Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 11/05/2564 ]
วัคซีนโควิด-19 ยิ่งฉีดเร็วยิ่งดี เพิ่มภูมิต้านทาน ลดเสียชีวิตกว่า90%

 กรุงเทพธุรกิจ   หลังจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดแอพพลิเคชั่น "หมอพร้อม" และเปิดพื้นที่โรงพยาบาล รพ.สต.และอสม. เพื่อให้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง อย่าง ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้น ซึ่งมี 11.7 ล้านคน และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน เป็นสองกลุ่มแรกที่ได้มีโอกาสจองฉีดวัคซีนก่อนกลุ่มอื่นๆ พบว่า ขณะนี้ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2564 เวลา 08.00 น.)  มีผู้จองฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 1,574,954 ราย แบ่งเป็นการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 514,411 ราย และฉีดวัคซีนในต่างจังหวัด 1,060,543 ราย
          นอกจากนั้น ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2564 พบว่า จำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 1.25 ล้านคน สามารถจองคิววัคซีนสำเร็จรวม 507,437 คน คิดเป็น 41% จากคนกลุ่มนี้ที่มี สิทธิจองวัคซีนรวมกัน 16 ล้านคน ด้วยวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการยุติการระบาด โรคโควิด-19 ยิ่งประชาชนฉีดได้เร็วและฉีดได้มาก จึงเป็นสิ่งจำเป็น
          'วัคซีนโควิด'ป้องกันไม่ใช่เฉพาะตัวเรา
          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ค(Yong Poovorawan) ถึงการฉีด วัคซีนป้องกันโควิด-19 ระบุว่า การฉีดวัคซีน โควิด-19 นอกจากจะป้องกันตัวเราไม่ให้ป่วย รุนแรงและเสียชีวิตแล้ว ถึงแม้ว่าจะป้องกันได้ ไม่ 100 % แต่จะเป็นการป้องกันผู้อื่น โดยเฉพาะ ป้องกันบุคคลในบ้านที่ไม่ค่อยได้ออกนอกบ้าน หรือคนที่เรารัก ไม่ให้ป่วยหรือติดเชื้อได้
          ทั้งนี้การให้วัคซีนในคนหมู่มากเห็นได้ชัด อย่างประเทศอังกฤษ ที่ให้วัคซีนไปแล้วร่วม 70 %ของประชากร ที่ได้รับอย่างน้อย 1 เข็ม อังกฤษจากที่เคยมีผู้ป่วยเป็นหมื่นต่อวัน และมีการเสียชีวิตเป็นหลักร้อยหลักพันต่อวัน  แต่ขณะนี้ เหลือผู้ป่วยเป็นตัวเลขที่เท่ากับ หรือน้อยกว่าประเทศไทย และที่สำคัญอัตรา ตายไปประเทศอังกฤษเหลือหลักหน่วย หรือหลักสิบต้นๆ เช่น วันที่ 9 พ.ค.2564 มีการเสียชีวิตเพียง 2 คนเท่านั้น น้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก
          ขณะที่ ฝรั่งเศสมัวแต่พะวงเรื่อง อาการข้างเคียง และการได้รับวัคซีนน้อยกว่าประเทศอังกฤษมากกว่าครึ่ง ทำให้ขณะนี้ ยังมีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น และมีการเสียชีวิตเป็นหลักหลายร้อยคนต่อวัน ทั้งที่วัคซีน ในประเทศก็ไม่ได้ขาดแคลนแบบประเทศไทย
          "ถ้าทุกคนได้รับวัคซีน ก็จะเป็นการป้องกันเขาป้องกันเรา และในที่สุด โรคโควิด 19 ก็จะ อยู่ในความควบคุม ไม่ให้มีการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องได้รับวัคซีนหมู่มากให้เร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสีย ทางด้านสุขภาพ ร่างกาย เศรษฐกิจและสังคม ให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของทุกคน ตัวเราและ ส่วนรวม และประเทศชาติ วัคซีนที่ดีที่สุดขณะนี้ คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด"ศ.นพ.ยง กล่าว
          ฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทานลดติดเชื้อ
          สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศ ขณะนี้ จัดสรรวัคซีนไปแล้ว 2,427,452 โดส จำนวนการฉีดสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.-8 พ.ค. 2564 รวม 1,743,720 โดส มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 1,273,666 ราย  วัคซีนเข็มที่ 2  จำนวน  470,054  ราย แบ่งเป็นฉีดวัคซีนซิโนแวค 1,167,398 ราย แอสตร้าเซนเนก้า 106,268 ราย และผู้ที่ได้รับ วัคซีนเข็มที่สอง 470,054 ราย แบ่งเป็น ซิโนแวค 470,038 ราย และแอสตร้าเซนเนก้า 16 ราย จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบว่า ผู้ที่ฉีด วัคซีนจะมีผลข้างเคียงรุนแรงหรือ เสียชีวิต
          ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า การศึกษา ภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เมื่อฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้วเป็นระยะเวลา 1 เดือนกับ การตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มเป็นเวลา 1 เดือน เปรียบเทียบกับการตรวจภูมิต้านทานในผู้ที่หายจากการติดเชื้อโรคโควิด 19 ในช่วงระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์หลังจากที่มี การติดเชื้อ จะเห็นว่าระดับภูมิต้านทานของวัคซีนซิโนแวคเมื่อฉีดครบแล้ว 2 ครั้ง มีค่าระดับภูมิต้านทานเฉลี่ย 85.9 unit/ml ส่วนภูมิต้านทานหลังฉีด แอสตร้าเซนเนก้า เพียงเข็มเดียวมีค่าเฉลี่ย 47.5 เมื่อเทียบกับ ภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 60.9 unit/ml และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ จะตรวจพบภูมิต้านทานได้ 98-99 % ในขณะที่ผู้ติดเชื้อ ตรวจพบภูมิต้านทาน ได้ 92.4%
          "การฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่า จะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานเท่าใด จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่รู้แน่ๆ คือว่า ถ้าเรามีภูมิต้านทาน ก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งระดับภูมิต้านทาน ที่เกิดขึ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทย กระตุ้นให้สร้าง ภูมิต้านทานได้ดีในประชากรไทย ทั้งวัคซีน ซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้า" ศ.นพ.ยง กล่าว
          ยิ่งฉีดเร็วยิ่งปลอดภัยยุติระบาด
          ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัคซีนที่ฉีด ทุกวันนี้ไม่ว่ายี่ห้อไหนรวมทั้งของไทย มีความปลอดภัย ซึ่งวัคซีนมีประโยชน์ ยิ่งฉีดเร็วยิ่งปลอดภัย ตอนนี้ ฉีดวัคซีน โควิด-19 ไปทั่วโลกแล้ว กว่า 1,000 ล้านโดส ในจำนวนนี้ ผู้ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 คือ 1-3 คน ใน 1 ล้านคน เช่นเดียวกันการเสียชีวิต ของโควิด -19 คือ 100 คน เสียชีวิต 2.2 คน ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อติดโควิด-19แล้ว จะอยู่ใน 2.2 คนใน 100 คน ที่เสียชีวิตหรืออยู่ใน 97.8 คนใน 100 คน ที่ไม่เสียชีวิต
          "รอบนี้ การเสียชีวิตในคนไทยที่ติด โควิด-19 เราเจอในคนตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุ ทุกคนมีโอกาส เสียชีวิตได้ เพราะไม่มีใครรู้ เชื้อที่เข้าสู่ ร่างกาย จะมากน้อยขนาดไหน มีทางเดียว ทำให้ตัวเองมีระบบภูมิคุ้มกันให้เร็วที่สุด มากที่สุด ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมากเท่าไหร่ คนไทยทั้งหมดก็จะปลอดภัย ฉีดวัคซีน ไม่ใช่เพื่อตนเองเท่านั้น แต่เพื่อผู้อื่น เพื่อประเทศ อยากชวนทุกคนช่วยกันหยุด โควิด โดยไม่อยู่กันใกล้ชิด และใช้สิทธิ ฉีดวัคซีนกันทุกคน"ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
          'วัคซีน'ป้องกันเสียชีวิต90%ขึ้นไป
          รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว จะมีประมาณ 5% ที่มีอาการรุนแรงเกิดขึ้นได้ ซึ่งใน 5% นี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ในสถานที่ ที่มีอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลที่พร้อม
          สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราไม่เกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรง จนขั้นวิกฤติ ทำให้เสียชีวิตได้นั้น คือการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่ใน ท้องตลาดในปัจจุบัน เกือบทุกยี่ห้อ สามารถป้องกันการเกิดโรคโควิดรุนแรง จนถึงวิกฤติและเสียชีวิตได้ 90% ขึ้นไป การฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ป้องกันตนเองจากการเกิดโรคโควิดรุนแรงและการเสียชีวิต

 pageview  1210874    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved