Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 05/02/2564 ]
อนุทินมั่นใจฉีดวัคซีนเดือนละ5ล.โดส

 "ศบค." แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 809 ราย "หมอทวีศิลป์"เผยเล็งพักการคัดกรองเชิงรุก "อนุทิน" เผยวัคซีนลอตแรกเดือน ก.พ.ของบริษัทแอสตราฯ เปลี่ยนต้นทางนำเข้าจากยุโรปเป็นเอเชีย เลี่ยงปัญหาอียูจำกัดส่งออก ยันทยอยฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนตามเป้าหมายเริ่มมิ.ย.นี้ เดือนละ 5 ล้านโดส
          ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ก.พ.64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 809 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 796 ราย แบ่งเป็นระบบเฝ้าระวังและบริการ45 ราย และผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 751 ราย กลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค (Quarantine) 13 ราย ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยรวมสะสม 22,058 รายแบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 19,553 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 12,298 ราย รักษาหายแล้ว 14,798 ราย เหลือรักษาอยู่ 7,181 ราย แบ่งเป็นอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 2,249 ราย รพ.สนาม 4,932 ราย ผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 8 ราย และผู้เสียชีวิตสะสมที่ 79 ราย ในการระบาดรอบใหม่ผู้ติดเชื้อสะสม 17,821 ราย
          "วันนี้ผู้ป่วยใหม่ใน จ.สมุทรสาคร พบ 786 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.62 ของผู้ป่วยรายวัน ยอดสะสมที่ 13,532 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 79.18 ของผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ ส่วนใน กทม. จะเป็นการเดินเข้ามาที่ รพ. จะมากกว่าคัดกรองเชิงรุก ซึ่ง 2 จังหวัดนี้เป็นหัวใจสำคัญ
          วันเดียวกัน ที่อาคารสำนักงานบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังกล่าวปาฐกถาในงานเสวนา"พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤติเศรษฐกิจไทย" ว่า ตามแผนของประเทศไทย ในการผลิตวัคซีนจาก บริษัท แอสตราเซเนกา ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ประเทศไทย จำนวน 26 ล้านโดส ในเดือน มิ.ย.64 และจะสามารถเร่งกระจายวัคซีนไป 5 ล้านโดสต่อเดือน นอกจากนี้ยังได้พยายามหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมด้วย อีกประมาณ 2-3 ล้านโดส
          ทั้งนี้ ด้วยความพยายามจัดหาวัคซีนให้ได้เร็วขึ้น เพื่อนำมาซักซ้อมในการฉีดให้กับคนไทย จึงได้เจราจากับบริษัทแอสตราฯ เพื่อขอวัคซีนลอตล่วงหน้าจำนวน 150,000 โดส ซึ่งตามแผนแอสตราฯ จะส่งวัคซีนที่ผลิตจากประเทศฝั่งยุโรป จำนวน 50,000 โดส เข้ามาในประเทศไทยช่วงต้นเดือน ก.พ.
          นายอนุทิน กล่าวว่า เนื่องด้วยติดปัญหาที่อียูจำกัดการขนส่งวัคซีนในฝั่งยุโรป จึงเป็นปัญหาเล็กน้อย อย่างไรก็ตามก็อยากให้ทันตามกรอบเดิมคือก.พ.เราก็ได้พยายามเจราจากับบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอให้จัดส่งวัคซีนมาให้กับเราก่อนซึ่งแอสตราฯ ก็ได้บริหารจัดการซัพพลายเชนอื่นๆ ที่อยู่นอกยุโรป เพื่อหาวัคซีนส่งให้กับเรา แต่เป็นวัคซีนตัวเดียวกันสูตรเดียวกันของแอสตราฯ ซึ่งตอนนี้คาดว่าจะเป็นวัคซีนจากประเทศในเอเซียบางเรื่องเราพูดเยอะไม่ได้ อย่างเช่นของยุโรปที่โดนอียูจำกัดการขนส่ง
          นายอนุทิน กล่าวอีกว่า วัคซีนสูตรเดียวกันที่จะเข้ามา ผ่านการประเมินความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แล้ว แต่อันนี้เป็นคนละโรงงานการผลิต ก็จะต้องให้อย. ประเมินความปลอดภัยเรื่องสถานที่การผลิตอีกครั้ง สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีนของไทยอยู่ที่เดือน มิ.ย.64 ทยอยฉีดเดือนละ 5 ล้านโดส โดยใช้วัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา ที่เลือกให้บริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ เป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน กำลังการผลิต 200 ล้านโดส ซึ่งน่าจะเป็นความภาคภูมิใจและสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยโดยไม่เกิดปัญหาสะดุดเหมือนกรณีวัคซีน 5 หมื่นโดสแรก ที่สหภาพยุโรป (อียู) สั่งระงับการส่งออก
          "เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ขาย ถึงแม้การเจรจาซื้อวัคซีนเข้าก่อนจะสะดุดแต่ไม่กระทบต่อการป้องกันโรค และเราคำนึงถึงประสิทธิภาพ ไม่ใช่ราคาถูกอย่างเดียว เราไม่ได้หลุดแทร็ก ยังเดินตามไทม์ไลน์ ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็น free Covid-19 ก่อนประเทศอื่น และเมื่อเราได้รับวัคซีนแล้วไม่ใช่จะถอดหน้ากาก ยังต้องใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มัลต่อไปสักระยะหนึ่ง ทุกอย่างยังเป็นทฤษฎีการฉีดวัคซีนต้องระมัดระวังมาก เราไม่ได้ล่าช้า ศึกษามาหลายเดือนแล้ว อย่านำเราไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีการติดเชื้อวันละหลายหมื่นหลายแสนคน" นายอนุทินกล่าว

 pageview  1210894    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved