Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 12/02/2564 ]
สธ.เตรียมฉีดวัคซีน10จังหวัด1.93ล้านโดสเริ่มสมุทรสาคร-กทม.-นนทบุรี

 ช่วงกุมภาพันธ์-เมษายนรับซิโนฟาร์มขึ้นทะเบียนไทยติดเชื้อใหม่201รายเฝ้าระวังเข้มเขตปทุมวัน
          ไทยติดเชื้อเริ่มลดพบเพิ่ม 201 ราย สั่งกทม.ยังต้องคุมเข้ม จับตาเขต ปทุมวันพบติดเชื้อคนพลุกพล่าน สมุทรสาคร ดีเดย์ 15 กุมภาพันธ์ตรวจหา ภูมิคุ้มกันจากแอนติบอดี ตั้งเป้า 5 วัน วันละ 8 พันคน หากไม่พบจะพิจารณาให้แยกตัวกลับบ้านได้ ลุ้นผ่อนคลายสิ้นเดือน ตากยังต้อง จับตา พบติดเชื้อเพิ่มรายวัน 37 คน ผู้ว่าฯสั่งล็อกดาวน์ชุมชนมัสยิดอินโอร์ ที่แม่สอด 5 วัน หลังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องโยงรายแรก ด้านอย.เปิดรับเรื่องซิโนฟาร์มยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 การันตีพร้อมส่ง 5 แสนโดสใน 10 วัน หลังผ่านการพิจารณา สธ.เปิดแผนฉีดวัคซีนระยะแรก 10 จังหวัด 1.93 ล้านโดส 9.6 แสนคน กันสำรองไว้ 6.6 หมื่นโดส รับพื้นที่ระบาดใหม่
          เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ ไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 201 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 107,849,724 ราย เสียชีวิตสะสม 2,364,864 ราย
          ติดใหม่201-สมุทรสาครเจอ73คน
          พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 201 คนนั้น แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ  185 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 96 ราย มาจาก การค้นหาเชิงรุก 89 ราย ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุก จ.สมุทรสาคร 73 ราย ตาก 14 ราย กทม. 1 ราย และระยอง 1 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 24,104 ราย หายป่วยสะสม 19,799 ราย อยู่ระหว่างรักษา 4,225 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 80 ราย
          กทม.ติดเชื้อ6เขต-เฝ้าระวังปทุมวัน
          สำหรับพื้นที่กทม. วันนี้มีผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวัง 16 ราย โดยกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14 ราย ซึ่งยังสอบสวนโรคและค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดในพื้นที่โดยรอบ ทั้งร้านอาหาร ตลาด ชุมชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการตรวจหาเชิงรุกในกทม.ไปแล้ว 59,845 ราย มี 2 เขตที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อคือ สัมพันธวงศ์ และสะพานสูง และใน 1-2 วันนี้ มีเขตที่พบผู้ติดเชื้อ 6 เขต คือ ภาษีเจริญ บางแค บางบอน คลองเตย สาทร และล่าสุด เขตปทุมวันพบ ผู้ติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งต้องเฝ้าระวังเข้มข้น เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ในเมือง มีคนเข้า-ออกจำนวนมาก ใครไปในพื้นที่มีประชาชนพลุกพล่านขอให้ระมัดระวังตัวเอง
          "จากการสืบค้นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การแพร่ระบาดขยายวง เพราะกทม.มีการติดเชื้อมาจากภายในสำนักงานที่อาจลดการ์ดตัวเองลงในระหว่างเข้าสถานที่ทำงาน รวมทั้งการสแกนหน้าของบุคลากรก็มี ความเสี่ยง นอกจากนี้กทม.มีการพักอาศัยแบบหอพัก คอนโด"พญ.อภิสมัยกล่าว
          จับตาตากป่วยโควิดยังเพิ่มอีก37คน
          และว่า สำหรับสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก วันเดียวกันนี้ มีตัวเลขรวมกัน 37 คน แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวัง และระบบบริการ  23 คน แบ่งเป็นเพศชาย 13 คน อายุ 9-52 ปี เพศหญิง 10 คน อายุ 2-66 ปี และเป็นสัญชาติไทย 1 คน และเมียนมา 22 คน  ส่วนตัวเลขจากการ ค้นหาเชิงรุกในชุมชนอีก 14 คน แบ่งเป็น เพศหญิง 10 คน อายุ 17-52 ปี เพศชาย 4 คน อายุ 23-60 ปี เป็นสัญชาติเมียนมา 14 คน ทำอาชีพรับจ้าง 8 คน แม่บ้าน 2 คน และค้าขาย 4 คน
          สมุทรสาครซีล9รง.กัก4.2หมื่นคนงาน
          พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ในจ.สมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อครั้งแรก มาตรการต่างๆ ออกมา โดยพื้นที่เป้าหมายการค้นหาเชิงรุกในจ.สมุทรสาครมีทั้งหมด 1,880 แห่ง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2563-8 กุมภาพันธ์ ค้นหาเชิงรุกไปแล้ว 1,048 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุกโรงงานขนาดใหญ่ 97 แห่ง ขนาดกลาง 223 แห่ง ขนาดเล็ก 953 แห่ง   นอกจากนี้ ยังค้นหาเชิงรุกในตลาดสด 15 แห่ง ชุมชน 952 แห่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงงาน ขนาดใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% 9 แห่ง ที่เราได้ใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลนั้น เราดูแลคนงานไปทั้งสิ้น 42,424 ราย หวังว่าคนที่อยู่ในโรงงานแล้วไม่มีอาการสามารถทำงานได้อยู่ จะมีภูมิคุ้มกัน
          15ก.พ.ตรวจภูมิคุ้มกันวันละ8พัน
          "ทั้งนี้ มีการคิดมาตรการว่า วันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะเริ่มตรวจภูมิคุ้มกัน ส่วนตัวจากแอนติบอดี ซึ่งจะเร่งตรวจช่วง 5 วันแรก ให้ได้วันละ 8,000 ราย เป็นต้นไป ที่ประชุมศบค.ยังคุยกันว่า ถ้าตรวจแล้วพบภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ควรให้เขากลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติได้หรือไม่ แล้วจะพิจารณา ผ่อนคลายได้หรือไม่ เป็นแผนที่คุยกันไว้ ขอให้ติดตาม"พญ.อภิสมัยกล่าว
          จับตาลุ้นปลดล็อกสิ้นเดือนก.พ.
          สำหรับจ.สมุทรสาคร นับแต่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 มีรายงานติดเชื้อครั้งแรกกว่า 500 คนถึงตอนนี้ผ่านมา 2 เดือนมีการตั้งคำถามว่าสมุทรสาคร ต้องผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งมีการพูดถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ และนึกภาพทุกคนรอคอยว่ามาตรการที่ทำงานกันมาเหน็ดเหนื่อยตลอด 2 เดือนจะมีมาตรการผ่อนคลายอย่างไร จะออกมาอย่างไรบ้าง
          ล่าสุดยังพบผู้ติดเชื้อใน10จว.
          ในภาพรวมการตรวจหาผู้ติดเชื้อนั้น พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สัปดาห์นี้ระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรวม 10 จังหวัด และถ้าเทียบ 28 วันที่ผ่านมา พบว่าช่วง 3-6 วันมี 5 จังหวัด (สีส้ม) และจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ 1-2 วัน 7 จังหวัด และไม่พบผู้ติดเชื้อ 14 จังหวัด และจังหวัดพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 28 วันมี 29 จังหวัด และจังหวัดสีเขียวที่ไม่พบติดเชื้อในรอบ 15-28 วัน มี 16 จังหวัด ภาพรวมถือว่าทั้งประเทศทำได้ดี ซึ่งแม้บางจังหวัดไม่เห็นตัวเลข แต่ไม่ได้หมายความว่าจังหวัดไม่ได้คัดกรอง ทุกคนยังต้อง ร่วมมือกัน
          เปิดแผนฉีด10จว.คุมเข้มสูงสุด
          ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนกระจายวัคซีน โควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดสแรกจากซิโนแวค ประเทศจีนว่า พื้นที่เป้าหมายฉีดในระยะ เร่งด่วน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 จะกระจายใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ที่พบการติดเชื้อต่อเนื่อง โดยจะให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน โดย 1 คน ฉีด 2 เข็ม ประกอบด้วย 1.จ.สมุทรสาคร 8.2 แสนโดส 4.1 แสนคน เป็นบุคลากรแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 36,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.5 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 2.1 แสนคน
          10จว.1.93ล.โดสฉีด9.6แสนคนสำรอง6.6หมื่นโดส
          2.กรุงเทพฯ 8 แสนโดส ฉีดกลุ่มเป้าหมาย 4 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 คน ผู้มีโรคประจำตัว 1 แสน คน ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 1 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1.6 แสนคน 3.นนทบุรี 26,000 โดส ฉีดให้ 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 4.ปทุมธานี 26,000 โดสฉีดให้ 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
          เป้า9.67แสนคนสำรอง6.6หมื่นโดส
          5.จ.สมุทรปราการ 28,000 โดส 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัส ผู้ป่วย 5,000 คน 6.ระยอง 18,000 โดส 9,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัส ผู้ป่วย 4,000 คน  7.ชลบุรี 28,000 โดส 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 10,000  คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 8.จันทบุรี 16,000 โดส ฉีดให้ 8,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัส ผู้ป่วย 2,000 คน 9.จ.ตราด 12,000 โดส จำนวน 6,000 คน เป็นบุคลากรทาง การแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,000 คน
          และ 10.จ.ตาก 1.6 แสนโดส จำนวน 80,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน ผู้มีโรคประจำตัว 10,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 50,000 คน รวมวัคซีนทั้งสิ้น 1,934,000 โดส ฉีดให้ทั้งหมด 967,000 คน ส่วนอีก 66,000 โดส สำหรับ 33,000 คนนั้น จะสำรองไว้เผื่อมีพื้นที่อื่นระบาดเกิดขึ้น โดยจะให้พื้นที่ที่อยู่รอบพื้นที่ระบาดเพื่อสกัดวงการแพร่เชื้อฯ
          ระยะ2กระจายมิ.ย.61ล้านโดส
          นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ส่วนระยะที่ 2 จำนวน 61 ล้านโดส จะกระจาย ช่วงเดือนมิถุนายน และให้แล้วเสร็จภายในปีนี้มีอัตราการฉีดในรพ.ที่แพทย์และห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ 1,000 แห่ง วันละ 500 โดส 20 วันต่อเดือน เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่หากในอนาคต วัคซีนปลอดภัยมากขึ้นอาจพิจารณาขยาย ให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บางแห่งที่มีอุปกรณ์ฟื้นคืนชีพ ทั้งนี้ จากการที่กรมควบคุมโรคสำรวจทัศนคติ ความเห็นของประชาชนวันที่ 26 มกราคม-8 กุมภาพันธ์ 2,879 ตัวอย่าง พบว่ากลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อนคือ บุคลากรทางการแพทย์ 70% ผู้สูงอายุ 40% ทุกคน 35% ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 33% และเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ 22% แต่ทางวิชาการกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเพราะวัคซีนเป็นการใช้ภาวะฉุกเฉินไม่ได้ทดลองใน 2 กลุ่มนี้ นอกจากนี้ หากไม่มีรายงานติดเชื้อ การป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 ยังต้องการฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน พบว่า ยังต้องการมาก ปานกลาง และน้อย รวม 70% ไม่ต้องการฉีด 18% และไม่แน่ใจ 12%
          หมอยงแนะจับตาประสิทธิภาพวัคซีน
          ด้านนพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คส่วนตัว "Yong Poovorawan" ระบุ จากการฟันผ่ากับ โควิด-19 มา 1 ปี ได้ผ่านพ้นจากหุบเหวและกำลังจะวิ่งขึ้นแล้ว หลังมาตรการควบคุมโรคด้วยวิถีชีวิตใหม่และมีวัคซีนมาเสริม ตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกได้สูงสุดเดือนธันวาคมก่อนปีใหม่ มีการป่วยสูงสุดวันละ 7 แสนราย ขณะนี้ผู้ป่วย ต่อวันลดลงมาก ตัวเลขผู้ป่วยต่อวันเหลือเพียง 3 แสนกว่า แต่ของประเทศไทยอย่าให้เป็นขาขึ้นก็แล้วกัน
          นพ.ยงกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการพัฒนาวัคซีนมาใช้มากกว่า 10 ตำรับ ตัวเลขผู้ป่วยในประเทศตะวันตกเริ่มลดลงเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่ต้องสู้กับไวรัสคือ ไวรัสพยายามหลีกหนีภูมิต้านทานของวัคซีน เห็นได้ว่ามีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น เก่งในการหลบหลีกวัคซีนได้ดี ล่าสุดมีการศึกษาขนาดเล็กในแอฟริกาใต้ว่า ประสิทธิผลวัคซีน AstraZeneca ลดลงเหลือต่ำมาก เป็นเหตุให้แอฟริกาใต้ ได้รับวัคซีนไปแล้วระงับการฉีดวัคซีน ไปก่อน รอข้อมูลเพิ่มวัคซีนที่ผลิต จำนวนมาก ตอนนี้ถ้าไม่รีบขาย ต่อไปต้องรีบวิ่งมาหาเราเองแน่
          ซิโนฟาร์มพร้อมส่ง5แสนใน10วัน
          ความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า รับทราบ เรื่องการยื่นขอขึ้นทะเบียนยาวัคซีนโควิด ของบริษัท วีโนว่า อินเตอร์เนชั่นแนล ตัวแทนจำหน่ายวัคซีนโควิด ซิโนฟาร์ม CNBG อย่างเป็นทางการในประเทศไทย และสั่งการให้เข้ามายื่นใหม่อีกครั้ง โดย จะนำเรื่องการขอขึ้นทะเบียนยาซิโนฟาร์มของบริษัท วีโนว่าฯเข้ากระบวนการพิจารณาวัคซีนโควิดอย่างเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยในการนำเข้า วัคซีนมาแก้ปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ยืนยันว่าเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้เร่งแก้ปัญหาระบาดที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย การนำเข้าวัคซีนที่รวดเร็วจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น โดยซิโนฟาร์มยืนยันความพร้อมนำเข้าวัคซีนลอตแรก หลังได้รับการ ขึ้นทะเบียนยาอย่างถูกต้อง 500,000 โดส ภายใน 10 วัน หลังเอกสารได้รับการอนุมัติ ทันที เบื้องต้นเป็นการนำเข้ามาจัดจำหน่าย ผ่านระบบของรัฐ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มสินค้า ควบคุม เพื่อให้เกิดการกระจายวัคซีน โควิดอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
          สมุทรสาครเริ่มเบาเจอป่วย129คน
          ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ระบาด ของไวรัสโควิด-19 ในจ.สมุทรสาคร ถึงเวลา 24.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครเผยว่า มีผู้ป่วยใหม่ 129 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 73 ราย เป็นคนไทย 11 ราย แรงงานต่างด้าว 62 ราย ที่เหลือเป็น ผู้ป่วยตรวจในโรงพยาบาล 56 ราย เป็น คนไทย 30 ราย แรงงานต่างด้าว 26 ราย สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมดมี 15,476 ราย ขณะที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีคนไทยอยู่ระหว่างการรักษาอีก 371 ราย แรงงานต่างด้าว 384 ราย และเฝ้าสังเกตอาการอีก 3,334 ราย และในส่วนที่รักษาหายแล้วกลับบ้านได้เป็นคนไทย 1,977 ราย และต่างด้าว 723 ราย ด้านผู้ที่ถูกกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการจนครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วไม่พบเชื้อกลับบ้านได้รวม 8,681 ราย เป็นคนไทย 182 ราย และคนต่างด้าว 8,499 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตจำนวน 6 ราย
          กทม.ติดเพิ่ม17รายมีทารก7เดือน
          ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ศบค.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 17 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศจากการไป พื้นที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสกับ ผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ 16 ราย แบ่งเป็น เพศชาย 6 ราย อายุ 23-73 ปี เพศหญิง 10 ราย อายุ 7 เดือน-76 ปี เป็นสัญชาติไทย 10 ราย และสัญชาติเมียนมา 6 ราย อาชีพ ค้าขาย 3 ราย นักศึกษา 1 ราย พนักงานบริษัท 4 ราย อื่นๆ 2 ราย ว่างงาน 3 ราย ไม่ระบุ 3 ราย มีอาการ 7 ราย ไม่มีอาการ 9 ราย โดยผู้ป่วยรักษาที่รพ.จุฬาลงกรณ์ 3 ราย รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน 4 ราย รพ.ศิริราช 4 ราย รพ.เอกชน 3 ราย และอยู่ระหว่างประสานงาน 2 ราย นอกจากนี้ ยังพบ ผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 1 ราย เป็นหญิง อายุ 54 ปี สัญชาติไทย อาชีพ พนักงานโรงงาน มีอาการ รักษาตัว ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ทำให้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2563-11 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 896 ราย
          ตากสั่งล็อกดาวน์ชุมชนมัสยิดอันซอร์
          วันเดียวกัน ที่จ.ตาก นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก ลงนามในคำสั่งจังหวัดตาก ที่ 508/2564 เรื่องมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (เพิ่มเติม) เฉพาะในพื้นที่ เฉพาะในอ.แม่สอดปิดสถานที่และห้ามผู้ใดเข้า-ออก ย่านชุมชนมัสยิดอันซอร์ ถนนแม่สอด-แม่ตาว อ.แม่สอด เนื่องจาก ยังพบผู้ป่วยยืนยันสะสมต่อเนื่อง และพบผู้ติดเชื้อในย่านมัสยิดอันซอร์ จึงให้ปิดสถานที่ห้ามผู้ใดเข้า-ออก ย่านชุมชน มัสยิดอันซอร์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและได้รับ อนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในบริเวณ ตั้งแต่วันที่ 11-17 กุมภาพันธ์
          ปิดคลังสินค้าชายแดนพนง.ติด8คน
          นอกจากนี้ นายพงศ์รัตน์ยังมีคำสั่ง ปิดพื้นที่คลังสินค้ามือสองริมแม่น้ำเมย ที่เรียกกันว่าคลัง 9 ศูนย์จำหน่าย-ส่งออกจักรยานมือสองเข้าเมียนมาใหญ่ที่สุดในพื้นที่ชายแดน 7 วัน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากผลตรวจ คัดกรองพนักงานทั้งไทยและเมียนมา ที่พักอาศัยและทำงานอยู่ในคลังสินค้า ดังกล่าวครั้งแรก 100 คน พบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 8 คน และสองวันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่แล้วตรวจคัดกรอง เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 จำนวนผู้เข้าตรวจ 318 คน พบมีผู้ติดเชื้อ 22 ราย ทำให้คลังสินค้า แห่งนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดรวมแล้วกว่า 30 ราย
          เกาหลีใต้ติดรายวันเกินครึ่งพันอีกครั้ง
          อีกด้านมีรายงานสถานการณ์ โควิด-19 ในต่างประเทศ โดยสำนักงาน ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีหรือเคดีซีเอ เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยใหม่ 504 คน ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ 559 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 10 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อ สะสม 82,430 คน และผู้เสียชีวิตกว่า 1,490 คน ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา เกาหลีใต้พบผู้ป่วยติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับ 300-400 คนมาตลอด เนื่องจากพบระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานศึกษาทางศาสนาที่ไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของทางการยังยกระดับเฝ้าระวังช่วงเทศกาลวันหยุดตรุษจีน ใช้ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด เช่น คำสั่งห้ามรวมตัวตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อควบคุมการระบาดช่วงวันหยุดยาวที่มีการเดินทางและรวมตัวกันเพิ่มขึ้น
          สิงคโปร์แอร์ไลน์เริ่มบินลูกเรือฉีดครบ
          สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์เริ่มบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ 3 เที่ยวในวันนี้ เดินทางจากสิงคโปร์ไปกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย กรุงเทพฯ และกรุงพนมเปญของกัมพูชา โดยมีนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ของไฟเซอร์ ไบออนเทคครบทั้งสองโดสแล้ว ถือเป็นหนึ่งในเที่ยวบินแรกๆ ของโลกที่มีลูกเรือได้รับวัคซีนแล้ว ทั้งลำ นอกจากนี้ ยังมีนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสิงคโปร์แอร์ไลน์กว่าร้อยละ 90 ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีน มีร้อยละ 85 ที่ฉีดวัคซีนโดสแรก และอีกหลายคนที่เริ่มเข้ารับการฉีดวัคซีนโดสสองแล้ว คาดว่า ลูกเรือที่เหลืออาจได้รับวัคซีนโดสสองภายในสิ้นเดือนมีนาคม สำหรับสิงคโปร์นั้น มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 59,700 คน และผู้เสียชีวิตเพียง 29 คน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

 pageview  1210888    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved