Follow us      
  
  

บ้านเมือง [ วันที่ 26/03/2555 ]
คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ: 'ไวรัสตับอักเสบบี'

          ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับในคนไทย จากข้อมูลการสำรวจพบว่าประชากรไทยประมาณเกือบครึ่งเคยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย แต่เพียงประมาณร้อยละ 5 คิดเป็นประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง โดยที่ส่วนมากไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย ในอดีตมักเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า เป็นพาหะของโรค ความรู้ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่เรียกตนเองว่าเป็นพาหะของโรค เมื่อติดตามไปนานๆพบว่าอัตราการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับจะเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในเพศชายและคนที่มีประวัติญาติสายตรงในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ โดยความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
          เนื่องจากตับในภาวะปกติไม่ได้ทำงานเต็มสมรรถนะ มีการสำรองความสามารถในการทำหน้าที่ของตับไว้อย่างดี ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน หรือเพิ่งเริ่มเป็นตับแข็งจึงอาจไม่แสดงอาการได้ แต่เมื่อภาวะตับแข็งเป็นมากขึ้นจนตับไม่สามารถชดเชยการทำงานที่สูญเสียไปได้ ผู้ป่วยจึงแสดงอาการ เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง ท้องโตขึ้นเนื่องจากมีภาวะน้ำในช่องท้องอาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น การตรวจพบและรักษาภาวะตับอักเสบเรื้อรังตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้
          ไวรัสตับอักเสบบีติดต่อได้หลายทาง ที่สำคัญคือ
          1.ติดต่อจากมารดาสู่ทารก ขณะคลอด โดยเฉพาะมารดาที่ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ภายในร่างกาย หากการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในขวบปีแรกของทารก โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อเรื้อรังจะสูงมาก การติดต่อจากมารดาสู่ทารกเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
          2.ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฝังเข็ม การฉีดหรือเจาะตามร่างกายที่ไม่ถูกวิธีและไม่ได้ทำโดยวิธีปลอดเชื้อ
          3.ติดต่อทางการให้เลือด ฟอกไต การปลูกถ่ายอวัยวะ
          4.ติดต่อจากบุคคลในบ้าน โดยการใช้ของใช้ที่อาจปนเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ
          อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี
          เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายเชื้อไวรัสจะเข้าไปฟักตัวในตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบบีเฉียบพลัน ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วย จะไม่แสดงอาการชัดเจน อาการที่พบ เช่น ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียนอ่อนเพลีย ตามมาด้วยตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าได้รับการตรวจเลือดจะพบว่าค่าการทำงานของตับ (AST และ ALT) สูงขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ ผู้ป่วยส่วนน้อยจะกลายเป็นตับอักเสบบีเรื้อรัง
          การตรวจเลือดของโรคไวรัสตับอักเสบบี
          ในการตรวจกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาศัยการตรวจเลือดเป็นหลัก โดยการตรวจเลือดหาส่วนเปลือกนอกหรือผิวของไวรัสบี (HBsAg) ซึ่งจะพบได้ทั้งในผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลันและเรื้อรัง ตรวจเลือดหาภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Anti-HBs) และตรวจ Anti-HBc ซึ่งถ้าให้ผลบวกบ่งชี้ว่าเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน
          นอกจากนั้นในรายที่ตรวจพบแล้วว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ อาจตรวจหาปริมาณของเชี้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV viral load) เพื่อช่วยประเมินและติดตามการรักษา
          ข้อมูลจาก น.พ.พงษ์ภพ อินทรประสงค์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลพญาไท 2/http://www.phyathai.com

 pageview  1210898    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved