Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 29/03/2555 ]
เตือน 3 กลุ่มเสี่ยงเลี่ยงช้างพ่นน้ำหวั่นติด"วัณโรค"

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ 3 กลุ่ม คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เลี่ยงการสัมผัสน้ำที่พ่นจากช้างโดยตรง โอกาสติดเชื้อหรือป่วยสูง ชี้ช้าง 30% เสี่ยงมีเชื้อวัณโรค ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ วอนปศุสัตว์-ปางช้างท่องเที่ยว ตรวจหาช้างเลี้ยงทุกตัว
          จากกรณีปัญหาการตรวจพบว่าช้างจากปางช้างไทรโยค จ.กาญจนบุรีมีการติดเชื้อระบบโรคทางเดินหายใจของช้าง หรือ วัณโรคช้าง จำนวน 8 เชือก และทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ของ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กักตัว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดนั้น
          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า ปกติโรคในสัตว์ไม่ใช่ทุกโรคจะมาติดคน และบางโรคที่สามารถติดคนได้ ก็ไม่ง่ายนักที่โรคจากสัตว์จะมาติดคนได้ โดยเฉพาะวัณโรคในช้าง ซึ่งตามทฤษฎีสามารถติดคนได้ แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าคนติดวัณโรคจากช้าง เพราะโดยปกติเชื้อวัณโรคจะอยู่ในสิ่งแวดล้อม ในอากาศอยู่แล้ว และติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจเท่านั้น
          
          เตือนระวังช้างพ่นน้ำสงกรานต์
          ส่วนกรณีช้างเล่นน้ำสงกรานต์ จะนำเชื้อวัณโรคมาสู่คนหรือไม่นั้น ตามปกติปางช้างที่มีนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำสงกรานต์จะเป็นปางช้างที่ได้มาตรฐาน ในประเทศไทย จะต้องได้รับมาตรฐานปางช้างจากกรมปศุสัตว์และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมาตรฐานที่ว่าต้องมีการตรวจสุขภาพของพนักงาน ควาญช้าง และตัวช้างเป็นประจำทุกปี
          ถ้าพบช้างป่วยจะได้รับการรักษาจากสัตวแพทย์ประจำปางช้างหรือสัตวแพทย์ที่อยู่ใกล้ในทันที และช้างที่ป่วยจะให้งดกิจกรรมที่ใกล้ชิดกับคน เช่น ออกมาแสดงให้คนดูหรือเล่นน้ำสงกรานต์ เป็นต้น
          อย่างไรก็ตามคำแนะนำสำหรับประชาชนในกรณีดังกล่าว ขอให้กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อวัณโรคง่ายกว่าคนอื่น 3 กลุ่ม คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เบาหวาน โรคโลหิตจาง เป็นต้น ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำที่พ่นออกมาจากช้างโดยตรง หรือคลุกคลีกับช้างเป็นเวลานานๆ เพราะมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ
          ส่วนช้างที่นำมาเล่นสงกรานต์ต้องเป็นช้างที่มีสุขภาพดี ไม่ป่วย และน้ำที่เอามาพ่นต้องสะอาด
          
          แนะอย่าแตกตื่นผลยังไม่ชัด
          นายวรวิทย์ โรจนไพฑูรย์ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ อ.อ.ป. กล่าวว่า ไม่อยากให้ตื่นตระหนกมากนัก เนื่องจากขณะนี้เป็นการตรวจเบื้องต้น และยังไม่ได้ยืนยันผลชัดเจน โดยต้องรอตรวจซ้ำอีก 60 วัน ก่อนว่าเป็นเชื้อวัณโรคหรือไม่ อีกทั้งโรควัณโรคช้าง ถึงแม้ว่าจะสามารถแพร่จากช้างสู่คน จากคนสู่ช้าง และช้างกับช้างได้ก็ตาม แต่หากจะติดต่อถึงคนได้ ต้องใช้เวลานาน
          และผู้ที่มีโอกาสติดต่อโรคนี้ก็อยู่ใกล้ชิดคลุกคลีกันนานๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มควาญช้างที่ต้องเลี้ยงดูช้างอยู่ทั้งวัน
          นายวรวิทย์ กล่าวว่า ปกติทางโรงพยาบาลช้างจะมีการตรวจสุขภาพช้างเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว รวมทั้งของกรมปศุสัตว์เองก็ตรวจลักษณะนี้ แต่ยอมรับว่าไม่ได้ตรวจเจาะจงเฉพาะโรค เช่น วัณโรคช้าง
          ผมไม่อยากให้ออกข่าวว่าช้างในปางช้าง มีปัญหาเรื่องวัณโรค เพราะขณะนี้เรายังไม่ได้ตรวจกันชัดเจน เพียงแต่มีกรณีของปางช้างแห่งหนึ่ง ที่เอามาเลี้ยงที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย มีอาการบ่งชี้ว่าอาจติดโรคนี้แต่ทั้งหมดต้องรอการยืนยันอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้ยอมรับว่ากระทบกับความรู้สึก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะแคร์เรื่องนี้มาก นายวรวิทย์ กล่าว

          ชี้ช้าง30%ติดมีเชื้อวัณโรค
          ด้าน นสพ.นิกร ทองทิพย์ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. กล่าวว่า จากการสำรวจโรคของช้างป่าและช้างเลี้ยง ขณะนี้การเริ่มพบการระบาดใน 3 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคฉี่หนูซึ่งพบอยู่ในกลุ่มวัวที่ถูกนำมาเลี้ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรีมากกว่า 1 หมื่นตัวนั้นกำลังกลายเป็นแหล่งระบาดโรคนี้ไปยังแหล่งน้ำ
          รวมทั้งช้างป่าที่พบเชื้อในตัวช้างมากกว่า 30-40% นอกจากนี้ยังมีโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส หรือเริมในช้าง ซึ่งระบาดในลูกช้างเกิดใหม่ พบว่าช้างป่าในลาว กัมพูชา ไทยมีการติดเชื้อ 10 ตัว ในรอบ 10 ปี โดยช้างจะตายเมื่อรับเชื้อโจมตีเข้าหัวใจภายใน 24 ชั่วโมง
          นสพ.นิกร กล่าวอีกว่า สำหรับโรคที่น่าเป็นห่วง ก็คือ วัณโรคช้างที่พบการระบาดและมีเชื้อในตัวช้างสูงขึ้น 30% โดยเป็นเชื้อชนิดเดียวกับเชื้อวัณโรคในคน ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเชื้อตัวนี้ติดต่อมาจากคนเลี้ยงช้าง 2 สัญชาติโดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนไทยพม่าแถวกาญจนบุรี ที่พบการระบาดของเชื้อวัณโรคดื้อยาอยู่แล้ว
          น่าเป็นห่วงว่าส่วนมากช้างที่เป็นจะไม่แสดงอาการของโรคสูงถึง 90% และมีเพียง 10% ที่แสดงอาการและตายลง
          นสพ.นิกร กล่าวว่าที่ผ่านมานักวิจัยทำงานกันเงียบๆ เพราะไม่ต้องการสร้างความแตกตื่นให้กับนักท่องเที่ยว แต่ปรากฏว่ามีการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การนำช้างไปพ่นน้ำสงกรานต์ให้กับนักท่องเที่ยว หากตัวไหนที่มีเชื้ออยู่ และมีการพ่นน้ำออกไปใส่คนที่อ่อนแอก็จะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปได้

 pageview  1210898    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved