Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 28/06/2564 ]
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิด ศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม นำร่องฉีดวัคซีนตัวเลือกพระราชทานให้ผู้ด้อยโอกาส-ผู้สูงอายุ

   ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม พร้อม นำร่องฉีดวัคซีนพระราชทานในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จำนวน 6,400 โดส ให้กับผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุเป็นกลุ่มแรก โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เข้าร่วมเยี่ยมชมและให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์และ ผู้ปฏิบัติงาน ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บริเวณชั้น 1 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ TOT เดิม สำนักงานแจ้งวัฒนะ อาคาร 9
          ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือก ซิโนฟาร์ม ณ อาคาร 9 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) สำนักงานแจ้งวัฒนะ เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือก "ซิโนฟาร์ม" สำหรับกลุ่มบุคคลในองค์กรต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนระยะที่ 1 และเลือกโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งมีศักยภาพรองรับการฉีดได้ถึง 5,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ ได้มีการนำร่องฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทานใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่โปรด ให้มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ นำเงินทุนมาจัดซื้อวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มและพระราชทานแก่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวน 6,400 โดส ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564 เพื่อนำไปจัดสรรกระจายฉีดให้แก่ประชาชน ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อย และชุมชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลเป็นกลุ่มแรก
          สำหรับวัคซีนตัวเลือกจากบริษัทซิโนฟาร์มที่ใช้ในประเทศไทย ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศไทยในการดำเนินการ
          ประสานติดต่อและนำเข้าวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามา เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ซึ่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ประกาศหลักเกณฑ์และข้อกำหนดการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ระยะที่ 1 ให้สำหรับองค์กรนิติบุคคลและหน่วยงานเป็นผู้สนับสนุนค่าวัคซีนให้กับกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกำหนดอัตราค่าวัคซีนอยู่ที่ 888 บาทต่อโดสรวมค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษาพร้อมประกันผลข้างเคียงจากเมืองไทยประกันภัย
          ทั้งนี้ ได้เปิดให้องค์กรได้ยื่นความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนผ่านระบบออนไลน์เข้ามาระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และได้ประกาศการจัดสรรวัคซีนไปแล้วให้กับ 6,437 องค์กร เป็นจำนวน 779,300 คน โดยพิจารณาตามประเภทการดำเนินธุรกิจที่มีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศ ระดับ ความเสี่ยงของโอกาสในการแพร่เชื้อให้กับสังคม และระดับความเสี่ยง บนพื้นที่ของทำเลที่ตั้งสถานประกอบการ
          ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ กล่าวต่อไปว่า วัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ลอตแรกจำนวน 1 ล้านโดส ได้จัดส่ง
          มาถึงประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และผ่านการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนจากกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และได้เริ่มทยอยส่งวัคซีนให้สถานพยาบาลที่รับฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งจะเริ่มกระจายฉีดให้กับองค์กรต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ
          "การจัดสรรวัคซีนครั้งนี้ เป็นการจัดสรรวัคซีนให้กับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนช่องทางปกติได้ เช่น คนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เนต คนที่ทำมาหากิน หาบเร่ เป็นต้น วัคซีนที่นำมาจัดสรรครั้งนี้มาจากวัคซีนที่ได้รับการบริจาค 10% จากองค์กรต่างๆ ขณะเดียวกันวัคซีนลอตต่อไปทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีแผนที่กระจาย วัคซีนอยู่แล้ว แต่จะจำนวนเท่าไหร่ต้องรอสรุปให้ชัดเจนอีกครั้ง คาดว่าจะมีจำนวนวัคซีนทยอยเข้ามาเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ มีองค์กรที่แจ้งความประสงค์เข้ามาประมาณ 17,000 องค์กร ประมาณ 4.7ล้านคน โดยเราพยายามจัดสรรให้ได้รับวัคซีนทั้งหมดภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ต้องเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็น เช่น กลุ่มบริษัทน่าจะได้รับทั้งหมด เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องไปทำธุรกิจหรือประกอบกิจการต่อไปได้, กลุ่มการปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะนี้กำลังจัดลำดับความสำคัญ เพราะกลุ่มนี้อาจไม่ได้รับทั้งหมด เพราะต้องไม่ไปทับซ้อนกับวัคซีนที่รัฐบาลจัดให้อยู่แล้ว สำหรับประชาชนทั่วไปพอเรามีวัคซีนตัวเลือกเข้ามาเท่ากับว่าไปแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณรัฐบาล เพราะองค์กรต่างๆ ออกค่าใช้จ่ายเอง และไปทำให้ลิสต์การรอคอยวัคซีนตัวหลักสั้นลงด้วย การกระจาย วัคซีนจะได้เสร็จเร็วขึ้น ประเทศเราก็จะได้ไปสู่จุดหมายเร็วๆ" เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวในที่สุด

 pageview  1210869    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved