Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 30/04/2564 ]
ยกระดับคุม6จว.สีแดงเข้มห้ามกินอาหารในร้านงดเดินทางออกนอกพื้นที่

  กทม.-สมุทรปราการ-ชลบุรีเชียงใหม่-ปทุมธานี-นนทบุรีขอความร่วมมือเอกชนWFH ติดเชื้อ1,871คน/ตายอีก10ราย
          ไทยติดเชื้อเพิ่ม 1,871 ราย อาการหนัก 786 ราย เสียชีวิตอีก 10 ราย กทม.-ปริมณฑล ติดเชื้อพุ่งกว่า 1.5 หมื่นคน ห่วงคลัสเตอร์ร้านอาหาร "ศบค." กำหนดยุทธศาสตร์แก้ กทม.ปริมณฑล เหมือนแก้ประเทศ วอนเวิร์ก ฟรอม โฮม 100% ยกระดับ 6 จว. เป็นพื้นที่ควบคุม สูงสุด-เข้มงวด สีแดงเข้ม ห้ามเดินทาง ออกนอกพื้นที่โดยไม่จำเป็น งดกินอาหารดื่มสุราในร้าน-ร้านสะดวกซื้อปิด 5 ทุ่ม ถึงตี 4 ห้างสรรพสินค้าเปิดถึง 3 ทุ่ม เริ่ม 1 พ.ค.นี้
          เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 29 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,871 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,864 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,830 ราย มาจาการค้นหาเชิงรุก 34 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 63,570 ราย หายป่วยสะสม 35,394 ราย โดยวันที่ 29 เม.ย.หายป่วยเพิ่มขึ้น 992 ราย อยู่ระหว่างรักษา 27,988 ราย อาการหนัก 786 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 230 ราย มีผู้เสียชีวิต 10 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 2 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ส่วนสาเหตุเกิดจากญาติมาเยี่ยม รับประทานอาหารกับผู้ติดเชื้อ และไม่สามารถระบุได้ สำหรับระยะเวลาหลังการติดเชื้อแล้วเสียชีวิต นานสุด 16 วัน เร็วสุดเพียงแค่ 3 วัน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 188 ราย
          จัดการกทม.ได้เท่ากับจัดการทั้งปท.
          สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดสูงสุดในวันที่ 29 เม.ย. ได้แก่ กทม. 689 ราย สมุทรปราการ 151 ราย ชลบุรี 112 ราย เชียงใหม่ 89 ราย ปทุมธานี 81 ราย โดยที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุขได้เปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อในประเทศระหว่าง วันที่ 1-28 เม.ย. ทำให้เห็นว่า กทม. และปริมณฑล ที่ประกอบด้วย สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี มีผู้ติดเชื้อรวมกัน 15,405 ราย ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อีก 73 จังหวัด รวมกัน 19,095 ราย ซึ่ง กทม.และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ พื้นที่ กทม.และปริมณฑลเป็นเหมือนกับภาพรวมของทั้งประเทศ ดังนั้น ถ้าเราจัดการในพื้นที่ กทม.ก็เหมือนจัดการได้ทั้งประเทศ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน จึงต้องขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้านให้ได้ 100% เพื่อกดตัวเลขลงมาให้ได้ นอกจากนี้ จากข้อมูลพบว่า มีการติดเชื้อ ในร้านอาหารมากที่สุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์
          เล็งฉีดวัคซีนบุคลากรการศึกษาด้วย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในการประชุม ศปก.ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็กเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือ 2 ประเด็นคือเรื่องการขอเลื่อนวันเปิดเรียนของนักเรียน เพื่อที่นักเรียนจะได้ไม่ต้องเดินทาง ในช่วงระยะเวลานี้ โดยเบื้องต้นเลื่อนไปเปิดในวันที่ 1 มิ.ย.2564 นอกจากนี้ ยังเสนอด้วยว่าบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ คุณครู นักเรียน มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเหมือนกัน โดยเฉพาะครูควรได้รับวัคซีนด้วย เพราะครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนถึง 30-50 คน น่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งที่ประชุมได้ย้ำว่า ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขจะดูแลกลุ่มคุณครูด้วยและวัคซีนจะเข้ามาอีกในเดือน มิ.ย.นี้
          ศบค.ยกระดับควบคุม6จว.สีแดงเข้ม
          เมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 6/2564 ผ่านระบบวีดีโอ คอนเฟอเรนซ์
          ต่อมา เวลา 16.00 น. นพ.ทวีศิลป์ แถลงผลประชุม ศบค.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ และชลบุรี โดยห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน ซึ่งมีมาตรการดังนี้ 1.ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหสถาน หรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ
          ห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน
          2.ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ในลักษณะของการนำกลับไปบริโภค ที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น.
          3.สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดให้บริการ ยกเว้น สถานที่ใช้เป็นเอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ส่วนสนามกีฬา หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ประเภทกลางแจ้ง เปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชม สำหรับการแข่งขันกีฬาที่เคยได้รับอนุญาต เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคแล้ว ให้สามารถจัดการแข่งขันได้ต่อไป
          ห้างปิด3ทุ่ม/สะดวกซื้อปิด5ทุ่ม
          4.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวน ผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรม ส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็น ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ  5.ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ เปิดบริการ เวลา 04.00-23.00 น. สำหรับ ร้านหรือสถานที่ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดได้ในเวลา 04.00 น. ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น ยืนยันว่าไม่ใช่เคอร์ฟิว แต่เป็นการขอความร่วมมือ
          ขยับพื้นที่สีแดงเป็น45จว.
          สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) มีจำนวน 45 จังหวัด จากเดิม 18 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ เชียงราย ตาก ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ภูเก็ต มหาสารคาม ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สระแก้ว สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อ่างทอง อุดรธานี อุบลราชธานี
          นั่งทานอาหารในร้านไม่เกิน3ทุ่ม
          โดยมีมาตรการดังนี้ 1.ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหสถาน 2.ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 50 คน 3.จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ในร้านได้ ไม่เกินเวลา 21.00 น. และจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น. ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น 4.ห้ามจำหน่ายสุราหรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร และสถานที่จำหน่ายสุรา
          5.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่คล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ 6.ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่งถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้ตั้งแต่ 04.00-23.00 น. สำหรับร้านหรือสถานที่ ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.
          โรงยิม-ฟิตเนส เปิดไม่เกิน3ทุ่ม
          7.สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม ทั้งนี้ ให้มีการตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ตามมาตรการที่ ศปก.ศบค. กำหนด และให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดย ต้องมีการจัดระบบ และระเบียบต่างๆ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ ที่ ศปก.ศบค. กำหนด
          พื้นที่ควบคุมสีส้มเหลือ26จว.
          สำหรับพื้นที่ควบคุมสีส้ม 26 จังหวัด จากเดิม 59 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร ตราด นครนายก นครพนม หนองคาย บึงกาฬ บุรีรัมย์ พังงา พะเยา แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร เลย สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และ อำนาจเจริญ โดยมีมาตรการดังนี้ 1.ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอก เคหสถาน 2.ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มมากกว่า 50 คน 3.ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและการบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. 3.ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในร้านหรือสถานที่จำหน่ายสุรา 4.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่คล้ายกัน ให้เปิด ดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก ที่งดการให้บริการ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป  อย่างไรก็ตาม ในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ และคาราโอเกะยังคงปิด ให้บริการ
          แจงเหตุผลปรับระดับสีแต่ละพื้นที่
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า เหตุผลของการปรับระดับพื้นที่จากเดิมพื้นที่ควบคุมสูงสูด (สีแดง) เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เนื่องจากมีการระบาดในชุมชน มีผู้ป่วยมากกว่า 100 รายต่อวัน ใน 1 สัปดาห์ ส่วนพื้นที่พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) มีจำนวน ผู้ป่วยมากกว่า 10 รายต่อวันใน 1 สัปดาห์ รวมถึงมีจังหวัดพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่แพร่ระบาดอย่างน้อยมากกว่า 1 จังหวัด และจังหวัดที่ติดกับชายแดน และเคยมีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามา อย่างไรก็ตาม ในทุกพื้นที่และทุกจังหวัดยังคงงดจัดกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ หรืองานรื่นเริงในช่วงเวลานี้ ยกเว้นจัดพิธีตามประเพณี เช่น งานศพหรือเป็นกิจกรรมที่อยู่ในครอบครัว โดยมีมาตรการป้องกัน และให้จังหวัดกำหนดพื้นที่ย่อยให้เข้มกว่า ศบค.กำหนดได้ ตามสถานการณ์ของจังหวัด โดย มาตรการทั้งหมดนี้ จะกำหนดใช้ในวันที่ 1 พ.ค. นี้
          ปรับเวลากักตัว14วันผู้เดินทางเข้าไทย
          อย่างไรก็ตาม กำหนดให้มีการปรับระยะเวลากักตัวไป 14 วันสำหรับผู้เดินทาง เข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่อนุญาตให้ออกนอกห้องพัก ยกเว้นเพื่อการตรวจหาเชื้อและรักษาพยาบาล สำหรับผู้ที่ได้รับอนุมัติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. และก่อนวันที่ 1 พ.ค. ที่เดินทางมาถึงราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. เป็นต้นไป ให้มีการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง นอกจากนี้ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการเอกชนพิจารณาทำงาน ที่บ้านตามมาตรการขั้นสูงสุดอย่าง 14 วันเพื่อลดการรวมกลุ่ม
          เหล่าทัพอัพเดทจำนวนเตียงรพ.สนาม
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้เปิดเผยความคืบหน้าการใช้โรงพยาบาลสนามของแต่ละเหล่าทัพ โดยกองทัพบกปัจจุบันได้เปิดใช้งานโรงพยาบาลสนามแล้ว จำนวน 9 แห่ง พร้อมรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 1,013 เตียง ใช้บริการ 376 เตียง คงเหลือ 637 เตียง, กองทัพเรือ เปิดใช้งานโรงพยาบาลสนามแล้ว 3 แห่ง พร้อมรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 726 เตียง ใช้บริการ 156 เตียง คงเหลือ 570 เตียง นอกจากนี้กองทัพเรือยังได้เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ซึ่งจะใช้สนามกีฬาภูติอนันต์ 2 กรมสรรพาวุธทหารเรือ กทม.สามารถรองรับได้ 80 เตียง ส่วนกองทัพอากาศ  เปิดใช้งานโรงพยาบาลสนามแล้ว 2 แห่ง พร้อมรองรับผู้ป่วยได้ 240 เตียง ใช้บริการ 109 เตียง คงเหลือ 131 เตียง
          เผยพยาบาล1คนดูแลผู้ป่วย100เตียง
          ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย น.ส.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล ในประธานสมาพันธ์สภาวิชาชีพ ร่วมกันแถลงข่าวสมาพันธ์ สภาวิชาชีพรวมใจกู้ภัยโควิด-19 โดย ผนึกกำลัง 11 สภาวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาสถาปนิก สภาทนายความ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19
          ด้าน น.ส.ทัศนากล่าวว่า บุคลากรทั้งแพทย์พยาบาลต่างทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง มีทั้งแพทย์ พยาบาลติดเชื้อ และถูกกักตัว ซึ่งรพ.แต่ละแห่ง มีพยาบาลติดเชื้อ-กักตัว เฉลี่ย 20-30 คน โดยสถานพยาบาลในกทม. ต้องกักตัวแพทย์พยาบาลมากถึง 17 แห่ง และมีกลุ่มพยาบาลถูกกักตัวมาก 78 คน พบในโรงเรียนแพทย์ ทำให้สูญเสียบุคลากรในการทำงาน  ทำให้งานหนักล้นมือ บางแห่ง พยาบาล 1 คน ดูแลผู้ป่วยมากถึง 100 เตียง จากเดิม พยาบาล 1 คนดูแล 20 เตียงเท่านั้น ถือว่าเป็นภาวะวิกฤติ จึงอยากเชิญชวนทุกวิชาชีพร่วมกันเป็นอาสาสมัครในการช่วยแก้ไขวิกฤติโควิด

 pageview  1210874    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved