Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 27/05/2563 ]
สธ.หนุนใช้แอพ ไทยชนะ สกัด โควิด-19 แพร่ระบาด

  การมีแพลตฟอร์มไทยชนะ ทำให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพในเชิงปริมาณ สามารถลงไปตรวจคัดกรองในพื้นที่จริง ซึ่งจากการลงพื้นที่และสำรวจต่างๆ พบว่า ตอนนี้การ์ดของประชาชนในการป้องกัน ดูแลตนเองตกลงทุกเรื่อง ทั้งเรื่องหมั่นตรวจ คัดกรองหวัดไข้ตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และ การสัมผัสหน้าตัวเอง
          กรุงเทพธุรกิจ   การที่มีข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้สามารถกระตุ้นคนไทยปรับพฤติกรรมให้กลับมาเป็นอย่างเดิม ขณะเดียวกัน จะใช้ ข้อมูลดังกล่าวเพื่อเข้าไปประเมินสถานประกอบการ ทั้งการประชาสัมพันธ์ การสวมใส่หน้ากากอนามัย/ผ้า มีการวัดไข้ ผู้มาใช้บริการ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ มีการเว้นระยะห่าง และมาตรการต่างๆ ช่วยให้สามารถดูแลควบคุมโรคได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือร้านค้าต่างๆ ซึ่งในส่วนของร้านค้าขอให้ลงทะเบียน โดยต้อง มีชื่อผู้ติดต่อในระบบ มีข้อมูลบัตรประชาชน เบอร์โทรและอีเมลให้ถูกต้อง
          ทั้งนี้จากการเปิดให้มีการใช้บริการแพลตฟอร์มไทยชนะมานั้น ขณะนี้มีการใช้มากกว่า 50 ล้านครั้ง ประชาชนที่ใช้งานกว่า 13 ล้านคน และร้านค้าที่ลงทะเบียน ประมาณ 2 แสนกว่าร้านค้า มีการประเมินต่างๆ 12 ล้านครั้ง ค่าเฉลี่ยของการประเมิน อยู่ประมาณ 4.93 หมายความว่าประชาชนและร้านค้าได้ดำเนินการตามมาตรการ  5 ข้อเป็นอย่างดี
          เฉลี่ยคนไทยใช้ระบบนี้ วันละประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งในวันเสาร์-อาทิตย์จะมีคนใช้งานมากขึ้น เป็น 2.8 ล้านคน ถึง 2.9 ล้านคนต่อวัน และประมาณ 40% ให้การตอบรับอย่างดี ซึ่งกระทรวงดีอีเอส จะนำผลประเมินต่างๆ ไปพัฒนาและปรับปรุงต่อไป เพื่อทำให้มาตรการนี้ ราบรื่น และอยู่ด้วยกันอย่างปลอดภัย
          นพ.พลวรรธน์  วิทูรกลชิต  ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) อธิบายว่า   อยากจะเน้นอีกครั้ง ข้อมูลที่ใช้ในการทำงานของแพลตฟอร์มไทยชนะนั้น ใช้เพื่อการสืบสวนป้องกันโรคเท่านั้น คำนึงถึงความเป็นส่วนตัว จะเป็น การรบกวนประชาชนให้น้อยที่สุด ดังนั้น อยากให้ทุกคนใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว หากมีการแพร่กระจายของโรคจะได้รู้ว่าตนเองเสี่ยงหรือไม่อย่างไร ซึ่งกระทรวงดีอีเอส ไม่มีบริการแจ้งเตือนใดๆ  หากประชาชนได้รับ SMS ขอให้ลบทิ้ง หรือไม่ต้องเข้าไปกดใดๆ
          จากการรายงานผลสำรวจของประชาชนในสัปดาห์แรก (4-14 พ.ค.) พบว่า ดัชนีการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรค โควิด-19 ของประชาชนอยู่ที่ 78.12%  โดย 57.6% ของประชาชนเคยเห็น ได้ยิน ได้อ่าน ข่าวปลอม ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา, 35.7% ของประชาชนยังไม่สามารถแยกข่าวจริงและข่าวเท็จ, 4.8% ของประชาชนแชร์ข้อความที่เป็นเท็จ และ 83.8% ของผู้ที่แชร์ข่าวเท็จแชร์ทางเฟซบุ๊ค ดังนั้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแพลตฟอร์มไทยชนะ สามารถโทรไปสอบถามได้ที่สายด่วน 1119 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
          นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าแพลตฟอร์มไทยชนะจะดูในฝั่งของข้อมูลผู้ลงทะเบียน มีผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ไหน พฤติกรรมสุขภาพในเชิงปริมาณ แต่ในส่วน ของกรมอนามัยนั้นจะดูข้อมูลในเชิงคุณภาพ และได้มีการลงไปตรวจคัดกรองในพื้นที่จริง ซึ่งจากการลงพื้นที่และสำรวจต่างๆ พบว่า ตอนนี้การ์ดของประชาชนในการป้องกัน ดูแลตนเอง ตกลงทุกเรื่อง ทั้งเรื่องหมั่นตรวจ คัดกรองหวัดไข้ตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ บ่อยๆ เว้นระยะห่าง และการสัมผัสหน้าตัวเอง
          ซึ่งขณะนี้พฤติกรรมส่วนบุคคลเริ่มตกลง กรมอนามัยมีข้อมูลเหล่านี้ก็จะทำหน้าที่ กระตุ้นพี่น้องคนไทยได้ปรับพฤติกรรมให้กลับมาเป็นอย่างเดิม เช่นเดียวกับสถานประกอบการ กรมอนามัยจะมีการเข้าไปประเมินสถานประกอบการ ทั้งการประชาสัมพันธ์ การสวมใส่หน้ากากอนามัย/ผ้า มีการวัดไข้ผู้มาใช้บริการ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ มีการเว้นระยะห่าง และมาตรการต่างๆ ว่าสถานประกอบการได้ดำเนินการหรือไม่อย่างไร
          นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสำรวจด้านพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งก่อนผ่อนปรนและหลังผ่อนปรนนั้น ตอนนี้ประชาชน การ์ดตกอย่างมาก อยากเรียกร้องให้ ประชาชนกลับมาตั้งการ์ดให้สูงขึ้นเหมือนเดิม ทั้งนี้จากการสำรวจ การล้างมือด้วยสบู่ ตั้งแต่ 18-23 พ.ค.2563 จำนวน 3,384 ตัวอย่าง พบว่า ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ 86.9% ก่อน-หลังรับประทานอาหาร 91.9%, ก่อน-หลังปรุงอาหาร 71.6%, หลังไอ จาม 62.7%, หลังสัมผัสลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มลิฟท์ 70.9% และไม่ล้างมือ 10% แต่เมื่อเทียบการประเมินใน 4 ครั้งก่อนหน้าพบว่า การสำรวจครั้งล่าสุด มีการล้างมือที่ลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้น สธ.อยากให้เห็นทุกคนทำเป็นนิสัยทั้งเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัย/ผ้า การล้างมือ การเว้นระยะห่าง เพื่อได้มั่นใจว่าเราจะไม่ติดและไม่เป็นผู้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
          สำหรับการเปิดสวนน้ำขณะนี้ยังเป็น สถานที่ห้าม ส่วนกรณีการใช้บริการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารในสถานที่ติดแอร์ ถ้าถ่ายเทไม่สะดวกก็อาจจะเป็นการถ่ายเทของเชื้อโรคได้ ดังนั้น ต่อให้มาจากครอบครัวเดียวกัน เมื่อเข้าใช้บริการร้านอาหารก็ควรนั่งแยกกัน เพื่อไม่ให้มีความสัมผัสใกล้ชิด หนาแน่น หรือมีการพูดคุย มีสารคัดหลั่งออกมา
          ทั้งนี้แนวโน้มของการมีผู้ป่วยตัวเลขหลักเดียวติดต่อกันมานาน แสดงถึงความสำเร็จของประเทศไทยในรอบแรกแรก แต่ยังไม่สามารถยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ เพราะยังอยู่ระหว่างผ่อนคลายระยะต่างๆ ซึ่งจากการเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ เมื่อจบรอบแรก หากไม่มีการควบคุมดูแลก็นำไปสู่การระบาดรอบ 2 ได้ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องควบคุมให้ได้คือความไม่ประมาท อย่างไรก็ตาม สธ.ได้วิเคราะห์หากเกิดโรครอบที่ 2 โดยจะมี วิเคราะห์จำนวนผู้ป่วย และการดูแลของสาธารณสุขที่สามารถควบคุมโรค และดูแลพี่น้องประชาชนได้ และกรณีใดที่เอาไม่อยู่ ฉะนั้น สธ.มีการวิเคราะห์สถานการณ์ ฉากทัศน์ที่ 1-3 อยากให้อยู่ประมาณไหน ที่ดูแลประชาชนได้

 pageview  1210929    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved