Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 03/05/2555 ]
ครม.ตัดงบรายหัวบัตรทองในรอบ 10 ปี

  แพทย์ชนบท หวั่นกระทบผู้ป่วย เหตุค่าใช้จ่ายเพิ่มครองชีพ-อัตราเงินเฟ้อพุ่ง
          ครม. ไม่เพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง ให้คงงบปี 2556 เท่าปี 2555 คือ 2,755.60 บาท แพทย์ชนบท หวั่นกระทบการรักษาผู้ป่วย เหตุค่าใช้จ่ายเพิ่ม ด้าน สมาพันธ์แพทย์ฯ เชื่ออัตรานี้อยู่ได้ แต่ สปสช.ต้องปรับการบริหารใหม่ ตัดกองทุนย่อย ลดงบคงค้างต่อปี
          นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึง กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา เห็นชอบตั้งงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบ 2556 ที่ 2,755.60 บาทต่อหัว ลดจากที่นำเสนอ 141 บาทต่อหัวจากปี 2555 หรือลดลง 4.9% ว่า การอนุมัติงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2556 ที่ปรับลดลงประมาณ 5% รวมทั้งยังลดงบส่งเสริมป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอีกกว่า 6% จะทำให้กระทบต่อฐานะการเงินและการให้บริการของหน่วยบริการแน่นอน
          นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ พบว่า ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนต่อหัวมากกว่า การตัดงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลเช่นนี้ ถือว่าเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ
          ในยุคสมัยของรัฐบาลนี้ที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมของสามกองทุน ต้องการให้ระบบ 30 บาทมีคุณภาพมากขึ้น ต้องการเน้นป้องกันมากกว่าการรักษา ทำไมกลับตัดงบเหมาจ่ายรายหัวและงบส่งเสริมป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงลง และเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสิบปีส่งสัญญาณล้มระบบบัตรทอง ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว
          รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบให้เสนอรัฐมนตรีตั้งงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2556 อยู่ที่ 2,939.73 บาทต่อคน และในอดีตที่ผ่านมา มีการเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวตามการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3% และเงินเดือนเพิ่มเฉลี่ย 6% โดยปี 2553 งบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น 9% ปี 2554 เพิ่มขึ้น 6% และปี 2555 สมัยรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ อนุมัติให้เพิ่ม 13.8% ซึ่งงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้อยู่ที่ 2,755.60 บาท แต่ปี 2556 กลับได้เท่าเดิม โดยถูกปรับลดจากที่เสนอของงบ 4.9%
          ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า งบรายเหมาจ่ายรายหัวปี 2556 ที่ได้รับเท่ากับปี 2556 นั้น หากปรับการบริหารใหม่เชื่อว่าจะอยู่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แยกการรักษาออกเป็นกองทุนต่างๆ รวมไปถึงการป้องกันโรค ซึ่งในแต่ละปีจะมีเงินที่ค้างอยู่ในแต่ละกองทุนจำนวนมาก และที่ผ่านมา ก็มีการเสนอปรับการบริหารแบบนี้มาโดยตลอด ทั้งการยุบกองทุนย่อย และการจำกัดการเพิ่มกองทุนย่อยอีก
          มองว่าแม้ปี 2556 งบเหมาจ่ายไม่เพิ่มก็อยู่ได้ เพียงแต่ต้องมีการปรับการบริหารเท่านั้น ซึ่งน่าจะลองดูซักปี แต่หากยังใช้การบริหารในรูปแบบเดิมก็คงไปไม่รอด ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.แห่งประเทศไทยกล่าว
          พญ.ประชุมพร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. และผู้บริหารโรงพยาบาลต่างๆ ได้ทำหนังสือถึง นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ระงับการใช้หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่ารักษาผู้ป่วยใน (ดีอาร์จี) ฉบับที่ 5 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 56 เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล
          เพราะจะทำให้โรงพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาได้น้อยลงจากที่แต่เดิมก็ไม่สามารถเรียกเก็บเต็มตามเกณฑ์ดีอาร์จีอยู่แล้ว โดยในกลุ่มโรคเดี่ยวจะลดลงจากเดิมประมาณ 15% ซ้ำยังถูกใช้เป็นหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาของทั้ง 3 กองทุน รวมประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลมากขึ้น

 pageview  1210913    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved