Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 22/03/2564 ]
ต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด

 การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้กลายเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่จะพลิกฟื้นโลก ให้กลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ต้องจม กับการแพร่ระบาดมา 2 ปี ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม มากกว่า 122,367,676 คน ตาย 2,703,176 คน วันนี้ตัวเลขการแพร่ระบาดเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังหลายภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและยุโรปเริ่มฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองอย่างจริงจัง โดยใช้วัคซีนหลัก 2 ยี่ห้อที่ผ่านการอนุมัติเป็นกรณีฉุกเฉิน คือ วัคซีนของ Pfizer-BioNTech กับ AstraZeneca-Oxford
          รัสเซียและอดีตประเทศเครือข่ายใช้วัคซีน Sputnik V ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียรวมถึงประเทศยากจนในแอฟริกา-ละตินอเมริกา เริ่มใช้วัคซีนของจีน Sinovac ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านทางการบริจาค ส่วนกรณีของไทยเดิมทีตั้งใจที่จะใช้วัคซีนของ AstraZeneca ทั้งจากการนำเข้า 150,000 โดสในการนำร่องและอีกจำนวน 26 ล้านโดสในเดือนมิถุนายนจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้รับ "สัญญารับจ้างผลิต" จาก AstraZeneca-Oxford ด้วยความตั้งใจที่จะให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นฐานการผลิต (และจำหน่าย) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          ทว่า แผนการซื้อ-ผลิตและกระจายวัคซีนของรัฐบาลไทย ตกอยู่ในความเสี่ยง 3 ประการ 1) กระบวนการเริ่มต้นในการฉีดวัคซีนดำเนินการไปอย่างล่าช้า ขณะที่เพื่อนบ้าน อาเซียนและประเทศอื่น ๆ ในหลายภูมิภาคฉีดวัคซีน "ก้าวหน้า" มากกว่า หมายถึงความพร้อมในการเปิดประเทศ และการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่า แทนที่อาจจะลากยาวไปถึงปี 2565 2) ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการผลิตที่ล่าช้าของ AstraZeneca ทำให้ระยะแรก เกิดการ "กักตุน" วัคซีนในยุโรปด้วยการออกมาตรการห้ามการส่งออกนอกประเทศผู้ผลิต ซ้ำมี "ข่าวร้าย" เวลาต่อมาว่า 19 ประเทศในยุโรป (ทั่วโลก 23 ประเทศ) สั่งระงับการฉีดชั่วคราว หลังพบว่าอาจเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในอวัยวะสำคัญของร่างกาย
          3) การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะจาก สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในอังกฤษ-ฝรั่งเศส-แอฟริกา จะมีผล โดยตรงต่อ "ประสิทธิภาพ" ของวัคซีน "ต่ำกว่า" สายพันธุ์เดิม ในประเด็นนี้มีทางออก 2 ทาง คือ ซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ "ดีกว่า" วัคซีนของ Sinovac หรือ AstraZeneca กับเพิ่มการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จากเดิมที่ต้องฉีดครอบคลุมประชากร 84% ก็ฉีดเพิ่มขึ้นเป็น 98% จึงจะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันการติดเชื้อได้ 79%
          จากปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ 3 ประการสำหรับประเทศไทย ได้ส่งผลให้การจัดหาและฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตาม แผนเดิมที่อาจจะล่าช้าเกินไป กระทรวงสาธารณสุขต้องปรับแผนเจรจาขอซื้อวัคซีนจากจีน Sinovac เข้ามา "เร่งด่วน" โดยลอตแรกเข้ามาในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 200,000 โดส จะทยอยเข้ามาในเดือนมีนาคม 800,000 โดส เดือนเมษายน อีก 1 ล้านโดส (ไม่เปิดเผยราคาซื้อกรณีเร่งด่วน) และกำลังเจรจาขอซื้อเพิ่มอีก 5 ล้านโดส รวมเป็น 7 ล้านโดส หรือเท่ากับฉีดให้ประชาชนได้เพียง 3.5 ล้านคนเท่านั้น
          เมื่อรวมกับวัคซีนของ AstraZeneca ที่บริษัทสยามไบโอ ไซเอนซ์ "รับจ้างผลิต" อีกจำนวน 26 ล้านโดส (ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการรับรองจาก อย.) เท่ากับสามารถฉีดวัคซีนให้กับคนไทยได้ไม่เกิน 27 ล้านคนในปี 2564 ซึ่งยังไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่อย่างน้อยจะต้องฉีดให้ได้ถึง 84% สำหรับโควิด-19 สายพันธุ์เก่า และ 98% ในการป้องกันสายพันธุ์ใหม่ หรือการฉีดวัคซีนของประเทศไทยจะต้องล่าช้าไปจนถึงปลายปี 2565 ต่อต้นปี 2566 เป็นอย่างน้อย
          ทางเดียวที่จะเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้ครอบคลุมจำนวนประชากรของประเทศในสถานการณ์นี้ คือ "ยอมเปิด" ให้ภาคเอกชนซื้อ-นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากที่รัฐบาลจัดหาผ่านองค์การเภสัชกรรม ด้านหนึ่งจะช่วยเร่งระยะเวลาการฉีดให้เร็วขึ้นกว่าปลายปี 2565 อีกด้านหนึ่งจะเป็น "ทางเลือก" ของคนไทย ที่ไม่อยากรอคิวการฉีดและต้องการชนิดของวัคซีนที่ เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตนเองด้วย

 pageview  1210881    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved