Follow us      
  
  

โลกวันนี้ [ วันที่ 05/05/2555 ]
เด็กขี้กลัว

พญ.ปราณี เมืองน้อย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก)
          "แม่อุ้มฉี่หน่อย น้องไม้กลัวแดร็กคิวล่าโผล่หน้ามาในชักโครกคร้าบบ"
          "เสียงใครมาเคาะประตูคะคุณแม่ นางนากอะ กรี๊ด" หลากหลายเรื่องราวในจินตนาการที่น่ากลัวของเด็กมักจะตามมาด้วยเสียงร้องกรี๊ดหรือนอนขดตัวอยู่ในผ้าห่มจนแทบไม่ยอมขยับเขยื้อนตัวลุกไปไหน หลายๆบ้านที่มีลูกวัยอนุบาลอาจเริ่มรู้สึกว่าเอ...หรือลูกเราจะมีปัญหาเข้าแล้ว เพราะเจ้าความกลัวไร้เหตุผลที่ว่าส่งผลกระทบมากมายต่อกิจวัตรประจำวันของเจ้าตัวน้อยจนแทบจะเกิดศึกภายในบ้านกันเลยทีเดียว
          ลูกขี้กลัวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คุณพ่อคุณแม่คิดหรอกค่ะ แท้ จริงแล้วความกลัวของเด็กพบได้ตามธรรมชาติ จะกลัวสูงสุดในช่วงวัย 3-5 ปี ส่วนใหญ่เด็กจะกลัวความมืด เสียงดังๆ ที่สูง และผี เป็นต้น สัญชาตญาณมีไว้ให้คนคนนั้นเกิดความระมัดระวังต่อสิ่งต่างๆ แต่ถ้าสัญชาตญาณนี้ขาดหายจะทำให้ชีวิตเกิดอันตรายได้ หรือถ้ามีมากไปก็จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้ดี
          สาเหตุที่ลูกน้อยในบ้านกลายเป็นเด็กขี้กลัว คุณพ่อคุณแม่ลองพิจารณาดูก็จะพบสาเหตุหลักๆคือ
          1.มีแบบอย่างของคนขี้กลัว วิตกกังวล หรือเป็นโรคประสาทวิตกกังวลอยู่
          2.ถูกข่มขู่ ถูกหลอก ทำให้ตกใจกลัวอยู่บ่อยๆ 3.มีประสบการณ์ที่ทำให้ตกใจอย่างรุนแรงมาก่อน เช่น ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว ถูกตี ดุว่าอย่างรุนแรง
          4.ขาดคนประคับประคอง ขาดการฝึกฝนทักษะ ทำให้ขาดความมั่นใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ไม่ดี
          วิธีการแก้ไขที่จะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่นำไปช่วยเหลือเพื่อปรับพฤติกรรมลูกมีดังนี้
          1.ลดท่าทีข่มขู่ ผู้ใหญ่นี้ก็แปลกยิ่ง เห็นเด็กกลัวแล้วยิ่งแสดงท่าทีข่มขู่เพิ่มขึ้น แต่กับเด็กหลายคนที่ไม่สนใจในท่าทีข่มขู่หรือบีบบังคับจากแม่ แม่ก็จะลดท่าทีลง แถมบอกว่าทำไปก็เหนื่อยเปล่า เพราะเด็กไม่สนใจ เป็นเสียแบบนี้ล่ะค่ะ การหลอกทุกรูปแบบให้เด็กหวาดกลัว เช่น หลอกว่าตุ๊กแกกินตับ เดี๋ยวจะให้หมอฉีดยา หารู้ไม่ว่าเท่ากับไปเพิ่มความวิตกกังวลและความกลัวให้แก่เด็กโดยไม่มีความจำเป็น
          2.แสดงท่าทีอบอุ่น ปลอบประโลม เข้าใจความรู้สึกของเด็ก บอกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเบี่ยงเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่น ทำซ้ำๆสม่ำเสมอ และอยู่ใกล้ชิดกับเด็กให้นานพอ
          3.หาต้นแบบของความวิตกกังวล หรือคนขี้กลัวภายในบ้าน เพราะพฤติกรรมของเด็กส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเลียนแบบ แม่ที่เห็นจิ้งจกแล้วกระโดดขึ้นเก้าอี้ร้องกรี๊ดๆอยู่ยาวนานจะทำให้เด็กเกิดความตกใจและหวาดกลัวตามได้ นั่นเป็นเพราะแม่คือโลกที่มั่นคงที่สุดในชีวิตของเด็กยังตกใจ
          4.เพิ่มทักษะในการช่วยเหลือตนเอง การตัดสินใจและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นบ่อยๆจะส่งผลให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองและสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น
          5.ฝึกให้เผชิญกับสิ่งที่น่ากลัวทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป และคอย ให้กำลังใจเป็นระยะ จนเด็กสามารถเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวได้เพิ่มขึ้น
 

 pageview  1210916    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved