการ ผู้ยากไร้ไม่มีกำลังซื้อ โดยมอบให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นองค์กรดูแลแจกจ่ายหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาล องค์กรการกุศล และมูลนิธิทั่วประเทศ เป็นคนละส่วนกับหน้ากากที่ขายในร้าน 7-11 ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขอความร่วมมือจากทางบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่จัดจำหน่ายหน้ากากในร้าน 7-11 ให้นำหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในราคาควบคุมมาจัดจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนหน้ากากทางเลือกและหน้ากากผ้านั้น ขอให้คัดเลือกชนิดที่มีคุณภาพ แต่มีราคาที่ถูกลง เพื่อให้ประชาชนซื้อหาและเข้าถึงได้มากขึ้น
          คนไทยได้วัคซีนเข็มแรกวาเลนไทน์นี้
          สำหรับการจัดหาวัคซีนล่าช้า ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการจัดหาวัคซีนมา นานแล้ว ตั้งแต่กลางปี 2563 มีการตั้งเป้าหมายการจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33,000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้วัคซีนจาก 2 แหล่ง คือ แหล่งที่ 1 ระยะเร่งด่วน จากบริษัท ซิโนแวคไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีน จำนวน 2,000,000 โดส คาดว่าจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันวาเลนไทน์ เดือนกุมภาพันธ์นี้ แหล่งที่ 2 จากบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศอังกฤษและสวีเดน จำนวน 26,000,000 โดส คาดว่าจะได้รับวัคซีนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งศึกษาถึงรายละเอียด ความปลอดภัย ความคุ้มค่า ในบริบทที่มีความเสี่ยงอย่างรวดเร็วเต็มที่และรอบคอบแล้ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนคนไทย ซึ่ง สตง.ได้ให้คำแนะนำว่า ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ นั้นจะไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อสิ่งที่ยังไม่มีในตลาดได้ แต่ สถาบันวัคซีนแห่งชาติสามารถใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะของการร่วมวิจัยพัฒนาวัคซีน
          แจงเหตุผลร่วมมือกับแอสตราเซเนกา
          ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก และบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตวัคซีนได้ มีเป้าหมายการผลิตวัคซีน จำนวน 3,000 ล้านโดสต่อปี แต่ไม่สามารถดำเนินการผลิตฝ่ายเดียวได้ จึงต้องหาพันธมิตรที่มีศักยภาพของบุคลากรและมีเทคโนโลยีที่พร้อมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการมาสำรวจบริษัทต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและในประเทศไทย และพบว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีขีดความสามารถเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ได้ และเป็นบริษัทที่ไม่แสวงหากำไร แอสตราเซเนกา จึงเลือกที่จะร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยมีการตั้งเป้าการผลิต จำนวน 200 ล้านโดส/ปี และในสภาวการณ์ระบาดฉุกเฉินทั่วโลก รัฐจะเป็นผู้บริหารจัดการวัคซีน ยังไม่สามารถให้เอกชนจัดซื้อได้โดยตรง
          สำหรับการแจกจ่ายนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่แจกจ่ายกระจายต่อไปยังประชาชนหรือหน่วยงาน โดยเรียงลำดับความจำเป็นของผู้ที่ต้องการใช้วัคซีน ซึ่งต้องมีแผนควบคุมการใช้ การแจกจ่าย การติดตามผลข้างเคียง
          ระยองแม่ค้าติดเชื้ออีกราย
          บ่ายวันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง นายอนันต์ นาคนิยม รองผวจ.ระยอง พร้อมด้วย นายแพทย์ประภาส ผูกดวง รอง สสจ.ระยอง และนายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ จัดหางานจังหวัดระยอง แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ โควิด-19 ประจำวันของ จ.ระยอง
          นายอนันต์ นาคนิยม รอง ผวจ.ระยอง กล่าวว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 1 ราย รวมสะสม 573 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย รักษาหายแล้ว 525 ราย เหลือรักษาตัวที่โรงพยาบาล 46 ราย สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเพศหญิง อายุ 51 ปี มีอาชีพขายผัก อาศัยอยู่ใน ต.เชิงเนิน อ.เมืองระยอง
          ด้านนายแพทย์ประภาศ ผูกดวง รอง สสจ.ระยอง กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อ 1 ราย วันนี้จากการสอบสวนโรค พบว่า เดินทางมาจากพัทยา ชลบุรี ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และเข้า-ออกบ่อนพนันในพัทยาหลายครั้งจนกระทั่งมาตรวจพบเชื้อ เบื้องต้นมีสามีและบุตรเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด โดยมีไทม์ไลน์ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ติดเชื้อเป็นแม่ค้าขายผัก โดยมีการไปซื้อ-ขายในตลาด 3 แห่ง คือ ตลาดลาวชากใหญ่ ตลาดครูจำรัส(บ้านดอน) และตลาดสตาร์ ซึ่งได้มีการลงพื้นที่คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสูงรวมถึง การสอบสวนสามีและบุตร เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อไปอีกด้วย พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ลงไปฉีดยาฆ่าเชื้อทั้ง 3 ตลาด
          ตรวจNBT818รายไม่ติดเชื้อ
          มีความคืบหน้ากรณี นาย ส.กรกช ยอดไชย ผู้ประกาศข่าว NBT ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2564 ทางสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค ได้นำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน จำนวน 3 คัน และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ พระราชทาน ซึ่งออกปฏิบัติการเป็นครั้งแรก เพื่อตรวจเชื้อบุคคลเสี่ยงสูงที่สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อ และกลุ่มเสี่ยงต่ำซึ่งทำงานในสถานที่ เดียวกันผลการตรวจกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 818 คน ปรากฏว่า ผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อโควิด-19
          ทั้งนี้ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT2HD ได้ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดในจุดเสี่ยงต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย อีกทั้ง เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค กลุ่มเสี่ยงสูงจำนวน 34 คน แม้จะไม่พบเชื้อแต่ยังคงต้องรับการกักตัวเป็นเวลา 14 วันเพื่อสังเกตอาการต่อไป
          ในขณะที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร รายงานสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ใน จ.สมุทรสาคร ข้อมูล ณ เวลา 17.00 น. พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 148 ราย แบ่งเป็นคนไทย 52 ราย และต่างด้าว 96 ราย รวมยอดสะสม 5,493 ราย
          ชงปลดล็อกชลบุรีพ้นโซนสีแดง
          นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า เตรียมเสนอ "จังหวัดชลบุรี" เป็นพื้นที่สีส้ม จากการประกาศทางภาครัฐ กำหนดให้จังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่สีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจการ ร้านค้า ผู้ประกอบการ พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก
          วันนี้ จังหวัดชลบุรี สามารถควบคุมการระบาด ได้เป็นอย่างดี ผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็น 0 ราย มาอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยมาตรการเฝ้าระวัง การค้นหาเชิงรุก การสอบสวนโรค รายงานพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ทุกคน ร่วมป้องกันตัวเองและคนในครอบครัว จนสามารถควบคุมสถานการณ์ในครั้งนี้ได้
          โดยเตรียมเสนอ "จังหวัดชลบุรี" ให้มีการผ่อนคลายความเข้มข้นลง ในการคัดกรองและผ่อนปรนจากพื้นที่สีแดง ให้เป็น "พื้นที่สีส้ม" ต่อไป ขอให้ทุกท่านติดตามประกาศจากคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดชลบุรี อย่างเป็นทางการ อีกครั้ง

 pageview  1210900    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved