Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 21/09/2563 ]
ดัน14เมืองสมุนไพรช่วยเกษตรกร พัฒนาผลิตภัณฑ์แข่งขันตลาดโลก

 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก จึงได้ มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดการ พัฒนาวิจัย ผลิตสมุนไพรไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์ สุขภาพ ยา เครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน รวมถึง ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง
          กรุงเทพธุรกิจ   เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 โดยมี "ดร.สาธิต ปิตุเตชะ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เครือข่ายนักวิชาการ เร่งพิสูจน์ความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและประกาศเป็นรายการผลิตภัณฑ์สมุนไพรอ้างอิง เพื่อให้การอนุมัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีความรวดเร็วลดความยุ่งยากในการเตรียม เอกสารขออนุญาตของผู้ประกอบการ
          ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้มีระบบการให้ คำปรึกษาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อยู่ระหว่างการวิจัย และส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพร และพัฒนาระบบการรับรองสารสกัดสมุนไพรที่ใช้สำหรับใช้อ้างอิงในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อใช้เป็นเอกสารรับรองการส่งออก เป็นการส่งเสริมการตลาด เพิ่มมูลค่าการส่งออก
          รวมทั้งได้ตั้งศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการ สมุนไพร เพื่อให้คำปรึกษาผู้ประกอบการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการจัดอบรมยกระดับ ผู้ประกอบการ ส่งเสริมภาพลักษณ์ทาง การตลาด และให้ข้อมูลผู้ประกอบการสมุนไพรแบบครบวงจร (One Stop Service) พร้อมสนับสนุนสมุนไพรเป็น Product Champions
          นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังมีมติเห็นชอบให้ยกระดับเมืองสมุนไพรทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มการเกษตรวัตถุดิบสมุนไพร ประกอบด้วย จังหวัดอำนาจเจริญ, สุรินทร์, มหาสารคาม, อุทัยธานี, สกลนคร 2.กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร
          ประกอบด้วย จังหวัด นครปฐม, สระบุรี, ปราจีนบุรี, จันทบุรี และ 3.กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม ประกอบด้วยเชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, สงขลา
          ทั้งนี้ข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าทางการตลาดสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกสมุนไพรไทยอยู่ในหลักแสนล้านบาท โดย ส่งออกกลุ่มอาหารเสริมกว่า 80,000 ล้านบาท กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
          เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า "สมุนไพร" มีความปลอดภัยประกอบกับนโยบาย ส่งเสริมการใช้สมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79  % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4  %โดยพืชสมุนไพรที่ได้รับความนิยมได้แก่ ไพล ใบบัวบก กระชายดำ ขมิ้นชัน และในช่วงการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 สมุนไพรที่จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วคือ ฟ้าทลายโจร ขิง กระเทียม หอมแดง และมะนาว เพราะมีประสิทธิภาพในการช่วยแก้อาการและป้องกันไข้หวัด
          โดยปี 2562 สมุนไพรไทยมีมูลค่าทางการตลาดในประเทศที่สูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งประเทศไทย มีการส่งออกวัตถุดิบ ทั้งพืชสมุนไพรสด แห้ง และสารสกัด และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งในรูปยา เครื่องสำอางสปา และ เสริมอาหารระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 แบ่งเป็นสมุนไพร ประมาณ 324.2 ล้านบาท สารสกัดจากสมุนไพร 184.8 ล้านบาท เครื่องเทศและสมุนไพร 2,837.2 ล้านบาทเครื่องสำอางเครื่องหอมและสบู่ 40,070.5 ล้านบาทเครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว 52,218.7 ล้านบาท
          ขณะเดียวกันพืชสมุนไพรยังนำไปใช้ในธุรกิจสปาด้วย ตามนโยบายยกระดับและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสปาไทย (Creative Spa & Wellness Thailand) โดยมีการใช้สมุนไพรมาเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ เช่นนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในสปา เช่น น้ำมันนวดตัว ครีมนวดตัว ครีมพอก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเส้นผม ผลิตภัณฑ์บำรุงเล็บ และเท้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ ปรับอากาศ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อธุรกิจสปา เปิดดำเนินการได้จะทำให้ตลาดสมุนไพรไทย เติบโตไปด้วยเช่นกัน
          ทั้งนี้ปี 2562 มูลค่าธุรกิจสปาทั่วโลก ประมาณ 27 ล้านล้านบาทธุรกิจสปาของไทย อยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท จัดเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชียมีกิจการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข 2053 แห่ง แบ่งเป็น สปาเพื่อสุขภาพ 531 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 1217 แห่ง นวดเพื่อเสริมสวย 305 แห่ง ซึ่งประเทศไทยได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกที่มีระบบการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่ดีเหมาะสำหรับ การเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ด้านสุขภาพและความงาม ในภูมิภาคนี้

 pageview  1210916    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved