Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 03/05/2555 ]
เปิดประตู สปป.ลาวโอกาส & ความท้าทาย บนเวทีเออีซี

ก่อนไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนในปี 2558 หรือ "ปีแห่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน น่าจะเป็นปราการด่านแรกที่ไทยต้องตระหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทย ซึ่งเรายกให้เป็นบ้านพี่เมืองน้อง อย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว
          เมื่อปี 2553 จีนแซงหน้าไทยในฐานะประเทศลงทุนสะสมในลาวสูงสุด เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยมีมูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไทยอยู่ที่ 2,600 ล้านดอลลาร์ ส่วนข้อมูลการลงทุนในลาวปี 2552 ที่รวบรวมโดยกรมส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนภายในและต่างประเทศ สปป.ลาว เวียดนามคือประเทศอันดับ 1 ที่เข้าไปลงทุนในลาว มูลค่า 1,421 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 33 จากทั้งหมด อันดับ 2 คือ จีน 933 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 21.6 ส่วนอันดับ 3 คือ ไทย มีมูลค่า 909 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 21.1
          เพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจในลาว ภายใต้หัวข้อ "โอกาสใหม่และความท้าทายทางเศรษฐกิจในลาว" ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจไทยที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจ
          นางขันลาสี แก้วบุนขัน ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการค้า สปป.ลาว ประจำสถานทูตลาวในประเทศไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจและการลงทุนในลาวว่า ขณะนี้ สภาพเศรษฐกิจของลาวเป็นไปได้ค่อนข้างดี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ และสภาพเศรษฐกิจโลก โดยลาวเติบโตต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี อยู่ที่ 7.9% ต่อปี และสิ่งที่ลาวมุ่งหวังจะบรรลุคือให้ประเทศหลุดพ้นจากสถานะประเทศด้อยพัฒนา และความยากจน ในปี 2563 โดยในปีงบประมาณ 2009-2010 ประชากรลาวมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยอยู่ที่ 1,069 เหรียญสหรัฐต่อคน
          ทั้งนี้ลาวต้องการนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนเพิ่ม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของลาวในทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันรัฐบาลลาวมีการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้สอดรับกับการเข้าสู่เออีซีปี 2558 และการเตรียมตัวเข้าเป็นสมาชิกองค์การ การค้าโลก (WTO)
          ด้านกฎหมายการลงทุนลาว มีการปรับปรุงล่าสุดเมื่อปี 2552 เพื่อผลจูงใจและเอื้อต่อการค้าและการลงทุนในลาว ปัจจุบันรัฐบาลลาวมีการส่งเสริมการลงทุน โดยออกแรงจูงใจทางภาษีอากรให้แก่ ผู้เข้าไปลงทุนในลาว ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1)ผู้ที่เข้าไปลงทุนในเขตที่พัฒนาแล้วของประเทศ จะได้รับยกเว้นภาษีอากร 4 ปี 2)ผู้ที่เข้าไปลงทุนในเขตที่กำลังพัฒนาจะได้รับยกเว้นภาษีอากร 6 ปี 3)ผู้ที่เข้าไปลงทุนในเขตที่ยังไม่พัฒนาจะได้รับยกเว้นภาษีอากร 10 ปี
          ทั้งนี้แม้ลาวพัฒนาประเทศตามกลไกตลาด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินนโยบายแบบสังคมนิยมด้วย ซึ่งเชื่อว่าหากนักลงทุนสามารถทำความเข้าใจได้ ลาวก็น่าจะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่สนใจ
          ด้านผู้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจในลาว ทั้งภาคการเกษตรและการบริการ ได้กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายในลาว ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจใน สปป.ลาว ประสบความสำเร็จไว้ดังนี้
          นายทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้อำนวยการด้านโครงการร่วมทุนและการค้าระหว่างประเทศ บริษัทน้ำตาลมิตรผล ในฐานะตัวแทนองค์กรซึ่งมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจในลาว กล่าวว่า บริษัทมิตรลาว ในเครือกลุ่มมิตรผล ได้เข้าไปมีบทบาทดำเนินการปลูกอ้อยที่แขวงสะหวันนะเขตในลาว เมื่อปี 2548 หลังจากนั้น 3 ปี ก็เริ่มก่อตั้งโรงงานน้ำตาลมิตรลาว
          ข้อดีในการเข้าไปลงทุนในลาว ซึ่งยังถือเป็นประเทศยากจน คือได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษด้านภาษีศุลกากร หรือยกเว้นภาษีเป็น 0% ในการผลิตเพื่อ ส่งออกไปยังประเทศทางตะวันตก ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา
          ส่วนข้อได้เปรียบอีกประการของ นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในลาวคือ ลาว ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีศักยภาพในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ของภูมิภาค ได้ดี หากการดำเนินการเรื่องจุดตรวจปล่อยสินค้าร่วมกัน (One Stop Service) เสร็จสิ้น ก็จะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนการนำสินค้าผ่านแดนลดลง และการขนส่งเป็นไปได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
          อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่หากทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ทำประโยชน์ และสร้างงานเพิ่มให้แก่ชุมชนที่เข้าไปลงทุน ก็จะได้รับมิตรภาพแท้จริงจากชุมชน และทั้ง 2 ฝ่ายก็ต่างได้รับผลในทางบวก
          นายณกรณ์ กรณ์หิรัญ กรรมการ ผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก กรุ๊ป ผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจบริการด้านความงามใน สปป.ลาว กล่าวว่า ลาวคือโอกาสที่ดี หากนักธุรกิจเข้าใจบริบททางสังคมลาวอย่างแท้จริง
          ข้อได้เปรียบประการแรกที่นักธุรกิจไทยมี คือคนลาวนิยมสินค้าจากไทย ถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง หากเทียบกับจีนและเวียดนาม ดังนั้นจึงส่งผลดีต่อธุรกิจความงามของไทยในลาว วุฒิ-ศักดิ์ ใช้หมอและบุคลากรคนไทยเข้าไปดูแลในทุกสาขาของวุฒิ-ศักดิ์ และได้รับความเชื่อถือในตัวหมอจากคนลาวสูง โดยขณะนี้วุฒิ-ศักดิ์เปิดสาขาในลาวรวม 3 สาขา คือ เวียงจันทน์ ปากเซ และหลวงพระบาง
          สำหรับวุฒิ-ศักดิ์นั้นการประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการที่คนลาวรับข่าวสาร และดูทีวีของประเทศไทย คนจึงมีรสนิยมที่คล้ายคลึงกัน และเชื่อมั่นในธุรกิจความงามจากไทยมาก
          ด้านความท้าทายของการทำธุรกิจคือ ลาวมีอัตราค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง หากเปรียบเทียบกับไทย โดยแต่ละแขวงไม่เท่ากัน จึงเป็นต้นทุนอีกประการที่ผู้เข้าไปทำธุรกิจในลาวต้องคำนึงถึง แต่หากเข้าใจตลาด กลุ่มลูกค้า ศึกษานิสัยใจคอคนลาวให้ดี และมีคอนเน็กชั่นกับคนลาว และคนในพื้นที่อย่างเพียงพอ ลาวก็ถือเป็นประเทศที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
          ข้อดีในการเข้าไปลงทุนในลาวคือได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร หรือยกเว้นภาษีเป็น 0% ในการผลิตเพื่อส่งออก
         

 pageview  1210912    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved