Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 11/01/2564 ]
แพทย์แนะผู้ป่วยโรคอะโครเมกาลี ใช้สิทธิ์ผู้ป่วยบัตรทองรักษาฟรีได้แล้ว

 แพทย์แนะผู้ป่วยโรคอะโครเมกาลี สามารถเข้าถึงการรักษาโรคนี้ได้ฟรีตามสิทธิ์บัตรทอง ชี้หากพบการเปลี่ยนแปลงของรูปหน้า เช่น มีสันคิ้วหนาและคางยื่นมากขึ้น สังเกตพบขนาดของมือ เท้า ลิ้นใหญ่ ขึ้นผิดปกติ อาจมีโอกาสเป็นโรคอะโครเมกาลี ควรรีบพบแพทย์รักษาก่อนลุกลามเกิดโรคแทรกซ้อนเสี่ยงเสียชีวิต
          รศ.พญ.เมตตาภรณ์ พรพัฒน์กุลภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โรค อะโครเมกาลี เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการมีระดับฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth hormone) ในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากฮอร์โมนนี้ควบคุมการเจริญเติบโตและการเผาผลาญของร่างกาย ดังนั้น การที่มีฮอร์โมนชนิดนี้สูงเกินปกติจะทำให้ร่างกายสูงใหญ่กว่าปกติ รูปหน้าเปลี่ยนแปลง มือเท้าใหญ่ มีความผิดปกติของระบบต่างๆ ภายในร่างกายอีกด้วย อาทิ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ลิ้นโตคับปาก หัวใจโต ข้อเสื่อม โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ตามมาได้ ผู้ป่วยที่มีโรคอะโครเมกาลีจะมีอัตราเสียชีวิตสูงกว่าประชากรทั่วไป ประมาณ 2-3 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วย ที่ควบคุมระดับฮอร์โมนเจริญเติบโตไม่ได้
          สาเหตุของภาวะนี้มักเกิดจากเนื้องอก ของต่อมใต้สมองที่ผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตเป็นหลัก อาการของโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นอาการของโรคซึ่งเกิดจากภาวะที่มีฮอร์โมนเจริญเติบโตเกิน และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นอาการที่เกิดจากการที่เนื้องอกไปกดเบียดอวัยวะสำคัญข้างเคียง ได้แก่ เส้นประสาทตา เส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของ ลูกตา เส้นประสาทที่เลี้ยงความรู้สึกบริเวณ ใบหน้า โดยสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะที่มี ฮอร์โมนเกิน สังเกตได้จากมือและเท้าที่ใหญ่กว่าปกติจนผู้ป่วยต้องเปลี่ยนขนาดแหวน ขนาดรองเท้า การมีใบหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กรามใหญ่ คางยื่น จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา ผิวหนังหน้าหยาบขึ้น หรือร่างกายที่สูง ผิดปกติ เป็นต้น ขณะเดียวกันอาจจะมีหัวใจโต ความดันโลหิตสูง มีโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ยาก เละอาการอีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองไปเบียดอวัยวะสำคัญที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น ทำให้มีอาการปวดศีรษะ ตามัว เห็นภาพซ้อน หรือมีอาการชาบริเวณหน้าผากและ โหนกแก้มโรคอะโครเมกาลีเป็นหนึ่งในโรคหายาก (Rare Disease) เนื่องจากการที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อยมากทำให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหายากยังมีอยู่อย่างจำกัดและไม่เป็นที่รู้จักกันในประชาชนทั่วไป จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยล่าช้า
          การรักษาจะมีเป้าหมายเพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนเจริญเติบโตในเลือดให้ ใกล้เคียงระดับปกติมากที่สุดและการลดขนาดของก้อนเนื้องอก แนวทางการรักษาแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกเป็นลำดับแรกถ้าหากไม่มีข้อห้ามของการผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือ ลุกลามมากซึ่งไม่สามารถผ่าตัดออกให้หมดได้ หรือในผู้ป่วยที่ไม่หายขาดหลังการผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการใช้รังสีรักษาหรือการใช้ยา หรืออาจใช้ทั้งรังสีรักษาควบคู่ไปกับการให้ยา
          "จุดสำคัญในการรักษาโรคนี้คือการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วเพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนของ ผู้ป่วยให้ใกล้เคียงกับคนปกติซึ่งจะส่งผลให้โรคแทรกซ้อนต่างๆ ลดลงด้วย ร่วมกับ การควบคุมขนาดของก้อนเนื้องอก อย่างไรก็ตามโรคอะโครเมกาลีจัดว่าเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากเพราะอาการของโรคจะค่อยๆ แสดงออกอย่างช้าๆ และอาการ บางอย่างอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคอื่น ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องโรคอะโครเมกาลี จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างตระหนักถึงโรคนี้มากขึ้นและได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วขึ้น ฉะนั้น ผู้ป่วยควร สังเกตอาการของตนเองว่า มีรูปหน้าที่เปลี่ยนแปลง เช่น กรามใหญ่คางยื่นมากขึ้น มีขนาดของร่างกายใหญ่ขึ้นผิดปกติหรือไม่ ว่าจะเป็น มือ เท้า ลิ้น มีทางร่างกายหลายๆ โรค ร่วมกันที่เข้าได้กับภาวะนี้ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หัวใจโต ข้อเสื่อมเร็ว รวมทั้งความผิดปกติของการมองเห็นตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์เมื่อพบภาวะเหล่านี้ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องก่อนที่จะโรคจะรุนแรงมากขึ้นและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้"
          เนื่องจากโรคอะโครเมกาลีจัดเป็นหนึ่ง ในโรคหายาก (Rare Disease) มีความชุก ของโรคต่ำมากในกลุ่มประชากร ทำให้การ พัฒนายาเพื่อนำมาใช้ในการวินิจฉัย บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหายากนี้เกิดขึ้น ช้ากว่าการพัฒนายาสำหรับโรคที่มีความชุก สูงๆ ยาที่นำมาใช้ในการรักษาโรคหายากนี้ จึงจัดเป็น "ยากำพร้า" ซึ่งมักจะมีราคาสูง หรือยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโรคอะโครเมกาลีได้ถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มโรคที่สามารถใช้สิทธิ รักษาขั้นพื้นฐานของประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มการเข้าถึงยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคอะโครเมกาลีที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้หลังได้รับการผ่าตัดเนื้องอก และ/หรือการฉายแสงแล้ว ดังนั้น หากมี อาการที่น่าสงสัยหรือคิดว่าตนเองหรือญาติ เป็นโรคดังกล่าวแนะนำให้ไปพบแพทย์ตามสิทธิ์รักษาได้อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะจะทำให้การรักษายากขึ้นและไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร อาจส่งผล ให้มีโรคแทรกซ้อนและเกิดความพิการขึ้นได้

 pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved