Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 16/01/2563 ]
มะเร็งเต้านม ผู้ชายก็เป็นได้ ไม่ควรชะล่าใจ

มะเร็งเต้านม เป็นโรคร้ายที่เกิดกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ เราอาจไม่ค่อยได้เห็นว่าผู้ชายที่อยู่รอบตัวหรือที่รู้จักป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมกันนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าผู้ชายจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผู้ชายก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเต้านมเช่นกัน เพียงแต่ความเสี่ยงน้อยกว่าผู้หญิงก็เท่านั้น
          นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า แม้ว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายที่พบในเพศหญิงมากเป็นอันดับ 1 แต่แท้จริงแล้วในเพศชายก็มีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมเช่นกัน จากสถิติพบว่า โดยทั่วไปเพศชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมตลอดอายุขัยอยู่ที่ 1 ใน 1,000 คน
          ในประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2562 คาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศชายรายใหม่ 2,670 คน ซึ่งน้อยกว่า 1% ของจำนวน ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด และในจำนวนนี้เสียชีวิต 500 ราย ขณะที่ เพศหญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมประมาณ 41,760 รายต่อปี
          อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชายค่อนข้างคงที่ในช่วง 30 ปี ในขณะที่อุบัติการณ์ในเพศหญิงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 100 เท่า มะเร็งเต้านมในเพศชายนั้นพบบ่อยในช่วงอายุ 60-70 ปี โดยพบว่าผู้ชายที่เป็นมะเร็งเต้านมมีอายุเฉลี่ยมากกว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม 7-8 ปี
          นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ อธิบายลงรายละเอียดว่า สถานการณ์มะเร็งเต้านมของคนไทย ในปี 2557 พบว่า มีผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 162 คน และผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 14,804 คน
          ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านมนั้นมาจากหลายปัจจัย เช่น เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้าอก มีประวัติมะเร็งเต้านมใน ครอบครัว ซึ่งพบว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีประวัติมะเร็งเต้านม ในครอบครัว โดยเป็นญาติทางฝ่ายชายหรือหญิงก็ได้
          ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งเต้านมในเพศชายไม่ต่างจากเพศหญิง นั่นคือการมีระดับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ ซึ่งมีความผิดปกติของดีเอ็นเอคือมีดีเอ็นเอของเพศหญิงเพิ่มขึ้น มาตั้งแต่เกิด ทำให้มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงและระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำลง มีลักษณะเหมือนเพศหญิง ผู้ชายที่เป็นกลุ่ม อาการนี้จะมีความสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ช่วงไหล่แคบกว่าช่วงเอว มี เต้านมใหญ่ ลูกอัณฑะเล็กและเป็นหมันจากการไม่มีตัวอสุจิหรือมีตัวอสุจิน้อยมาก กลุ่มอาการนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 คน
          ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่พบบ่อยที่สุดคือคลำเจอก้อนที่เต้านม โดยเฉพาะบริเวณ ใต้หัวนม ส่วนอาการอื่น ๆ ก็ไม่แตกต่างจากในเพศหญิง คือ มีของเหลวออกจากหัวนมเป็นน้ำปนเลือด หัวนมบอด เต้านมหรือหัวนมแดง หรือมีผื่นหรือแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม โดยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากแล้ว
          ส่วนอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยชายไม่แตกต่างจากผู้ป่วยเพศหญิงแต่อย่างใด ดังนั้น ชายสูงวัยจึงควรใส่ใจสังเกตความผิดปกติของเต้านมและตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำ

 pageview  1210943    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved