Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 28/11/2562 ]
ใช้ยาไม่สมเหตุผล เรื่องใหญ่ที่คนมองข้าม

 "ขณะนี้เชื้อโรคดื้อยาค่อนข้างเยอะ ภาคใต้เจอคนไข้วัณโรค ดื้อยาทุกชนิด ค่ารักษา ตกราว 2 ล้านบาทต่อคน อัตราการหายจากโรค 30 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักๆ เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม เรื่องนี้ส่งผลต่อระบบงบประมาณด้วย จากพันกว่าบาทเป็นสามพันกว่าบาทต่อหัว ภายใต้งบประมาณจำนวนนี้เกินครึ่งหนึ่งเป็นค่ายา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นมาเลย"
          นพ.กำพล กาญจโนภาสรองประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วย การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางกล่าวถึงความสำคัญที่เป็นเหตุให้เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หนึ่งในประเด็นที่จะนำเข้าพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้
          ปัญหา'การใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม' อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูไม่ร้ายแรง หากในทางปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องที่ส่ง ผลกระทบอย่างมากทั้งกับสุขภาพประชาชนและระบบงบประมาณ อีกทั้งการจัดการเรื่องนี้ก็ยากยิ่ง ร่างมตินี้จึงนำเสนอภาพรวมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ  กลางน้ำ ปลายน้ำ นั่นคือ การสร้างจิตสำนึกที่ดีและการตระหนักรู้ของบุคคล การบริหารจัดการระบบยาที่ดี และการกำกับติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ
          เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นปัญหาใหญ่ ในประเทศไทย แต่ยังเป็นปัญหาร่วม ในระดับโลก องค์การอนามัยโลกระบุว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาในประเทศกำลังพัฒนาเป็นการใช้ยาที่ ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า
          ทั้งนี้ ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลที่พบบ่อย ได้แก่ จาก ผู้ให้บริการ ที่อาจจะมีการสั่งยาไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษา หรือสาเหตุจากผู้ป่วย ที่ในหลายกรณีมีการใช้ยาหลายขนานร่วมกัน มีการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดการดื้อยา การใช้ยาฉีดเกินจำเป็น ทั้งๆ ที่ใช้ยาทานได้ และซื้อยากินเองจากร้านชำ
          ประเทศไทยมีมูลค่าการบริโภคยาประมาณร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีค่าใช้จ่าย ด้านยาต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพเพียงร้อยละ 10-20 ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสมในทุกระดับทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน การใช้ยาในชุมชน โดยเฉพาะยาที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาสเตียรอยด์ ยาชุด เป็นต้น โดยในปี 2555 มีงานศึกษาพบว่า ผู้ป่วย 19.2 ล้านคนครอบครองยาเกินความจำเป็น และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณจากการครอบครองยาเกินจำเป็นราว 2,370 ล้านบาท/ปี
          ในระดับโครงสร้างร่างมติฯ นี้  ได้เสนอให้มีกลไกระดับชุมชน เพื่อ ขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การสนับสนุนชุมชนต้นแบบที่มีระบบการเฝ้าระวังเตือนภัยการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การพัฒนาชุดความรู้การใช้ยาเท่าที่จำเป็น สมเหตุผลและส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ ดำเนินการและสนับสนุนให้เกิดความตระหนักต่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการสุขภาพต่อสาธารณะสุขระดับทุกหน่วยงานดำเนินการให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
          นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควมคุมโรค สะท้อนว่า ร่างมติควรให้ความสำคัญเขตเมืองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประชากรในเขตเมืองมีประมาณ 37  ล้านคน แต่ข้อมูลการจัดการในเขตเมืองขาดหาย เพราะในพื้นที่นิติบุคคล เช่น คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ไม่มีอสม.เหมือนพื้นที่ต่างจังหวัด จึงจำเป็นต้องนำเสนอวิธีการจัดการอีกรูปแบบ
          "จึงอยากเสนอให้ กทม.สร้างต้นแบบการจัดการหรือกลไกการจัดการแบบมุ่งเป้า enhancing zone เช่น  คอนโด บ้านจัดสรร ชุมชนแออัด เรือนจำ"
          อีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่มีข้อมูลและไม่มีกลไกใดไปติดตามเรื่องการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสมคือ 'พื้นที่ทหาร' ซึ่งผู้แทนปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมก็น่าจะอยู่ในกลุ่ม เป้าหมายภายใต้ร่างมตินี้ เพราะหน่วยงาน ในกระทรวงกลาโหมมีเป็นจำนวนมาก
          ในด้านข้อเสนอการจัดการและติดตามการใช้ยาในโรงเรียน ตัวแทนครูจากกระทรวงศึกษาธิการให้ข้อมูลว่า  การพัฒนาระบบห้องพยาบาลในโรงเรียนและความรู้ของครูประจำห้องพยาบาลลำพังอาศัยเพียงกระทรวงศึกษาธิการ ไม่น่าจะทำได้ เพราะครูที่ดูแลห้องพยาบาลส่วนใหญ่เพียงดูแลความเจ็บป่วย เบื้องต้น เกือบทั้งหมดไม่ได้รับการอบรมเฉพาะทางจึงน่าจะต้องมีหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขมาให้ความรู้  ให้คำแนะนำ
          ชัยณรงค์ สังข์จ่าง ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นว่า โดยเจตนารมณ์ของการใช้ยา สมเหตุสมผล คือ การมุ่งให้ประชาชน ใช้ยาอย่างปลอดภัย แต่โจทย์หลักของการใช้ยาคือ ความคิดความเชื่อของคนในชุมชน การใช้ยาฆ่าเชื้อเป็นความเชื่อผิดๆ ของคนจำนวนมาก จึงต้องขยับที่ประเด็น ไม่ใช่มุ่งเน้นที่หน่วยงาน
          "ต้องมีนโยบายในการทำให้กลไก ในชุมชนทำงาน ส่วนจะออกแบบก็แล้วแต่บริบทแต่ละพื้นที่"
          สุรกิจ สุวรรณแกม นายกอบต.ดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึง บทบาทของกองทุนสุขภาพตำบลซึ่งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณ
          "กองทุนนี้จะเป็นตัวจักรสำคัญที่จะ ทำงานนี้ในตำบล ผมมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังประมาณ 300 คน คงต้องเริ่มต้นจากการขอข้อมูลว่าเขาใช้ยาอะไรกันบ้าง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่กินยาตามโฆษณาวิทยุโทรทัศน์อีกเยอะ ต้องสแกนตรงนี้ออกมาก่อน แล้วจึงให้ทาง อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) มานั่งดู คิดออกแบบสร้างระบบให้ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) เป็นคนช่วย แต่อย่าหวังว่าจะทำทุกพื้นที่ เพราะความเข้าใจไม่เท่ากัน ความสนใจ ไม่เหมือนกัน วิธีการทำงานกับท้องถิ่นต้องมีนำร่องไปก่อนสัก 2-3ปี พอเริ่ม เห็นผล พื้นที่อื่นจะเลียนแบบตาม"  นายก อบต.ดอนหญ้านาง กล่าว
          แม้เรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่นายแพทย์กำพลยืนยันว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยยกตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จอย่างชุมชนบ้านตาแกะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งทำเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use:RDU) โดยมีคณะกรรมการที่นายกอบต.เป็นประธาน รพ.สต.เป็นเลขาฯ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู โต๊ะอิหม่าม แกนนำชุมชนอีก 4-5คนร่วมกันเขียนแผนงาน
          นพ.กำพล กล่าวว่า ตอนนี้ รพ.สต.บ้านตาแกะ เป็นเหมือนภาคเอกชนเลย มีการใช้งบอบต.ทั้งหมด มีรถพยาบาลรับส่งผู้ป่วย มีการดูแลสุขภาพผ่านระบบสุขภาพทางไกล (telehealth)กับรพ.ทุกวันพฤหัสบดี จะมีคณะกรรมการเดินไปดูร้านชำว่า มียาที่ผิดกฎหมายอะไรหรือไม่

 pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved