Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 30/06/2564 ]
กฎหมายคุมน้ำเมา ส่อง6ประเด็นจาก2ร่างแก้ไข

  แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การต่อสู้ทางความคิดในประเด็น "กฎหมายควบคุมน้ำเมา" หรือการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551  ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งนอกจากร่างกฎหมายฉบับประชาชน ที่ผ่านกระบวนการล่ารายชื่อจนครบ 10,000 คนตามกลไกที่รัฐธรรมนูญกำหนดและยื่นต่อรัฐสภาไปเมื่อเดือน มี.ค. 2564 แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ยังมี ร่างกฎหมายที่ทาง สำนักงานคณะ กรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เสนอมาอีกฉบับ โดยทีมงาน "นสพ.แนวหน้า" ขอนำ บางประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในช่วงที่ผ่านมาของกฎหมายเดิม มานำเสนอเพื่อเปรียบเทียบกับร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับ
          1.บทนิยาม (มาตรา 3) : มีการเสนอขอแก้ไขดังนี้ "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" กฎหมายฉบับ 2551 หมายความว่า สุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น, ร่างแก้ไขฉบับ สนง.คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายความรวมถึง วัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถดื่มกินได้ เช่นเดียวกับน้ำสุรา หรือซึ่งดื่มกินไม่ได้แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา แต่ไม่รวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินศูนย์จุดห้าดีกรี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติด ให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
          "การสื่อสารการตลาด"กฎหมายฉบับ 2551 หมายความว่า การกระทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการ หรือภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริม การขาย การแสดงสินค้า การจัดหรือ สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ และการตลาดแบบตรง, ร่างแก้ไขฉบับ สนง.คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายความว่า การกระทำใดๆ ในรูปแบบต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการ หรือภาพลักษณ์ โดยการประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขายการแสดงสินค้า การจัดหรือสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ และการตลาดแบบตรง
          "ขาย" กฎหมายฉบับ 2551 หมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า, ร่างแก้ไขฉบับประชาชน หมายความว่า จำหน่าย หรือแลกเปลี่ยน สินค้ากับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการค้า "โฆษณา"กฎหมายฉบับ 2551 หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด, ร่างแก้ไขฉบับประชาชน หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
          อนึ่ง ร่างแก้ไขฉบับประชาชน ยังเสนอให้เพิ่มถ้อยคำ "จัดเลี้ยงตามประเพณี" ไว้ในกฎหมายในส่วนของบทนิยามด้วย โดยระบุว่า จัดเลี้ยงตามประเพณี หมายความว่า งานเลี้ยงที่จัดขึ้นโดยเจ้าของสถานที่ หรือมีผู้ขอเช่าใช้สถานที่ในการจัดงานที่เป็นไปตามประเพณีสืบต่อกันมา ได้แก่ งานเลี้ยงปีใหม่ งานแต่งงาน งานเลี้ยงส่ง งานเลี้ยงต้อนรับ งานครบรอบ งานเกษียณอายุ
          2.สถานที่ห้ามขาย (มาตรา 27) : กฎหมายฉบับ 2551 ห้ามขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้ (1) วัดหรือสถานที่ สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา (3) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร (4) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก (5) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ (6) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง (7) สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป
          (8) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการ, ร่างแก้ไขฉบับประชาชน ใช้ข้อความเดียวกันกับกฎหมายฉบับ 2551 ในข้อ (1)-(7) แต่ยกเลิกข้อ (8), ร่างแก้ไขฉบับ สนง.คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคง 8 ข้อการกำหนดสถานที่ห้ามขายไว้คงเดิมตามกฎหมายฉบับ 2551 แต่ให้เพิ่มข้อความเป็นวรรคสอง ระบุว่า ทั้งนี้ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพิ่มเติมตามความในวรรคหนึ่งก็ได้
          3.วัน-เวลาห้ามขาย (มาตรา 28) :กฎหมายฉบับ 2551 (วรรคหนึ่ง) ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันหรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคณะกรรมการ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไข หรือข้อยกเว้นใดๆ เท่าที่จำเป็น ไว้ด้วยก็ได้ (วรรคสอง) บทบัญญัติ ในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับการขายของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือตัวแทนของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ไปยังผู้ขายซึ่งได้รับ อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสุรา,
          ร่างแก้ไขฉบับประชาชน ให้ยกเลิกข้อความในวรรคหนึ่งของกฎหมายฉบับ 2551 แล้วใช้ข้อความดังนี้แทน มาตรา 28 (วรรคหนึ่ง) ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใดๆ ที่ช่วยลดผลกระทบ ต่อภาคธุรกิจหรือการท่องเที่ยวไว้ด้วย (ส่วนวรรคสองของร่างแก้ไขฉบับประชาชน ยังให้ใช้ข้อความเดิมตามกฎหมายฉบับ 2551)
          4.วิธีการขาย (มาตรา 30) :กฎหมายฉบับ 2551 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะดังต่อไปนี้ (1) ใช้เครื่องขายอัตโนมัติ (2) การเร่ขาย (3) การลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม การขาย (4) ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการการชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแก่ผู้นำหีบห่อหรือสลาก หรือสิ่งอื่นใด เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ (5) โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น หรือการให้บริการอย่างอื่นแล้วแต่กรณี
          หรือแจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเป็นตัวอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นการจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการขายในลักษณะที่เป็นการบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทางตรงหรือทางอ้อม (6) โดยวิธีหรือลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำ ของคณะกรรมการ, ร่างแก้ไขฉบับประชาชน ใช้ข้อความเดียวกันกับกฎหมายฉบับ 2551 แต่ให้ยกเลิก ข้อ (1) (3) (5) และ (6)
          5.สถานที่ห้ามดื่ม (มาตรา 31) : กฎหมายฉบับ 2551 ห้าม มิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้ (1) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติ พิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่ง ของพิธีกรรมทางศาสนา (2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล
          (3) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือจัดการจัดเลี้ยงตามประเพณี (4) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หรือสถานศึกษาที่สอนการผสม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษา แห่งชาติ (5) สถานีบริการน้ำมัน เชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงหรือร้านค้า ในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
          (6) สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป (7) สถานที่อื่นที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดย คำแนะนำของคณะกรรมการ, ร่างแก้ไข ฉบับ สนง.คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคง 7 ข้อการกำหนดสถานที่ห้ามดื่มไว้คงเดิมตามกฎหมายฉบับ 2551 แต่ให้เพิ่มข้อความเป็นวรรคสอง ระบุว่า ทั้งนี้ รัฐมนตรีโดย คำแนะนำของคณะกรรมการ อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพิ่มเติมตามความในวรรคหนึ่งก็ได้,
          ร่างแก้ไขฉบับประชาชน ในข้อ (1) (2) (3) (5) (6) ให้ใช้ข้อความเดียวกันกับกฎหมายฉบับ 2551 ส่วนข้อ (7) ให้ยกเลิก และข้อ (4) ให้แก้ไขเป็นข้อความดังนี้ (4) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หรือสถานศึกษาที่สอนการผลิต หรือการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
          6..การโฆษณา (มาตรา 32) :กฎหมายฉบับ 2551 (วรรคหนึ่ง) ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการ อวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม (วรรคสอง) การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดย ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม
          โดยไม่ปรากฏภาพของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏ ของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (วรรคสาม) บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง และวรรสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณา ที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร, ร่างแก้ไขฉบับ สนง.คกก.ควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ นอกจากมาตรา 32 เดิม ยังมีมีการเพิ่มมาตราย่อยขึ้นหลายมาตรา ดังนี้ "มาตรา 32/1" ห้ามผู้ใดแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดหรืออ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรงหรือโดยอ้อม
          "มาตรา 32/2" ห้ามผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์เป็นชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้น หรือโฆษณาโดยการนำเอาชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตัด ต่อเติม หรือดัดแปลงข้อความ ให้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหรือ เครื่องหมาย ของผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้น ทั้งนี้ ในลักษณะ ที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าหมายความถึงการโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ "มาตรา 32/3" ห้ามผู้ใดให้การอุปถัมภ์ หรือให้การสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
          (1) เป็นการสร้างภาพลักษณ์ต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (2) ที่ส่งผล หรือที่อาจส่งผลเสียต่อนโยบายการ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (3) โฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือโฆษณาตามมาตรา 32/2 (4) ส่งเสริมการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (5) ลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม "มาตรา 32/4" ห้ามผู้ใดเผยแพร่ กิจกรรมหรือข่าวสาร เพื่อประชาสัมพันธ์ กิจกรรมตามมาตรา 32/3, ร่างแก้ไขฉบับประชาชน ให้ยกเลิกข้อความ ในมาตรา 32 เดิมของกฎหมายฉบับ 2551 แล้วใช้ข้อความดังนี้แทน มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ
          ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น หน่วยงานควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงาน ฯลฯ ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านร่างกฎหมาย ฉบับเต็ม พร้อมแสดงความเห็นได้ดังนี้ 1.ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยนายเจริญ เจริญชัย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน ที่ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=146 โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป 2.ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดย สำนักงานคณะกรรมการควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ที่ http://alcoholact.ddc.moph. go.th/act/ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.-9 ก.ค. 2564 !!!

 pageview  1210868    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved