Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 13/08/2563 ]
สธ.ห่วงสถานการณ์เสี่ยงโควิด กพท. เล็งขยายเวลาปิดน่านฟ้า

  กรุงเทพธุรกิจ  สธ.เผยสถานการณ์ น่าเป็นห่วง หลายสถานที่-กิจการหย่อน มาตรการป้องกันโรค เสี่ยงทำให้เกิดการแพร่โรคโควิด-19 ขณะที่ กพท.เล็งขยายเวลาห้ามเที่ยวบินพาณิชย์เข้าประเทศ หลังโควิด นอกยังไม่คลี่คลาย นักธุรกิจต่างชาติต้องกักตัว 14 วัน ไม่เกิน วันละ 500 คน ด้าน นักท่องเที่ยวต้องรอทำทราเวลบับเบิล ระหว่างประเทศ ขณะเอกชนยื่นสถานที่กักตัวมากขึ้น
          วานนี้ (12 ส.ค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ว่า มีรายงานผู้ติดเชื้อ 5 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจาก ต่างประเทศ (สหรัฐ 1 ราย, อินเดีย 1 ราย, อียิปต์ 3 ราย) เข้ารับการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้และรัฐกำหนด มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 6 ราย ทำให้มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,169 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.43 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 129 ราย หรือร้อยละ 3.84 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มี ผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,356 ราย
          ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เดินทางมาจาก สหรัฐ 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 50 ปี สัญชาติอเมริกัน อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางถึงประเทศไทย วันที่ 28 ก.ค.2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากการตรวจในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 (วันที่ 13 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ ส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร
          อินเดีย 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 18 ปี สัญชาติไทย อาชีพนักศึกษา เดินทางถึง ประเทศไทย วันที่ 30 ก.ค.2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากการตรวจในครั้งที่ 2 วันที่ 10 ส.ค.2563 (วันที่ 11 ของการกักตัว) เริ่มป่วยวันที่ 3 ส.ค.2563 ด้วยอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร โดยก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 1 ราย
          อียิปต์ 3 ราย เป็นเพศชาย อายุ 23, 24 และ 29 ปี สัญชาติไทย อาชีพนักศึกษา เดินทางถึงประเทศไทย วันที่ 30ก.ค.2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ในจังหวัดชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจในครั้งที่ 2 วันที่ 10 ส.ค.2563 (วันที่ 11 ของการกักตัว) ทั้ง 3 รายไม่มีอาการ โดยก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อ จากเที่ยวบินเดียวกัน 6 ราย
          นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่รับเชื้อในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มีข่าวรายงานการระบาดครั้งใหม่ ในหลายประเทศที่เคยควบคุมโรคได้ดีมาก่อน เช่นประเทศเวียดนาม นิวซีแลนด์ ดังนั้น ทุกภาคส่วนยังต้องเข้มงวดในมาตรการ เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการกักตัวและตรวจหาเชื้อ โดยเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก และตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด 19 เพื่อป้องกันและสกัดกั้น การนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาแพร่ให้กับผู้คนในประเทศ
          สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือขณะนี้เริ่ม พบหลายสถานที่และกิจกาจหย่อนมาตรการป้องกันโรค เช่น ปล่อยให้ผู้ใช้บริการเบียดเสียดใกล้ชิด และไม่สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า นับเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการ แพร่เชื้อได้ นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วน ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ผ่าน แพลตฟอร์ม/แอพพลิเคชั่นไทยชนะ ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้ออยู่ในสถานที่เข้าใช้บริการก็จะยากต่อการนำผู้สัมผัสเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังอาการ
          อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็น เช่นไรหากประชาชนยังคงเข้มมาตรการ ส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ พยายามเว้น ระยะห่างระหว่างผู้อื่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ สำหรับองค์กร สามารถ ช่วยลดความเสี่ยงได้หลายวิธี เช่น การให้ พนักงานทำงานที่บ้าน เหลื่อมเวลาทำงาน คัดกรองไข้และอาการป่วยก่อนเข้าพื้นที่ รวมถึงให้พนักงานที่มีอาการโรคระบบ ทางเดินหายใจ ไข้หวัด หยุดงานอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และรีบไปรับ การรักษา หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันโดย เริ่มจากจุดเล็กๆ คือคน และขยายสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม จะช่วยให้ประเทศไทยปลอดภัย สามารถป้องกัน และจำกัดการระบาด ของโรคโควิด 19 ได้ หากพบผู้ติดเชื้อในประเทศอีกครั้ง
          ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวถึงการพิจารณาเปิดน่านฟ้าให้สายการบินพาณิชย์เข้าประเทศไทยได้ว่าการพิจารณาเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาสถานการณ์ร่วมกันของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยการประกาศไม่อนุญาตให้สายการบิน พาณิชย์โดยทั่วไปเข้าประเทศฉบับปัจจุบันไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้โดยจะต้องพิจารณาจากสถานการณ์แต่ละช่วงเวลาเป็นสำคัญ
          สำหรับกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้ข้อมูลกับรัฐบาลว่ามีนักธุรกิจต่างชาติมีความประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนมาก นายจุฬา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวภาครัฐกำลังพิจารณาต้องดูความพอเพียงของสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative state quarantine) ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้ประกอบการทยอยเสนอรายชื่อ สถานที่ที่จะเสนอเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก ที่นักธุรกิจจะเข้ามาพัก ซึ่งก็จะเป็น ความพร้อมในการรองรับนักธุรกิจต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ในระยะต่อไป
          "ขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้สายการบิน พาณิชย์โดยทั่วไปเข้ามายังประเทศได้ การอนุญาต ให้ชาวต่างชาติเข้ามายังคงจำกัดเป็นกลุ่ม นักธุรกิจที่มีใบอนุญาตทำงาน ผู้ที่เข้ามาติดต่อธุรกิจ แต่ก็รวมอยู่ในกลุ่มที่เรารับเข้าประเทศรวมทั้งคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ วันละประมาณ 500 คน ซึ่งนักธุรกิจต่างชาติ ที่ขอเข้ามาก็จะมากับเที่ยวบินที่พาคนไทย กลับประเทศจากที่ต่างๆเมื่อมาถึงไทยก็ต้องกักตัว 14 วันตามมาตรการ ส่วนของ นักท่องเที่ยวขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับต้องไปทำข้อตกลงเรื่องทราเวลล์บับเบิลรายประเทศก่อนตรงนั้น ถึงจะมีการเดินทางเข้ามาได้" นายจุฬากล่าว

 pageview  1210917    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved