Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 19/01/2564 ]
ปัญหาสุขภาวะแรงงานข้ามชาติ สิ่งที่ต้อง สื่อสาร ช่วงโควิด-19ระบาด

 การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ได้สร้างผลกระทบทุก หย่อมหญ้า ไม่เฉพาะ "คนไทย" เท่านั้น แต่ให้ยังเป็น "ทุกคน" ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการ ขับเคลื่อนจีดีพีประเทศ แม้ว่าปัจจุบันแรงงานข้ามชาติกำลังเป็นจำเลยสังคมในเรื่องนี้ แต่คงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า การควบคุมโรคที่จะได้ผลดี ควรจะดำเนินการโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติในทุกมิติและทุกเชื้อชาติ  ที่สำคัญในการจัดการปัญหาด้านสุขภาพแรงงาน ข้ามชาติอาจไม่สามารถมองเพียงมิติด้านสาธารณสุขอย่างเดียว หากแต่ต้องปรับวิธีคิด มุมมอง ทัศนคติคนไทย ที่มีต่อแรงงานข้ามชาติว่า พวกเขาคือส่วนหนึ่งของสังคมไทย
          ผศ.ดร.ดำรงเกียรติ อาจหาญ ภาควิชาโภชนศาสตร์เขตร้อนและวิทยาศาสตร์อาหาร คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เคยลงพื้นที่สำรวจชุมชนแรงงานข้ามชาติ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติกระจัดกระจายอยู่ทั่วไทยไม่น้อยกว่า  3 ล้านคน ไม่รวมนอกระบบ โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติ ประมาณ 3 แสนคน
          สถานการณ์โควิด 19 ที่ระบาดในสมุทรสาครครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เกินความคาดหมาย เนื่องจากด้วยสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่แออัด ขาดสุขลักษณะ ทำให้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพไม่น้อย นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติมีความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขอนามัยต่างๆ น้อยมาก รวมถึงพฤติกรรมทางสังคมของแรงงาน ข้ามชาติเองยังมีความแตกต่างจากคนไทย ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับผลการสำรวจสถานการณ์ความรอบรู้ทางสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่ร่วมกับ สสส. สำรวจแรงงานต่างด้าวประมาณพันกว่าคนใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระนอง ชลบุรี หนองคาย พบว่าร้อยละ 77 ยังมีความรู้ เรื่องสุขภาพต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือ ไม่เพียงพอในการดูแลสุขภาพของตนเองได้
          "ด้วยวัฒนธรรมแรงงานข้ามชาติ เวลากินข้าวเขาจะกินร่วมกัน ไม่มีช้อนกลาง มีการรวมกลุ่มพูดคุยกัน หรือแม้แต่เวลาต้องโดยสารรถรับส่งโรงงานก็อยู่ในสภาวะแออัดเบียดเสียด เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีโอกาสเว้นระยะห่างจากกันเป็น "รากเหง้า" สำคัญ ปัญหาโควิด 19 เป็นปัญหาปลายเหตุ เพราะประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือ "การสื่อสาร" ที่จะคุยกับแรงงานต่างชาติเหล่านี้ ที่สำคัญคือขาดช่องทางการสื่อสารในทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะมิติสุขภาพเท่านั้น" ผศ.ดร.ดำรงเกียรติกล่าว
          ขณะที่คนไทยมีสื่อรับข้อมูลได้ หลากหลายช่องทางมาก เรียกว่าถ้าไม่อยากรับ ก็ต้องได้รับรู้ทางใดทางหนึ่ง แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติแล้วแทบไม่มีช่องทางการสื่อสารเลย หรือถ้ามีก็น้อยมาก จากผลสำรวจพบว่าแรงงานข้ามชาติในไทยมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ จนถึงระดับเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมน้อยมาก
          ผศ.ดร.ดำรงเกียรติ ระบุว่า"การสื่อสารว่า แค่ "ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ป้องกันโรค" อาจยังไม่ใช่ข้อมูลที่ "เพียงพอ" ในการจะช่วยให้แรงงานเหล่านี้หันมาตระหนักรู้และป้องกันตัวเอง เขาควรจะรู้เหตุผลที่มา ข้อมูลรอบด้านเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมต้องปฏิบัติ แต่เวลานี้ ที่เขายอมปฏิบัติเพราะ กลัวบริษัท จะไล่ออก การทำด้วยความเข้าใจเขาจะปรับตัว ได้ดีกว่าทำด้วยความกลัว เมื่อทั้งด้านภาษา สังคม และวัฒนธรรม เป็นกำแพงสำคัญ ความท้าทายที่ประเทศไทยต้องไปให้ถึงคือการพัฒนา "สื่อ" และช่องทาง "สื่อสาร" รวมถึง "อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว" (อสต.) สื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่ "เชื่อม" ประสานคนทั้งสองฝั่ง
          ผศ.ดร.ดำรงเกียรติ อธิบายเสริมว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เมียนมาหรือลาว นี่คือ 3 ประเทศหลักที่นิยม ผลิตภัณฑ์ของไทย เรียกได้ว่าเป็นคู่ค้าสำคัญดังนั้นสิ่งหนึ่งคือรัฐบาลต้องสื่อสารให้คนไทย รับรู้ว่าทำไมต้องดูแลแรงงานต่างชาติ นอกจากเรื่องโควิด 19โรคอื่นๆเช่น ไข้หวัด ไข้เลือดออก ที่อาจเกิดขึ้นอีกได้
          "ภาคนโยบายพิจารณาถึงความชัดเจนในการป้องกันโรคโควิด-19 ในแรงงานข้ามชาติด้วยว่าในกรณีเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสเข้าถึงสิทธิ์ด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้พิจารณาเป็นอันดับแรก ยกตัวอย่างในจังหวัดสมุทรสาครครึ่งหนึ่งคือคนไทย แต่อีกครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ ถ้าเรา บอกว่าจะฉีดวัคซีนให้แต่คนไทยแล้ว โรคจะหมดไปหรือไม่ นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติเขาเองที่ถูกกฎหมายเองเขาก็มีสิทธิ ตามหลักประกันสุขภาพ และบางส่วน ก็ซื้อบัตรประกันสุขภาพเองเช่นกัน อยากฝากรัฐพิจารณาสิทธิ์เหล่านี้ด้วย" ผศ.ดร.ดำรงเกียรติ กล่าว
          ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวถึงหลักสูตร อสต. ที่ สสสและภาคีพัฒนาขึ้น ว่า .เป็นกลไกสำคัญ การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งอสต.ส่วนใหญ่เป็นผู้นำในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่มีจิตอาสาเสียสละและมีพื้นฐานความรู้ด้านสุขภาพ ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมี 4,000 คนต่อแรงงานถึง 2.5-3 ล้านคน
          ดังนั้นนอกจากการปรับหลักสูตรจาก 40 ชั่วโมง เป็น 10 ชั่วโมงและปรับการอบรมแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มจำนวน อสต.ให้ครอบคลุมแล้ว สสส.และภาคียังให้ ความสำคัญในการผลักดันนโยบายการรับรองสถานะของ อสต. เหล่านี้ จะใช้เงินกองทุนสนับสนุนการดำเนินการแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมืองไทยหรือ เข้าถึงกองทุนเงินทดแทนเพื่อคุ้มครองจากอุบัติเหตุในการทำงาน สิทธิต่างๆ ช่วยสร้างแรงกระตุ้น กำลังใจให้เขา และพัฒนาศักยภาพได้มากขึ้น
          ปัจจุบันสสส.ขับเคลื่อน 3 ประเด็น คือ การส่งเสริมความรู้ การขับเคลื่อนสู่ระดับนโยบาย และการเข้าไปหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายและแกนนำ สุขภาพในพื้นที่ ซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีการนำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพแรงงานต่างชาติมาสู่การพัฒนาระบบการให้บริการมากขึ้น เสนอกระทรวงแรงงานและสาธารณสุขว่าต้องคุ้มครองกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ตามมาตรา 64 กลุ่มแรงงานรับจ้าง ที่ไปกลับตามฤดูกาล แรงงานอิสระหรือรับจ้างรายวัน
          การสื่อสารว่าแค่ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ป้องกันโรค อาจยังไม่ใช่ข้อมูลที่ เพียงพอในการจะช่วยให้แรงงานเหล่านี้หันมาตระหนักรู้และป้องกันตัวเอง

 pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved