Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 19/08/2563 ]
ชุด PPE Level 3 จากขวด PET ฝีมือคนไทยลดขยะ-ลดการนำเข้า

 ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยะพลาสติกถูกมองเป็นมลภาวะต่อสังคม แต่ในวันนี้ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปแล้วว่าเป็นวัสดุที่ช่วยเพิ่มสุขอนามัย สร้างประโยชน์ได้หลากหลายหากใช้ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะขวด PET ซึ่งหากนำมา เข้ากระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน จะสามารถนำไปพัฒนาเป็นเส้นด้ายเพื่อผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า และชุด PPE ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
          กรุงเทพธุรกิจ   โดยล่าสุด องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับ เครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน สร้างนวัตกรรมการผลิตชุด PPE จากเส้นใย รีไซเคิลตลอดห่วงโซ่อุปทาน "PPE Innovation Platform นวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทย มาตรฐานสากล" โดย 1 ชุด ผลิตจากเส้นใยที่นำขวด PET ขนาด 600 มิลลิลิตร ประมาณ 18 ขวด ตัดเย็บเป็น 2 ชั้น เพื่อการป้องกันที่ดีกว่า แต่ยังคงคุณสมบัติสวมใส่สบาย เคลือบสารพิเศษที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ และป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน (Hydrostatic Pressure) สามารถนำไปซักทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่มากถึง 50 ครั้ง ผ่านมาตรฐานป้องกันการซึมผ่านของเลือดและไวรัส โรงงานที่ทำการตัดเย็บชุด PPE เป็นโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมมอบให้แก่ รพ.รามาฯ รพ.ราชวิถี รพ.พระมงกุฎฯ สถาบันบำราศนราดูร และ รพ.นครปฐม รวม 2,500 ชุด
          ผลงานดังกล่าว ต่อยอดจากความสำเร็จในการจัดทำนวัตกรรม "ชุด PPE รุ่นเราสู้" แบบเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown) มีมาตรฐานความปลอดภัยใช้งานทางการแพทย์ Level 2 ซึ่งสามารถซัก และใช้ซ้ำได้มากกว่า 20 ครั้ง มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ และป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน 20 เซนติเมตรน้ำ เหมาะกับการทำหัตถการผ่าตัดเล็ก มีเลือดกระเซ็นได้เล็กน้อย และทันตกรรม
          "นายแพทย์โสภณ เมฆธน"ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ระบุว่า สำหรับผลงานชุด PPE ล่าสุด ป้องกันเชื้อถึง Level 3 ดำเนินการภายในประเทศทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การรีไซเคิลขวดพลาสติกชนิด PET นำมา ผลิตเป็นเส้นใยโดยโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับโลก นำมาทอเป็นผ้าและตัดเย็บเป็นชุด PPE ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการดูแลรักษาผู้ป่วย และซักใช้ซ้ำได้ 50 ครั้ง หากซักครบ 50 ครั้ง สามารถนำมาใช้เป็น PPE Level 2 ได้ มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ และป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน 50 เซนติเมตรน้ำ
          ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เป็นการร่วมกันของพันธมิตรตั้งแต่ต้นทางอย่าง บริษัท สถานี รีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ การบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีแบบครบวงจรเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 40 ปี ทำหน้าที่เก็บรวบรวมขยะที่มีอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ "ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล" ประธานกรรมการบริหาร อธิบายว่า แต่ละวัน มีขวด PET ที่คัดแยกแล้วเข้ามาสู่ระบบ การซื้อของเก่าประมาณ 500 ตัน/วัน
          หลังจากนั้นจะมีบริษัทรีไซเคิลนำไปแปรรูปต่อ ขวด PET ที่หมุนเวียนอยู่นี้เป็นเสมือนการสำรองวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตชุด PPE ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งถ้าหากประชาชนมีการคัดแยกขวด PET และ ส่งต่อให้ทางบริษัทเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มการสำรองให้มีเพิ่มมากขึ้น นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มคุณค่า รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ช่วยระบบสาธารณสุขในภาวะวิกฤติและภาวะปกติ
          ขณะเดียวกัน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการนำขวด PET ที่ใช้งานแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานระดับโลก ทำหน้าที่ในการพัฒนาเส้นด้ายคุณภาพสูง สำหรับผลิตชุด PPE Level 3 ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น "ริชาร์ด โจนส์" รองประธานอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร ระบุว่า กระบวนการดังกล่าว สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการอยู่ ทำให้เกิดประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมโดยรวม รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของ การใช้งานพลาสติก ซึ่งวิธีจัดการพลาสติกหลังจากใช้งาน ลดการนำเข้าเส้นด้ายจากต่างประเทศ
          "สุพจน์ ชัยวิไล" รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ในฐานะผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำ ซึ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมการทอ โดยกว่า 80% ของโรงงานเป็นผ้า ที่ผลิตโดยเส้นด้ายจากขวด PET รีไซเคิล เล่าย้อนกลับไปในการผลิตคิดค้น "ชุด PPE รุ่นเราสู้" Level 2 ว่า ในช่วงแรกของการพัฒนาได้นำเข้า PET จากไต้หวัน นำมาซึ่งการจับมือร่วมกับ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สถานี รีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ จำกัด เพื่อบริหารจัดการวัตถุดิบ รีไซเคิลขวดน้ำในเมืองไทย ซึ่งชุด PPE Level 2 มีความต้องการมาก มีการส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และจีน เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอในยุโรปและอเมริกาหยุดชะงัก
          ขณะเดียวกัน ผ้าสำหรับทำชุด PPE Level 3 แต่เดิมบริษัทฯ ได้ทำการรับผลิตให้กับทางยุโรปอเมริกา จึงได้มีการนำเทคนิคที่มี พัฒนาร่วมกับทีมแพทย์ เพื่อให้ตรงตามความต้องการในการใช้งาน เช่น ออกแบบชุดให้กะทัดรัดสะดวกในการปฏิบัติงาน เสริมคุณสมบัติป้องกันไฟฟ้าสถิตขณะผ่าตัดลดการผิดพลาด โดยสามารถซักทำความสะอาดโดยใช้ผงซักฟอก ซักในอุณหภูมิ 40 องศา แล้วอบแห้งที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นาน 60 นาที และห้ามเติมน้ำยาปรับผ้านุ่ม ขณะนี้ ตลาดทางยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจ โดยต้นทุนต่อชุด ราว 700 บาท ราคาขายอยู่ที่ราว 1,200 -3,800 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับชุด PPE Level 3 แบบปกติที่ราคาอยู่ที่ราว 400 -500 บาท แต่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว
          สุพจน์ อธิบายต่อไปว่า ในส่วนของชุด PPE Level 1 นิยมใช้ในโรงงาน หรือ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ เนื่องจากมีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ แต่ไม่ป้องกันการซึมผ่านของน้ำ ขณะที่ ชุด PPE Level 4 ซึ่งมีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ และป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน 140 เซนติเมตรน้ำ นิยมใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีน และดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ต้องใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้น ชุด PPE กว่า 80% ที่ใช้ในทางการแพทย์ จึงจะอยู่ในกลุ่ม Level 2 - 3
          "ความแตกต่างของชุด PPE ธรรมดาที่ใช้แล้วทิ้ง จะทำให้ร้อนคล้ายเสื้อกันฝนเพราะมีการเคลือบกันน้ำ ขณะที่ชุด PPE จากขวด PET ใช้เทคนิคในการถักทอบีบอัด ช่วยกันเลือดกันน้ำได้ แต่อากาศถ่ายเท ดังนั้น ใส่นานได้ไม่ร้อน พร้อมกับ ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะ 60% ของขวดพลาสติกในเมืองไทยกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง มีการนำไปฝังกลบ ดังนั้น หากดึงขยะออกจากกระบวนการกำจัดมาใช้ให้ถูกต้องได้ จะช่วยลดขยะที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำ ทะเล ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลได้ ลดการนำเข้า เพิ่มงานให้คนในประเทศอีกด้วย"
          ชุด PPE โดยคนไทยมาตรฐานสากล
          กรุงเทพธุรกิจนางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ทำการศึกษาข้อมูลทั้งหมดจากแหล่งต่างๆ เกี่ยวกับมาตรฐานของการผลิตชุด PPE ห้องปฏิบัติการที่ใช้ทดสอบชุด ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล กระบวนการต่างๆ ในการผลิตในประเทศไทยจึงเป็นมาตรฐานระดับสากล ทั้งการทอผ้าและการตัดเย็บ ได้เข้าไปดูแลทั้งกระบวนการ มีการทดสอบคุณสมบัติของผ้าและชุดที่ตัดเย็บต้องใช้การตัดเย็บแบบพิเศษ ตะเข็บที่เย็บต้องป้องกัน การซึมผ่านของเลือดและไวรัสได้เป็นอย่างดี
          โดยการทดสอบได้ผ่านภาคีห้องปฏิบัติการ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว พบว่า ตลอดกระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันจึงได้มีการกำหนดมาตรฐานของประเทศไทยเอง โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) โดยได้ยกร่างมาตรฐานการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมอก. และชุด PPE ที่ได้ตามมาตรฐานสากล ทำให้สามารถ ส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย

 pageview  1210917    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved