Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 17/09/2563 ]
สธ.ค้นหาเด็กเมียนมาติดโควิด-19 ชี้2วันได้ข้อมูลผู้สัมผัส-ควบคุมโรค

   จากกรณี เด็กอายุ 2 ขวบชาวเมียนมาได้เดินทางออกจากประเทศไทยพร้อมมารดาในวันที่ 4 กันยายน 2563 และต่อมามีการรายงานข่าวการตรวจพบการติดเชื้อของเด็กคนดังกล่าวในวันที่ 13 กันยายน 2563 จนเป็นเหตุให้นายอำเภอเมียวดีประกาศเคอร์ฟิว วันที่ 14 กันยายน 2563 นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลทั้งจากช่องทางการประสานข้อมูลผ่านกลไกกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation) ช่องทางการทูต องค์การอนามัยโลก (WHO) และข้อมูลจากช่องทางเข้าออกระหว่างพรมแดนระหว่างประเทศ
          กรุงเทพธุรกิจ ล่าสุด "ประจญ ปรัชญ์สกุล" ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้มีคำสั่งให้ยานพาหนะประเภทรถตู้ สามารถเข้ามารับสินค้า ภายในเขตอำเภอแม่สาย ใน 5 วันจำกัดจำนวนไม่เกิน 168 คัน พร้อมทั้งจัดชุดปฏิบัติการร่วมกับส่วน ราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตาม ตรวจสอบยานพาหนะ ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยเคร่งครัด ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวัง ทั้งการคัดกรองผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจ ในกลุ่มประชากรเสี่ยง รวมถึงมีการสอบสวนติดตามผู้สัมผัสอย่างครบถ้วน
          "นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย"อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวยังต้องทำการค้นหาข้อมูล โดยการประสานงานทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลแหล่งที่อยู่อาศัยของเด็กและครอบครัว เพื่อค้นหา ผู้สัมผัส ทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อ และดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ของประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ที่เข้มงวดของประเทศไทย รวมถึงการป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของโรค แม้จะมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้าน
          ทั้งนี้จากการตรวจสอบผู้เดินทางผ่านช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศอำเภอแม่สอด-เมียวดี ไม่พบว่ามีรายงานการผ่านเข้าออกประเทศไทยของเด็กชาวเมียนมา และมารดาดังกล่าวในวันที่ 4 กันยายน 2563 ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นการเดินทางออกไปโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ หรือช่องทางอื่นที่ไม่สามารถตรวจสอบ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 50 ช่องทาง และยากต่อการควบคุมการเข้าออก
          ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย พระราชทาน ออกค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 8-9 กันยายน 2563 รวม 2 วัน ตรวจทั้งคนไทยและต่างด้าว จำนวน 2,635 ราย จำแนกเป็น รร.อิสลามศึกษา 1,041 คน เป็นต่างด้าว(มุสลิม) 660 คน คนไทย 381 คน, รร.วังตะเคียน 713 คน เป็นชาวเมียนมา 284 คน คนไทย 429 คน, อบต.แม่กาษา 558 คน เป็นชาวเมียนมา 47 คน คนไทย 511 คน และเรือนจำแม่สอด 323 คน เป็นต่างชาติ 137 คน คนไทย 186 คน ผลไม่พบการติดเชื้อแม้แต่รายเดียวอีก2วันรู้ผลเด็กเมียนมาป่วยโควิด-19
          "นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์"รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเบื้องต้นยังไม่ระบุรายละเอียดว่าอยู่พื้นที่ใด ขณะอยู่ระหว่างประสานขอข้อมูลจากทางการเมียนมา คาดว่า ทราบผลภายในอีก 2 วัน ซึ่งสถานการณ์ของประเทศเมียนมาที่พบการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2 อย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบได้เช่นกัน ซึ่งภาครัฐได้วางมาตรการป้องกันในพื้นที่ชายแดนอย่างเต็มที่ มอบให้อำนาจแก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการเข้มงวด ในผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ
          ส่วนด้านสาธารณสุขได้สั่งการให้จังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดน รวมถึงจังหวัด ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจจับ เฝ้าระวัง โรคในกลุ่มแรงงานผิดกฎหมาย โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) มีส่วนร่วมสอดส่อง และยัง ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน โรงงาน สถานประกอบการ หอพัก งดรับแรงงานผิดกฎหมายในช่วงนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่อาจนำเชื้อโควิด 19 มาแพร่สู่ผู้อื่นได้ หากพบความผิดปกติให้แจ้ง เจ้าหน้าที่โดยเร็ว
          ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ติดเชื้อ 10 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (อินเดีย 2 ราย, อินโดนีเซีย 2 ราย, พม่า 1 ราย, เอธิโอเปีย 1 ราย, เยเมน 4 ราย) เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้หรือสถานกักตัวทางเลือก มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,316 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.01 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 116 ราย หรือร้อยละ 3.32 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มี ผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,490 ราย
          "พญ.พรรณพิมล วิปุลากร" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าจากผลการตรวจประเมินเพื่อการเฝ้าระวังกิจการประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่มของกรมอนามัยล่าสุด จำนวน 164 แห่ง พบว่าในร้านอาหารและเครื่องดื่มมีจุดบริการล้างมือ ร้อยละ 96 กำหนดจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพื่อลดความแออัด ร้อยละ 90 เว้นระยะห่าง ระหว่างบุคคล ร้อยละ 81 สวมหน้ากาก ร้อยละ 80 แต่ยังคงต้องเน้นย้ำการทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อยที่พบเพียง ร้อยละ 77
          นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานบริการประเภท ผับ บาร์ คาราโอเกะ ลานเบียร์ โรงเบียร์ โรงเหล้า จำนวน 93 แห่ง ทั่วประเทศ พบว่าสถานบริการทุกแห่ง มีจุดบริการล้างมือ แต่กำหนดจำนวน ผู้เข้าใช้บริการ เพื่อลดความแออัดได้เพียงร้อยละ 80 เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ร้อยละ 83 สวมหน้ากาก ร้อยละ 92 และมีการทำความสะอาด ร้อยละ 96 ข้อปฏิบัติร้านอาหารต่างด้าวทำงาน
          แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในสถานที่เหล่านี้ นอกจากจะต้องดูแลด้วยการพาไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องและตรวจคัดกรองโรคให้เรียบร้อยแล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด 19
          1. ให้มีระบบการคัดกรองพนักงานหรือผู้ให้บริการ และผู้มาใช้บริการ 2. ให้พนักงานหรือผู้ให้บริการ และ ผู้มาใช้บริการ ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้นนักร้อง นักดนตรี ให้ถอดหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยในช่วงเวลาแสดงดนตรีหรือร้องเพลง และจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองที่จำเป็นสำหรับพนักงาน คัดกรองพนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เช่น แผ่นใสครอบหน้า (Face shield) ถุงมือ เป็นต้น
          3. จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการในบริเวณต่างๆ ของสถานบันเทิง 4. จำกัดจำนวนผู้มาใช้บริการไม่ให้แออัด 5. ลดระยะเวลาโดยการจองทางออนไลน์ และลดการสัมผัส เช่น มีระบบการจ่ายเงินแบบออนไลน์ใช้ถาดหรืออุปกรณ์ในการรับเงิน เป็นต้น
          "ข้อปฏิบัติถัดมา คือ 6. มีการจัดระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างบุคคล โต๊ะในร้าน และระหว่างเวทีกับผู้มาใช้บริการ 7. ควบคุมไม่ให้มีกิจกรรมอื่นที่ใช้เสียงดัง (นอกจากการแสดงบนเวที) หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและการแพร่กระจายเชื้อ 8. ให้ทำความสะอาดพื้นที่หรือบริเวณ   ที่มีการสัมผัสร่วมกัน และ 9. จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี กรณีสถานที่อยู่ในอาคารหรือเป็นพื้นที่ปิดควรจัดทำระบบระบายอากาศหรือปรับอากาศให้มีอัตราการหมุนเวียนของอากาศอย่างเพียงพอ และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ"
          อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ สาธารณสุขเมียนมา ประจำจังหวัด เมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้สั่งเจ้าหน้าที่ออกติดตามค้นหาชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ ที่สัมผัส เด็กชายชาวเมียนมา อายุ 2 ขวบ ที่ป่วย ด้วยโรคไวรัสโควิด-19 โดยการตรวจค้นหาตามบ้าน เช่น บ้านที่ครอบครัวเด็กนำสัมภาระไปฝากไว้ และคนรู้จัก รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขชาวเมียนมา จำนวน 48 คน โดยนำไปกักบริเวณเพื่อรอการตรวจเชื้อ หลังจากที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมียนมาได้สอบปากคำแม่เด็ก และพี่สาวเด็ก
          ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข เมียนมาแจ้งยอดผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต ด้วยโรคโควิด-19 ล่าสุดเมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 16 กันยายน 2563 ว่า มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด จำนวน 3,636 คน เสียชีวิต 39 คน และพบผู้ป่วยเพิ่มจำนวน 337 คน
          รายงานข่าวแจ้งว่าด้านชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จังหวัดตาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก และตำรวจตระเวนชายแดน กองร้อยตชด.ที่ 346 อ.แม่สอด ยังคงออกตรวจตราตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด

 pageview  1210916    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved