Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 09/06/2563 ]
แพลตฟอร์มใหม่ยกระดับสาธารณสุข

  กรุงเทพธุรกิจ วานนี้ (9มิย.) กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด และสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พลิกวิกฤติโควิด-19 เปิดตัวนวัตกรรมแพลตฟอร์ม "ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020" เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์ การบริหารสินค้าคงคลังที่ขาดสมดุล จัดซื้อ-รับ-กระจายเวชภัณฑ์ และโลจิสติกส์ ขนส่งอย่างครบวงจรสำหรับโรงพยาบาล ทั่วประเทศ กว่า 2,641 แห่ง
          "ดวงพรรณ กริชชาญชัย"หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และ โซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายหลักการทำงานของ "ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020" จะเริ่มจากการรับข้อมูลรายการสินค้า (Supply) ที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางหรือของบริจาคเข้ามาหน้าเว็บไซต์ ตามรายการสินค้าในระบบฐานข้อมูล (Product Catalogue Database) จะไหลเข้าระบบสต็อก หรือสินค้าคงคลังเสมือน (Virtual Stock) ระบบจะวิเคราะห์และจัดสรรสต็อก กับความต้องการของฝั่งโรงพยาบาล (Order Management) ความต้องการของโรงพยาบาลในระบบนี้ มาจากข้อมูลที่โรงพยาบาลกรอกเข้าระบบกระทรวงสาธารณสุข
          จากนั้นนำมาผ่าน Algorithm ในการจับคู่ Match โดยพิจารณาถึงจำนวนผู้ป่วย จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ปริมาณที่มีอยู่ และอัตราการใช้ ระดับความรุนแรง จากนั้นเมื่อประมวลผลเสร็จสิ้น จะทำให้ได้ใบรายการที่ต้องจัดสรรทั้งหมด และส่งไประบบขนส่งแล้ว กระจายต่อไป
          ประโยชน์ของ "ระบบบริหารจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020" ทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลกลางด้านสาธารณสุขของประเทศสำหรับสินค้าเวชภัณฑ์ (Product Catalogue Database) สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตอบโต้สถานการณ์โรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เวชภัณฑ์, จำนวนสต็อกของเวชภัณฑ์ในประเทศไทย รวมไปถึงการคาดคะเนปริมาณความต้องการในการใช้เวชภัณฑ์ในอนาคตได้
          จะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาครัฐสามารถประหยัดต้นทุนด้านสาธารณสุข สร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการการกระจาย เวชภัณฑ์ด้วยระบบ Matching บนสถานการณ์และข้อมูลที่แท้จริง ที่สำคัญโรงพยาบาลทั่วประเทศ จะได้รับสินค้าตรงตามต้องการจริงในเวลาที่รวดเร็ว ลดภาระต้นทุนในการมีสต็อกเวชภัณฑ์ที่ขาดหรือเกินความต้องการ ผู้จัดหาผลิตภัณฑ์สามารถวางแผนบริหารจัดการการผลิตเวชภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องขนส่งสินค้าเข้ามาที่ส่วนกลาง สามารถกระจายสินค้าไปยังโรงพยาบาลที่ต้องการโดยตรงได้ทันที อีกหนึ่งระบบที่จะช่วยยกระดับสาธารณสุขในวิถีใหม่ New Normal

 pageview  1210926    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved