Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 11/01/2564 ]
สธ.ชงกก.โรค แผนวัคซีน ลุ้น2สัปดาห์ ไทยพ้นวิกฤติ

 กรุงเทพธุรกิจ   สธ.เผยยอดผู้ป่วยโควิด เฉพาะระบาดใหม่สะสม 6,061 ราย พบ 10 จังหวัด ยอดพุ่งมากกว่าวันก่อน แต่สถานการณ์โดยรวม แนวโน้มคงที่ อีก 2 สัปดาห์ผู้ติดเชื้อลดลง คาดปลายเดือน ก.พ.ไทยผ่านช่วงระบาดหนัก เผยวันนี้ชงแผนจัดหา-ฉีดวัคซีนเข้ากก.โรคติดต่อ หมอทวีศิลป์เผยเตรียมใช้ AI ตรวจนับคนใส่หน้ากากแต่ละพื้นที่
          สถานการณ์โรคโควิด- 19 วานนี้ (10 ม.ค.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 245 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 181 ราย ผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 43 ราย และผู้เดินทางมาจาก ต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค(Quarantine) 21 ราย รวมสะสม 10,298 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อ ในประเทศ 8,157 ราย รักษาหายแล้ว 6,428 ราย มี ผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย เหลือรักษาอยู่  3,803  ราย ผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 67 ราย โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อ รายใหม่ในประเทศ 181 ราย มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง อาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 7 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 107 ราย อัตราการ เสียชีวิต 0.65%ถือเป็นประเทศหนึ่งของโลกที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ
          หากแยกเฉพาะการระบาดรอบใหม่ตั้งแต่ 15 ธ.ค.2563 -10 ม.ค.2564 จำนวนผู้ป่วยสะสม 6,061 รายผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศด้วย ยังอยู่รพ. 1,811 ราย อาการหนักใส่เครื่องช่วยหายใจ 6 ราย ยังอยู่รพ.สนาม 1,678 ราย รักษาหายแล้ว 2,479 ราย โดยวันที่ 10 ม.ค.มีผู้หายป่วยวันเดียว 882 ราย พบผู้ติดเชื้อใน 58 จังหวัดยังเท่าเดิม
          สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ราย 9 จังหวัด คือ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี ตราด อ่างทอง นครปฐม นนทบุรี และสมุทรปราการ ผู้ติดเชื้อ 11-50 ราย 13 จังหวัด มี1-10 ราย 16 จังหวัด จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วย 19 จังหวัดหรือสีขาว นอกจากนี้ มี 20 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ป่วยในรอบ 7-14 วันที่ผ่านมา หรือสีเขียว ทั้งนี้ ตามตารางแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยรายใหม่และสะสม 15ธ.ค.2563-10 ม.ค.2564
          โดยยังมี 10 จังหวัดที่ทิศทางการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าวันก่อนหน้า ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ลพบุรี และเชียงใหม่ เฉพาะที่ชลบุรี ช่วงเย็นที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานพบติดเชื้อโควิดพุ่ง 49 ราย ที่ศรีราชาอำเภอเดียว 32 ราย ส่งผลยอดรวมล่าสุด รวม 567 ราย
          เตรียมใช้AIตรวจนับคนใส่หน้ากาก
          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวว่า สถานการณ์ถึงขณะนี้ยังไม่มีกราฟตัวไหน บอกว่า เป็นขาลง อาจจะใช้คำว่าทรงตัว ส่วนจะขึ้นจะลงต้องลุ้นกันเป็นวันๆ เป็นรอบๆ ขอย้ำต้องใช้มาตรการทุกมาตรการทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย เว้นระยะห่างและโหลดแอพหมอชนะ สำหรับยอดดาวน์โหลดแอพได้เพิ่มขึ้นจาก 5.34 ล้าน เป็น 5.96 ล้านครั้ง และมีการลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 2.6 ล้านเป็น 2.8 ล้านคน
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงอุดมศึกษา นวัตกรรมและวิจัย (อว.) จะมีการนำนวัตกรรมการตรวจนับจำนวนคนใส่และไม่ใส่หน้ากากโดยกล้องจับภาพเอไอ(AI)มาใช้ตรวจนับในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ  จากนั้นจะประมวลผลว่าพื้นที่หรือจังหวัดใดมีความร่วมมือในการใส่หน้ากากกี่เปอร์เซ็นต์ และรายงานผล ช่วยประชาชนในการประเมินความเสี่ยง
          ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงสถานการณ์โควิดว่า จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมทั่วประเทศในกลุ่มต่างชาติตามเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต รวม 43,077 พบติดเชื้อ 2,573 ราย โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มต่างชาติเฉพาะเขตสุขภาพที่ 5 (ครอบคลุมสมุทรสาคร) และเขตสุขภาพที่ 4(ครอบคลุมนนทบุรี) ส่วนเขตสุขภาพอื่นๆ ไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยพบผู้ติดเชื้อในเขต3 จำนวน 3 ราย เขต11จำนวน 1 รายและเขตเมืองพื้นที่กทม.9 ราย และเขตอื่นไม่พบผู้ติดเชื้อ
          สัปดาห์นี้พิจารณาผ่อนปรนมาตรการ
          "สถานการณ์โดยภาพรวมคงตัว และผู้ติดเชื้อลดลงในอีก 2 สัปดาห์ สิ้นเดือนม.ค.ตัวเลขรายใหม่อยู่ที่ 2 หลัก และก.พ.จะอยู่ที่ 2 หลักเช่นกันแต่จะไม่สูงขึ้น และจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งสัปดาห์นี้ จะมีการพิจารณาเรื่องของสถานการณ์การติดเชื้อที่ดีขึ้นตามลำดับ อาจมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆมากขึ้น เพื่อให้กระทบประชาชนและเศรษฐกิจน้อยที่สุด แต่เมื่อมีการผ่อนปรนแล้วทุกฝ่ายต้องมีวินัยป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อ วงกว้างขึ้นมาอีก ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันและทำได้ดี เชื่อว่าปลายเดือนก.พ.ประเทศไทยจะผ่านการระบาดของโรคโควิด-19ร่วมกันได้อย่าง สง่างาม" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
          นพ.เกียรติภูมิกล่าวถึงความคืบหน้าวัคซีนด้วยว่า ในการจัดหาวัคซีนซึ่งประเทศไทยมีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2563 นั้น โดยปลายเดือนก.พ.จะได้จากที่จัดซื้อเร่งด่วนของชิโนแวค(sinovac) ล็อตแรก 2 แสนโดส มี.ค.ได้อีก 8 แสนโดส และเม.ย.ได้อีก 1 ล้านโดส รวม 2 ล้านโดส และพ.ค.จะได้จากการจองซื้อแบบรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตในประเทศไทยจากแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส และระยะต่อไปจะจัดซื้อ เพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส รวม 63 ล้านโดส สำหรับประชาการ 30 กว่าล้านคน น่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันของประเทศไทยได้
          ไทยเลือกใช้วัคซีนไม่เกิน3ชนิด
          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หลักการฉีดวัคซีนให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคนั้น ไม่ใช่ต้องฉีดให้ทุกคน 100% แต่จะฉีดให้ในระดับหนึ่งที่จะลดอำนาจการแพร่เชื้อในชุมชน ทำให้ชะลอและหยุดยั้งการระบาด แต่จะพบคนป่วยแบบประปราย ซึ่งในการคัดเลือกวัคซีนนั้นพิจารณาจากประสิทธิผลวัคซีน ราคา เพราะบางบริษัทมุ่งการค้าเต็มที่และบางบริษัทคำนึงถึงการช่วยสังคมด้วย จำนวนที่ขายให้ได้ และเวลาในการส่งมอบเนื่องจากไม่ใช่สั่งซื้อแล้วจะได้ในทันที โดยจะต้องไม่พิจารณาเลือกวัคซีนจาก 1 ชนิดหรือ 1 แหล่งเนื่องจากยังไม่มีชนิดไหนที่วิจัยในคนระยะ 3 แล้วเสร็จ 100%
          สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะมีการเลือกใช้ไม่เกิน 3 ชนิดเพราะถ้ามากชนิดเกินไป ในการขนส่งและการฉีดจะยุ่งยากและสับสน เพราะแต่ละชนิดจะมีการเก็บรักษา ขนส่งและฉีดที่แตกต่างกัน โดยขณะนี้ไทยจัดหาจัดซื้อแล้ว 2 ชนิด จากชิโนแวคและแอสตราเซนเนก้า ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนฉีดให้ฟรีโดยภาครัฐในจำนวนที่ครอบคลุมการยับยั้งการระบาดได้ เพราะฉะนั้น หากไม่ใช่คนที่ต้องเร่งรีบก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปฉีดกับเอกชน
          ชงแผนวัคซีนเข้าคกก.โรคติดต่อ
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการศึกษาของ unicef ระบุว่าในช่วงต้นปี 2564 วัคซีนในตลาดโลกจะมีน้อยกว่า ความต้องการ ประเทศส่วนใหญ่ที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อยจะได้วัคซีนจำนวนจำกัด และวัคซีนจะมี เพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 สำหรับไทยกำหนดหลักการ ให้วัคซีนเป็นไปตามเงื่อนไขปริมาณวัคซีนที่จะจัดหาได้ในระยะแรก ที่มีจำกัด
          แผนการกระจายวัคซีนในสถานการณ์เร่งด่วนล็อตแรกจำนวน 2 ล้านโดส ที่จะต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก่อนนั้นเป้าหมายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้าอื่นๆ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด โดยให้คนละ 2โดส ห่างกัน 1 เดือน
          โดยจะเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลระดับต่างๆ ในสังกัดสธ.ตั้งแต่รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชนและรพ. ส่งเสริมสุขภาพตำบล กว่า 11,000 แห่งและสังกัดอื่นๆและโรงเรียนแพทย์ในการให้บริการวัคซีนเพื่อให้ประชาชนไปรับบริการใกล้บ้านได้สะดวก
          นอกจากนี้ จะมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการได้วัคซีนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ถ้าผลข้างเคียงรุนแรงจะมี กรรมการตรวจสอบอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนพิจารณาและถ้ารุนแรงมาก็จะมีการสอบสวนและสั่งหยุดฉีด โดยแผนทั้งหมดนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบหรือเพิ่มเติมจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่มีรองนายกฯและรมว.สธ.เป็นประธานในวันที่ 11 ม.ค.นี้ ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนที่ก้าวหน้า มากที่สุด โดยมีการขึ้นทะเบียนในบางประเทศและมีการฉีดแล้ว แม้ว่าจะไม่มีชนิดไหนวิจัยในคนระยะที่ 3 แล้วเสร็จ 100% ก็ตาม มี 6 ชนิด ได้แก่ 1.ไฟเซอร์และไบโอเทค ของสหรัฐ และเยอรมนี 2.โมเดอนา ของสหรัฐ 3.แอสตร้าเซนเนก้า ของอังกฤษและสวีเดน 4.สปุทนิค วี ของรัสเซีย 5.ชนิดเชื้อตาย BBIBP-CorV ของจีน และ6.ซิโนแวคของจีน
          โดยแต่ละชนิดแตกต่างกันในเรื่องของรูปแบบวัคซีน ประสิทธิผล การให้วัคซีน ผลข้างเคียงและ การเก็บรักษา นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีก 5 ชนิดที่คาดว่าจะประกาศประสิทธิผลการวิจัยในคนระยะที่ 3 ภายในต้นปี 2564

 pageview  1210902    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved