Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 27/01/2564 ]
สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เช็คค่า ฝุ่นPM2.5 ก่อนออกจากบ้าน

  ที่ผ่านมาแม้สถานการณ์ ฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM2.5 จะมีสูงบ้างในพื้นที่หรือ สูงเกินค่ามาตรฐาน แต่ด้วยมาตรการโควิด-19 อย่าง Work from home หรือการปิดโรงเรียน ทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เบาบางลง และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนน้อยลง เพราะขณะนี้ยังไม่พบผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นPM2.5 เพิ่มขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ฝุ่น PM2.5 ก็ยังมีอันตรายและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น การจัดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติแห่งใหม่ในจ.นนทบุรี บริเวณ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน  ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพของประชาชนได้อย่างดียิ่งขึ้น
          "สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติแห่งที่ 2 ในจ.นนทบุรี" ภายใต้ความร่วมมือของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่ง ใน 73 สถานีใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับสภาพอากาศและการป้องกันดูแลสุขภาพ โดยจะแสดงผลในแอปพลิเคชัน "Air4Thai" และเว็บไซต์ www.air4thai.com
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า ค่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 แต่ละพื้นที่ แต่ละเวลามีความแตกต่างกัน การจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงเกิดได้หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่อยู่อาศัย การทำงานกิจกรรม ช่วงเวลาในการสัมผัส การออกกำลังกายในที่แจ้ง โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นพิเศษ อย่าง เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็น 4 โรคดังนี้ โรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ จะมีโอกาสได้รับ ผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก อยากให้ประชาชน โหลดแอพพลิเคชั่น "Air4Thai" หรือเข้าเว็บไซต์ www.air4thai.com เพื่อรับการแจ้งเตือนว่าในพื้นที่ของตนเองสภาพอากาศเป็นอย่างไร จะได้หาทางป้องกัน ดูแลสุขภาพตนเองจากฝุ่น PM 2.5ด้วย
          สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติแห่งใหม่ของจังหวัดนนทบุรี มีเครื่องตรวจวัด ที่มีเทคโนโลยี US.EPA ซึ่งเป็นวิธีการตรวจวัด ที่ได้รับมาตรฐานสากล เชื่อมั่นได้ว่าการแจ้งเตือน ค่าฝุ่นPM2.5 ระดับนาที และชั่วโมง มีความแม่นยำสูง "อรรถพล เจริญชันษา"อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ได้ตรวจเช็คค่าฝุ่น PM 2.5 ก่อนจะ เดินทางออกจากบ้าน เพราะต้องยอมรับว่าแม้ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นเช่นการใช้ยานพาหนะ บนท้องถนนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดน้อยลง แต่ทุกพื้นที่ยังคงมีฝุ่นละอองอยู่  ฉะนั้นประชาชนต้องร่วมกันลดกิจกรรมที่จะ ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ไม่ว่าจะเป็นงดเผาในที่โล่ง และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นต้น รวมถึง ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้านหรือทำ กิจกรรมนอกบ้านในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง หากจำเป็น ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งควรตรวจสอบค่าฝุ่น ที่แอพพลิเคชั่น Air4Thai  เพื่อประเมินความเสี่ยง และหาวิธีป้องกันการสัมผัสฝุ่นที่เหมาะสม
          ขณะที่ "นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าภาพรวมสุขภาพของผู้ที่มีอาการลดลงจากฝุ่นPM2.5สัปดาห์ที่ผ่านมา พบมากที่สุดยังคงเป็นอาการโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก ร้อยละ 17 แสบจมูก ร้อยละ 13.7 และแสบตาคันตา ร้อยละ 9.8 ซึ่งเป็นอาการเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสัมผัสฝุ่นละออง โดยกลุ่มอายุ 45-54 ปี ยังเป็นกลุ่มที่พบอาการมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ออกมาทำงานและมีโอกาสรับสัมผัสฝุ่นมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ
          สำหรับกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูง เกินมาตรฐานเช่นเดียวกัน   โดยจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 พบว่า มีเด็กอายุ 0 - 14 ปี กว่าร้อยละ 44.1 ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาด เล็กจำนวน 618,131 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.7 ของเด็กทั้งหมด โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ แสดงว่าในทุก ๆ วันจะมีเด็ก  0 - 14 ปีที่มาเข้ารับ การรักษาด้วยการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 1,694 ราย ต่อวันกรมอนามัยได้จัดทำชุดข้อมูล ความรู้ในการ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับเด็กเล็ก โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซด์กรมอนามัย
          "ผศ.พญ.หฤทัย กมลาภรณ์" กุมารแพทย์ โรคระบบหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เด็กเป็นประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการได้รับผลกระทบจากมลพิษที่ส่งผลต่อ เยื่อบุทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันที่ยัง เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าผู้ใหญ่ ซึ่งในเด็กปกติ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมี ผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวันคือ PM 2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เด็กที่มีปัญหาทางระบบหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง  เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหัวใจ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมี ผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คือ PM 2.5 มากกว่า 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
          "ระดับคุณภาพอากาศในอาคารที่ เหมาะสม คือ PM 2.5 ไม่เกิน 37 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ในส่วนของโรงเรียน ควรมีการติดตามรายงานคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และพิจารณาปรับกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เมื่อระดับ PM 2.5 อยู่ในระดับสีส้ม เด็กควรสวมหน้ากากอนามัย และไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง หากระดับ PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง หรือหากระดับ PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน มากกว่า 3 วัน ควรพิจารณาหยุดเรียน" ผศ.พญ.หฤทัย กล่าวทิ้งท้าย

 pageview  1210895    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved