Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 07/06/2555 ]
วิกฤตยุโรปลาม'3กลุ่มสินค้าไทย'รัฐหวังอุตฯรถยนต์ดึงยอดส่งออก

 วิกฤตหนี้ยุโรปพ่นพิษส่งออก 4 เดือนแรกติดลบไปแล้ว -3.86 กรมส่งออกฯ ประเมิน 3 กลุ่มครึ่ง ปีหลัง กระทบมาก-น้อย ชี้เครื่อง นุ่งห่ม-ของใช้บนโต๊ะอาหาร-รองเท้าเฟอร์ฯ-โทรสาร/โทรศัพท์ หนักสุด ภาพรวมการส่งออกทั้งปีไม่ถึงเป้า ลุ้นรถยนต์-ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้าฉุดยอดครึ่งปีหลังกระเตื้อง
          แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยตัวเลขการส่งออกล่าสุด ณ เดือนเมษายน คิดเป็นมูลค่า 16,919.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ -3.67 ขณะที่ตัวเลขการส่งออก 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย. 2555) อยู่ที่ 71,561.5 ล้านเหรียญ หรือลดลงร้อยละ -3.86
          สำหรับสาเหตุที่การส่งออกสินค้าไทยลดลงมาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1)เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ต่อต้นปี 2555 กระทบมูลค่าการส่งออกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา
          โดยอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวแล้วในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ มีอัตราขยายตัวเป็นบวก (+1.7%) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 แต่บางอุตสาหกรรม อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์-แผงวงจร ได้รับความเสียหายมากและต้องการเวลาในการฟื้นตัวในช่วง 6 เดือนหลัง, รถยนต์/ชิ้นส่วนประกอบ มีอัตราการขยายตัวเป็นบวกตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมต่อเดือนกุมภาพันธ์ (+32.5-24.4%)
          ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังรอการฟื้นตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ (-1.1%) แม้จะมีการย้ายโรงงานไปแล้ว แต่ตัวโรงงานหลักที่ถูกน้ำท่วมยังรอการประเมินความเสียหายจากผู้สำรวจ (Surveyor) อยู่ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 6 เดือน, สิ่งพิมพ์ วัตถุดิบกระดาษเสียหาย และของเล่น Supply Chain เสียหายมาก จะต้องรอเวลาฟื้นตัวในไตรมาส 3-4
          2)ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในยุโรป ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสำคัญของไทยไปสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) แล้วในขณะนี้
          3)ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะที่กำลังลุกลามอยู่ในยุโรป จะส่งผลกระทบถึงอัตราการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเอง ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยทางอ้อม และ 4)วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ แม้จะยังไม่ลุกลามในระยะเวลานี้ แต่รัฐบาลสหรัฐยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาการว่างงานภายในประเทศ
          ล่าสุดกรมส่งเสริมการส่งออกได้ประเมินผลกระทบวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในยุโรปจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามความรุนแรงของเหตุการณ์ (รายละเอียดตามตารางประกอบ) วิธีการแก้ปัญหาขณะนี้ก็คือ ความพยายามที่จะผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดใหม่และตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทดแทน
          อย่างไรก็ตามกรมส่งเสริมการส่งออกยังคงฝากความหวังไว้กับการส่งออกรถยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนยอดการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 11% รองลงมาได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีสัดส่วนการส่งออก 9-10% ซึ่งมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวม 2 อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันถึง 36.8% หากทำได้จะส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้นเป็นลำดับ
          นายสุรพงษ์  ไพสิฐพัฒนพงษ์  โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางกลุ่มมีความมั่นใจว่า ยอดการผลิตและการส่งออกรถยนต์ในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากที่คาดการณ์ไว้ที่ตัวเลข 2.1 ล้านคันนั้น อาจจะมีการประกาศปรับเพิ่มเป็น 2.2 ล้านคัน ในจำนวนนี้จะเป็นยอดส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน มีมูลค่าการส่งออกทั้งอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาท
          "เราค่อนข้างมั่นใจว่าวันนี้การผลิตของเรากลับคืนมาค่อนข้างมาก แม้จะมีชิ้นส่วนบางประเภทที่อาจจะยังไม่สามารถผลิตในประเทศ แต่เราก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาเพื่อผลิตทดแทนไปก่อน จะเห็นว่าในเดือน พ.ย.-ม.ค. ยอดผลิตรถยนต์เราจะตกลงไป แต่พอถึงเดือน มี.ค.ทำได้ถึง 190,000 คัน วันนี้ทุกอย่างเริ่มกลับคืนมาแล้ว และน่าจะได้เห็นยอดผลิตที่ 200,000 คันในเร็ววัน"
          นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานบริหารกลุ่มไฮ-เทค แอพาเรล เปิดเผยว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ได้รับผลกระทบตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมโรงงานในช่วงปลายปี มาจนถึงการปรับขึ้นค่าแรงงาน 300 บาท และล่าสุดก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหภาพยุโรปชัดเจน ยอดการส่งออกในเดือนล่าสุด 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) 2555 ลดลง 20.51% โดยส่วนแบ่งตลาดสหภาพยุโรปคิดเป็น 27% ของตลาดส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามไทยจะต้องพยายามรักษายอดการส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั้งปีให้ติดลบไม่เกิน 10% เท่านั้น หรือหากเป็นไปได้ก็จะพยายามลดการติดลบให้เหลือเพียง 5%
          ด้านนายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรปกระทบกับการส่งออกแอร์บ้าง แต่ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก เนื่องจากยุโรปเป็นตลาดแอร์ที่ไม่ใหญ่สำหรับผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในเมืองไทย และส่วนใหญ่ก็ส่งออกไปตะวันออกกลาง ประกอบกับที่ผ่านมาแต่ละค่ายก็ได้ทยอยปรับตัวมาเป็นระยะ ๆ ด้วยการมาให้ความสำคัญกับตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากรับทราบถึงปัญหาในยุโรปมาระยะหนึ่งแล้ว
          ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า นายครรชิต จันทนพรชัย สมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกออร์เดอร์รองเท้าโดยรวมลดลง แต่ก็ยังคาดการณ์อะไรมากไม่ได้ เพราะอยู่ในช่วงของการส่งมอบสินค้าในเดือนมิถุนายน 2555 นี้ ส่วนครึ่งปีแรกออร์เดอร์จะเริ่มมีการเจรจากันในเดือนกรกฎาคม 2555 จึงจะบอกได้ว่าจะลดลงมากน้อยเท่าไหร่
          นายสมมาตร ขุนเศษฐ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่า ตลาดยุโรปมีการส่งออกลดลง มีผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก แต่ปัจจุบันโรงงานใช้กำลังผลิตไปเพียงร้อยละ 80 เท่านั้น จากที่ควรจะถึงร้อยละ 130 "ตลาดยังทรง ๆ อยู่ ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น" ล่าสุดทางกลุ่มได้นำเสนอเรื่องผ่านไปยังกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ส่งเสริมการส่งออกรองเท้าไปยังตลาดอาเซียน-อินเดีย-จีน ซึ่งมีกำลังซื้อมากเพื่อทดแทนตลาดยุโรป
          นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย กล่าวถึงสถานการณ์ส่งออกสินค้าในกลุ่มกลุ่มเฮาส์แวร์ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 300 รายว่า ตัวเลขการส่งออกไปยุโรปจะลดลง "แต่ไม่มากนัก" ขณะที่ทางกลุ่มเองมีการทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย ปากีสถาน ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอินเดีย สิ้นปีนี้คาดว่าน่าจะโตกว่า 10% อย่างแน่นอน 
 

 pageview  1210929    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved