Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 29/06/2563 ]
3ปัจจัยกระทบสุขภาพจิตเด็ก แอพ HERO เฝ้าระวังนักเรียน

 กรุงเทพธุรกิจ   กรมสุขภาพจิต เปิดตัวแอพพลิเคชั่น HERO ดูแลสุขภาพจิตของเด็กนักเรียน ม. 6 ล้านคนบนระบบดิจิทัล ช่วยเหลือเด็กนักเรียนหลังเปิดเทอม ในวันที่ 1 ก.ค.แก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังโรคโควิด-19
          นพ.เกียรติภูมิ วงส์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง การดูแลปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคมของเด็กนักเรียนบนระบบดิจิทัลว่าในภาวะหลังสถานการณ์โควิด-19 ผลกระทบสุขภาพจิตเด็กนักเรียน อาจจะเกิดขึ้นจากการเก็บตัวในบ้าน ไม่ได้เรียน เล่นตามวัย ที่ห่างหาย ไปจากโรงเรียน ความคุ้นชินหรือว่าเคยไปโรงเรียนก็ต้องปรับตัวใหม่ เพราะว่าเดิมอยู่แต่บ้านการปรับตัวอาจจะน้อย ถ้ามาอยู่โรงเรียนพบเพื่อนใหม่ ครูใหม่ บรรยากาศใหม่ที่โรงเรียน
          หรือ.ผู้ปกครองเครียด เสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัว และการปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ เป็นสิ่งที่นักเรียนจะต้องได้รับผลกระทบ  จึงได้ทำเรื่องโปรแกรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างระบบการศึกษาและระบบสุขภาพเพื่อการดูแล สุขภาพจิตของเด็กนักเรียน ม. 6 ล้านคน บนระบบดิจิทัล เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาล ส่งต่อทีมสาธารณสุขผ่านแอพพลิเคชั่น HERO หรือ Health and Education Re-integrating Operation เพื่อให้การช่วยเหลือเด็กนักเรียนหลังเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค.นี้
          เนื่องจากการที่เด็กต้องเก็บตัวอยู่บ้าน ก่อนหน้านี้ เมื่อกลับเข้าโรงเรียนอาจจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวกับเพื่อนใหม่ บรรยากาศใหม่ๆ วิถีการใช้ชีวิตในโรงเรียนแบบใหม่ ที่อาจจะทำให้เกิดความเครียดได้ โดยรูปแบบคือการร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการในการให้ครู เฝ้าระวัง สังเกตอารมณ์ พฤติกรรม และสังคมของเด็กๆ โดยมีแบบประเมิน 9S เพื่อเฝ้าระวังอาการ 9 ข้อ ได้แก่ 1.เด็กซนเกินไป 2.ใจลอย 3.รอคอยไม่เป็น 4.เศร้า/ เครียดหงุดหงิดง่าย 5.ท้อแท้เบื่อหน่าย 6.ไม่อยากไปโรงเรียน 7.ถูกเพื่อนแกล้ง 8.แกล้งเพื่อน และ 9.ไม่มีเพื่อน เมื่อพบปัญหาก็ให้คำปรึกษา แนะนำและปรับพฤติกรรมเด็ก หากเกินศักยภาพก็ให้มีการส่งต่อมายังสถานพยาบาลผ่านแอพฯ
          ทั้งนี้จากการนำร่องใช้การคัดกรองในรูปแบบ 9S เทียบกับการคัดกรอง รูปแบบเดิมคือ SDQ25 ในพื้นที่นำร่อง 13 พื้นที่ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 1 (ม.1) จำนวน 5,311 คน พบว่าการคัดกรองด้วย 9S พบเด็กกลุ่มเสี่ยงถึง 1,313 คน คิดเป็น 24.72% ส่วนการคัดกรอง ด้วย SDQ25 คัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงได้ 608 คน คิดเป็น 11.45% เพราะฉะนั้น การคัดกรองด้วย 9S ซึ่งตอบคำถามน้อยกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า ค้นหาได้เร็วกว่าจะทำให้เด็กได้รับการดูแลได้เร็วขึ้น โดยเมื่อเด็กได้รับการดูแลจากครูในพื้นที่แล้วพบว่าดีขึ้น 60% กลับมาเป็นปกติ 10% มี 30% ต้องส่งต่อให้แพทย์เชี่ยวชาญดูแล นับว่า เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพเด็กได้รับการช่วยเหลือโดยไม่ต้องไปรพ. ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่าย
          นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) กล่าวว่า การเลื่อนเปิดโรงเรียนจากวันที่ 18 พ.ค.2563 ไปเป็นวันที่ 1 ก.ค. นั้น ทำให้เด็ก ส่วนหนึ่งมีความกังวล โดยเฉพาะในระยะหลัง ที่ผู้ปกครองกลับไปทำงานทำให้เด็กๆ อยู่บ้านกันเอง ทำให้ไม่มีใครให้คำปรึกษา
          อย่างไรก็ตามอีก 2 วัน ทางโรงเรียนได้มีการจัดมาตรการสร้างความปลอดภัยเอาไว้ถึง 44 ข้อ ต้องผ่านทุกข้อ ดังนั้น เปิดได้ 100% แต่รูปแบบการเรียนแตกต่าง กันบ้าง การสร้างนักจิตวิทยาในโรงเรียนคอยดูแล ส่วนเด็กที่เรียนที่บ้าน ก็มีการสร้างนักจิตวิทยาในเขตพื้นที่คอยดูแลเช่นกัน และเชื่อว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งอยู่ใกล้ชิดนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันดูแลนี้ได้ และแอพฯ HERO ที่จะเข้ามาเสริมเรื่องการประเมินสุขภาพจิตเด็ก และจำแนกเด็กที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร็ว โดยมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทย และส่งต่อให้จิตแพทย์ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที

 pageview  1210922    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved