Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 24/08/2563 ]
อีอีซีเปิดแผน สาธารณสุข ยกระดับการรักษาขั้นสูง

  ประชากรในพื้นที่อีอีซี ทั้ง 3 จังหวัด ที่ได้ ประเมินเบื้องต้นประชากรในอีอีซี จะมีเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 4 ล้านคน เป็น 6 ล้านคนในปี 2580 แต่ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเพิ่มขึ้นของประชากรช้าลง ดังนั้น สกพอ. จึงต้องทำการประเมินตัวเลขใหม่ให้สอดคล้องกับบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมกัน
          นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ที่ปรึกษา พิเศษด้านสาธารณสุข สำนักงาน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงแผนพัฒนาด้านสาธารณสุขในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ในการพัฒนา พื้นที่อีอีซี รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ สูงที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องสาธารณสุข
          โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและประเมินการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ อีอีซี ทั้ง 3 จังหวัด (ชลบุรี, ระยองและฉะเชิงเทรา) อย่างลงลึกรายจังหวัด อำเภอ และ ตำบล เพื่อสร้างหรือพัฒนาโรงพยาบาล และ หน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ให้เพียงพอต่อ ความต้องการ ทั้งประชากรที่มีอยู่เดิมและที่จะ เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว เพราะการเตรียมความพร้อมทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ อาคาร เครื่องมือแพทย์ ต่างๆ จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
          "ที่ผ่านมาได้ประเมินเบื้องต้นประชากรในอีอีซี จะมีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 4 ล้านคน เป็น 6 ล้านคนในปี 2580 แต่ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเพิ่มขึ้นของประชากรช้าลง"
          ดังนั้น สกพอ. จึงต้องทำการประเมินตัวเลขใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมลงลึกรายอำเภอและตำบล เพื่อ ให้ประชาชนทั้งในตัวเมืองใหญ่ และอำเภอขนาดเล็กมีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมกัน
          นอกจากนี้ จะเพิ่มคุณภาพในการให้บริการ ให้โรงพยาบาลใน อีอีซี สามารถรักษาผู้ป่วย ได้ทุกด้านโดยไม่ต้องส่งมารักษาที่กรุงเทพฯ โดยจะยกระดับโรงพยาบาลใน อีอีซี ให้มีศักยภาพทัดเทียมกับโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลระยอง รวมถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ที่จะต้องยกระดับให้รักษาโรค ได้ทุกๆ ด้าน ซึ่งการเพิ่มบริการสาธารณสุขใน อีอีซี จะเป็นทั้งการขยายในแนวราบให้เพียงพอต่อประชากร และในแนวลึกที่มีศักยภาพสูงรอบด้าน
          ทั้งนี้ ส่วนแผนนำร่องในการวิจัยทางการแพทย์ชั้นสูง ได้แก่ ด้านจีโนมิกส์หรือ การศึกษา เกี่ยวกับการหาดีเอ็นเอและรหัสพันธุกรรม เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการรักษาผู้ป่วย โดยโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของประชากรไทย สำหรับการต่อยอดการวิจัยรักษาโรคต่างๆ
          ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะเก็บฐานข้อมูลพันธุกรรมให้ได้ 5 หมื่นคน ที่เป็นตัวแทนของ คนไทยทั้งประเทศ ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนเงินทุน 750 ล้านบาท ให้แก่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อว่าจ้างเอกชนให้เข้ามาลงทุนวิเคราะห์จัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทย 5 หมื่นคน ภายใน 5 ปี หรือเฉลี่ยคนละไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ซึ่งผลที่ได้จะทำให้ไทยได้ ห้องแล็ปวิจัยด้านพันธุกรรมที่ทันสมัย
          "หลังจากจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทย 5 หมื่นรายแล้ว อาจจะขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งจะขยายไปสู่การวิจัย ด้านพันธุกรรมต่างๆ โดย สวรส. จะเปิดขายซองประมูลได้ในช่วงเดือนก.ย.นี้"
          สำหรับหลักการประมูลเบื้องต้น จะยึดเอกชนเสนอเงื่อนไขหากรายใดเสนอราคาได้ต่ำกว่าที่ตั้งไว้มากที่สุด และมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งมั่นใจว่าจะมีภาคเอกชนทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ไม่ต่ำกว่า 10 ราย เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ภาครัฐได้ทำสัญญาว่าจ้าง ทำฐานข้อมูลพันธุกรรมถึง 5 หมื่นคน ทำให้ไม่มี ความเสี่ยงในการลงทุน และสามารถต่อยอดทำธุรกิจด้านพันธุกรรมได้อีกมากในอนาคต
          ทำให้ประเทศชั้นนำต่างๆ เข้ามาลงทุนในด้านนี้ เช่น สิงคโปร์ลงทุนเก็บข้อมูลพันธุกรรมของประชากรไปแล้ว 1 หมื่นคน และ กำลังทำเพื่มขึ้นเป็นแสนคน ประเทศอังกฤษ ได้เก็บข้อมูลดีเอ็นเอไปแล้ว 1 แสนราย และได้ทำต่อเนื่องอีก 4 ล้านคน
          สำหรับการที่ไทยเข้ามาทำด้านการวิจัย ในเรื่องนี้ จะช่วยยกระดับวงการแพทย์ไทย ไปอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก และการที่ไทย มีข้อมูลของตัวเอง ก็สามารถนำข้อมูลไป แลกเปลี่ยน และร่วมวิจัยกับประเทศอื่นๆ ได้ จึงเป็นฐานข้อมูลที่มีคุณค่าสูงมาก
          นพ.พีรพล กล่าวว่า ในแผนสาธารณสุขของ อีอีซี ยังได้จัดทำมาตรการรองรับการ แพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ไว้ด้วย เนื่องจากบทเรียนจากโควิด-19  อีอีซี จึงได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการ โรงพยาบาลบำราศนราดูร แห่งที่ 2  ในพื้นที่อีอีซี เพื่อรับมือในการรักษาและกักกันโรคระบาดอุบัติใหม่ที่ร้ายแรง โดยจะของบประมาณในปี 2564 เบื้องต้นประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งในแผนนี้จะเข้าไปปรับปรุงโรงพยาบาลในพื้นที่ 5 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1  รองรับผู้ป่วยโรคระบาดที่เป็นด่านหน้า 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลสัตหีบ (กม.10) โรงพยาบาลบ้านฉาง และโรงพยาบาลบางละมุง จัดทำห้องรักษาโรค และห้องพักผู้ป่วย ความดันลบ และอุปกรณ์รองรับด้านต่างๆ รวมทั้ง 3 โรงพยาบาลจะรองรับได้ 100 เตียง
          กลุ่มที่ 2 สำหรับรองรับผู้ป่วย โรคระบาดที่มีอาการหนัก ซึ่งจะเข้าไปปรับปรุงโรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลระยอง เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ สามารถรองรับได้โรงพยาบาลละ 60 เตียง รวมแล้วรองรับ ได้ถึง 120 เตียง ซึ่งรวมทั้ง 5 โรงพยาบาลจะรองรับผู้ป่วยจากโรคระบาดได้ 220 เตียง เพียงพอในการรับวิกฤติโรคระบาดในภาคตะวันออกได้ทั้งหมด
          "โรงพยาบาลเหล่านี้ในช่วงปกติ ก็ใช้ตรวจรักษาโรคแบบโรงพยาบาลทั่วไป แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินโรคระบาด ก็สามารถปรับเข้ามารองรับได้ทันที และยังมี แผนที่จะระดมบุคลากรทางการแพทย์ ในภาคตะวันออกเข้ามาดูแลได้ อย่างรวดเร็ว"
          เดิมประเมินว่าประชากรในอีอีซี จะเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคน  เป็น 6 ล้านคนในปี 2580 แต่โควิดจะทำให้การเพิ่มของประชากรช้าลง
          นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์

 pageview  1210917    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved