Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 01/03/2564 ]
สมุนไพรรักษา โรคไต สิ่งที่ควรรู้-ข้อควรระวัง

น.อ.นพ.พงศธร คชเสนี อายุรแพทย์โรคไตโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
          ในปัจจุบันได้มีการโฆษณาถึงสรรพคุณของยาสมุนไพรหลายชนิด ว่าสามารถรักษาโรคไตเรื้อรังให้ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยง่าย ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและนำมาแปรรูปเป็นแคปซูลหรือในรูปแบบต่างๆ ทำให้คนไข้อาจจะมีความสงสัยอยู่ว่าเขาสามารถจะลองใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรต่างๆเพื่อช่วยรักษาโรคไตของเขาได้หรือไม่?จะมีข้อเสียอะไรหรือเปล่า?
          ในประเด็นนี้สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้เนื่องจาก
          1) ไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งยาสมุนไพรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคไต
          2)สมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก
          3) สมุนไพรอาจมีสารปลอมปน เช่นยาแก้ปวด สเตียรอยด์
          4) สมุนไพร และพืชบางชนิดมีพิษต่อไตโดยตรง หรือทำให้เกิดผลเสียในผู้ป่วยโรคไตได้ เช่น ไคร้เครือ(Aristolochia) ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังและมะเร็งทางเดินปัสสาวะ, มะเฟือง(Star fruit)ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน,ปอกะบิด (East Indian screw tree)ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ, ชะเอมเทศ(Licorice)ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง, น้ำลูกยอ(Morinda citrifolia L)ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
          5) สมุนไพรยังอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา(drug interaction)กับยาประจำที่แพทย์สั่งซึ่งอาจลดประสิทธิภาพหรือเกิดพิษของยาขึ้นได้
          สำหรับสมุนไพรอีกชนิด คือถั่งเช่าซึ่งมีแพร่หลายอย่างมาก มีทั้งศิลปิน ดารานักแสดง พิธีกรต่างๆ เป็นผู้แนะนำสินค้าบนโลกออนไลน์โซเชียลมีเดียนั้น สมาคมโรคไตฯ ขอยืนยันว่า จากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย
          ส่วนถั่งเช่าที่มีการศึกษาในมนุษย์นั้นส่วนใหญ่เป็น ถั่งเช่าจากทิเบต(Cordyceps sinensis)ที่เกิดในธรรมชาติซึ่งมีราคาสูงมาก การศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 1-6 เดือนเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบถึงผลดีผลเสียในระยะยาวได้และยังพบว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบตบางส่วนมีโลหะหนักในปริมาณสูง ซึ่งจะมีผลเสียต่อไตในระยะยาว
          ปัจจุบันถั่งเช่าที่ขายอยู่ส่วนใหญ่เป็นถั่งเช่าสีทอง(Cordyceps militaris)ที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นในฟาร์ม โดยใช้อาหารเลี้ยงแบบต่างๆ ทำให้ถั่งเช่าแต่ละชนิดที่ถูกเพาะเลี้ยงในแต่ละวิธีผลิตสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันมาก และส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาทดลองในมนุษย์ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ง่าย และแพทย์โรคไตยังพบอุบัติการณ์การเสื่อมของไตภายหลังจากการรับประทานถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอยู่เสมอ
          โดยสรุปการที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์โดยเราต้องอย่าลืมว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีค่าการทำงานของไตลดลงอยู่แล้วซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อไตทั้งหมดติดตามรายละเอียดเรื่องของ "สมุนไพรกับโรคไต" อย่างเจาะลึกได้ ในงานกิจกรรมวันไตโลก ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านFACEBOOKLIVEของ "สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย" ในวันที่ 11 มี.ค. 64 ตั้งแต่เวลา 09.00-13.30 น. โดยมีผู้เชี่ยวชาญพร้อมที่จะมาอธิบายให้รู้ข้อเท็จจริงได้อย่างแท้จริง

 pageview  1210888    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved