Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 08/10/2563 ]
รพ.กักกันแห่งรัฐทางเลือก สร้างรายได้เข้าประเทศ

  ประเทศไทยควบคุมป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในฐานะประเทศที่ฟื้นฟูจากโควิด-19 เป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่าง ต่อเนื่องแสดงความประสงค์จะเข้ามารับการรักษาพยาบาลภายในประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ดึงรายได้เข้าสู่ประเทศ ภายหลังวิกฤติการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
          กรุงเทพธุรกิจ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.)กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำโครงการโรงพยาบาลกักกันแห่งรัฐทางเลือก สร้างระบบการกักตัว ร่วมกับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาล เพื่อให้ ผู้ป่วยและผู้ติดตามชาวต่างชาติได้รับ การดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ และเป็น การเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการควบคุมป้องกันโรค ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยขณะนี้ มีสถานพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการ โรงพยาบาลกักกันแห่งรัฐทางเลือกแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 154 แห่ง
          แบ่งออกเป็นสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน จำนวน 118 แห่ง และ สถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน จำนวน 36 แห่ง มีผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวแล้ว 701 ราย ผู้ติดตาม 522 ราย สร้างรายได้ให้กับประเทศ จำนวน 29,900,000 บาท โดยประเทศที่ เข้ามารับบริการมากที่สุด ได้แก่ กัมพูชา/จีน/เมียนมาร์/คูเวต/สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
          ส่วนกลุ่มโรคที่เข้ามารับบริการมากที่สุด อายุรกรรม/IVF/โรคมะเร็ง/การศัลยกรรมแปลงเพศ/โรคหัวใจ และในอนาคตจะ มีการเปิดสนามบินหลักและสนามบิน ภายในประเทศเพื่อรองรับการเดินทางของผู้ป่วยชาวต่างชาติและผู้ติดตามทางอากาศเพิ่มเติม
          "นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์" อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ในการรับผู้ป่วยและผู้ติดตามชาวต่างชาติเข้ารักษาพยาบาล กับโรงพยาบาลกักกันแห่งรัฐทางเลือกนั้น ผู้ป่วยจะต้องนัดหมายกับสถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนดเป็นสถานที่กักกัน โดยสถานพยาบาลจะพิจารณาการนัดหมายจากผู้ป่วยและผู้ติดตามในกลุ่มประเทศที่ไม่มีสถานการณ์การระบาดของโรค โควิด-19 หรือรุนแรงน้อย ซึ่งผู้ป่วยและผู้ติดตามจะต้องแสดงเอกสารและ หลักฐานตามที่ ศบค.กำหนด
          อาทิ ใบรับรองแพทย์ กรมธรรม์ที่ครอบคลุมโรคโควิด-19 ที่ ผลตรวจโรคโควิด-19 ที่ออกให้ก่อนเดินทาง ล่วงหน้า 72 ชั่วโมง ฯลฯ และเมื่อเดินทางเข้ามา ในประเทศแล้วสถานพยาบาลจะมารับตัวผู้ป่วยและผู้ติดตามจากสนามบินหรือด่านชายแดน เพื่อไปกักกันตัว ณ สถานพยาบาลเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ในระบบปิด พร้อมทำการตรวจคัดกรองโรคโควิดตามระยะเวลาที่กำหนด ตั้งแต่เริ่มการรักษาจนเสร็จสิ้นกระบวนการ หากสถานพยาบาลพบอาการของโรคโควิด-19 จะมีการแจ้งไปยังสถาบันป้องกันควบคุมโรค เขตเมืองและกรมควบคุมโรคในพื้นที่ทันที โดยกระบวนการทั้งหมดนั้นผู้ป่วยและผู้ติดตามจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา  ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าเยี่ยมชม การดำเนินงานโรงพยาบาลกักกันแห่งรัฐทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลต้นแบบที่มีกระบวนงานและระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพมาตรฐาน รองรับกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ
          ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์  ผู้อำนวยการ ด้านบริหาร (CEO) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็น โรงพยาบาลกักกันแห่งรัฐทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine - AHQ) มีผู้ป่วยต่างชาติให้ความเชื่อมั่นเดินทางเข้ารับการรักษาถึงร้อยละ 37 จากกลุ่มสถานพยาบาล AHQ นับตั้งแต่ทางการได้อนุญาตให้ผู้ป่วยต่างชาติสามารถเดินทางเพื่อเข้ารับการรักษาในประเทศได้ตามขั้นตอนที่กำหนด โดยมีการเตรียมพร้อม ในการรับสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งมีประสบการณ์ตรงในการรับมือมาตั้งแต่การแพร่ระบาด ของโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก และโรคเมอร์ส
          โดยการบริหารจัดการในช่วงโควิด-19 มีการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งจากองค์กรภายในประเทศและ ต่างประเทศ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประมวล เพื่อสำหรับใช้ตัดสินใจ ในการปรับเปลี่ยนการรับมือให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปแต่ละช่วง
          อาทิ การแยกพื้นที่บริการผู้ป่วยโรคหวัด การให้บริการ 60 second service การให้บริการ teleconsultation ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยต่างชาติที่อาจยังไม่สะดวกเดินทางเข้ามารับการรักษาในช่วงนี้
          ทั้งนี้การดำเนินการตามมาตรฐานการตรวจคัดกรองและป้องกันอย่างเข้มงวดตลอดในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้องค์กรอิสระของสหรัฐอเมริกา Global Health Accreditation หรือ GHA ได้มอบประกาศนียบัตร GHA COVID-19 เพื่อรับรองว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยต่างชาติในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สร้างความเชื่อมั่น ให้กับการรักษาพยาบาลของประเทศอีกด้วย

 pageview  1210912    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved