Follow us      
  
  

เนชั่นสุดสัปดาห์ [ วันที่ 08/08/2557 ]
สธ.เผยคนไทยกินแมลงทอดปีละ 2 ตันเตือนกินเพลินเสี่ยงรับยาฆ่าแมลง
   กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยนิยมกินแมลงทอดตกปีละประมาณ 2 ตัน ดักแด้หนอนไหมทอดได้รับความนิยมสูงสุด รองมาคือตั๊กแตนทอด เตือน ถ้านักเปิบไม่ระวัง อาจได้รับยาฆ่าแมลงที่ส่งผลอันตรายสูงสุดถึงชีวิต แนะเพื่อความปลอดภัยให้เลือกซื้อแมลงที่รู้จักและกินได้ โดยผ่านการปรุงสุกทุกครั้ง  หลีกเลี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ
          นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระแสความนิยมบริโภคแมลงประเภทต่างๆ ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ชาวชนบทนิยมนำมาปรุงเป็นกับข้าว ด้วยวิธีทอด ปิ้ง ย่าง คั่ว หมก อ่อม แกงยำ และตำน้ำพริก แต่ปัจจุบันนิยมนำมาทอดเป็นอาหารว่างรับประทานเล่นๆ โดยปริมาณการบริโภคแมลงทุกชนิดในประเทศไทย ตกปีละประมาณ 2 ตัน แมลงที่นิยมนำมาทอดกินมี 7 ชนิด ได้แก่ ดักแด้หนอนไหม หนอนไม้ไผ่ แมงดานา ตั๊กแตน แมลงกระชอน จิ้งโกร่ง และจิ้งหรีด แต่ที่กินมากเป็นอันดับหนึ่งคือ ดักแด้หนอนไหมทอด รองลงมาคือ ตั๊กแตนทอดแม้อาหารประเภทนี้จะมีคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากมีโปรตีนสูงแต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารอันตราย เช่น สารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะตั๊กแตนที่นำมาทอดขาย ในส่วนของดักแด้หนอนไหมทอดนั้นจะพบสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ตกค้างอยู่มากถึง 875 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดให้มีได้น้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อกํโลกรัม ซึ่งสารฮีสตามีนนี้ความร้อนไม่สามารถทำลายได้ ดังนั้น เมื่อรับประทานแมลงทอดที่มีฮีสตามีนสูง จะทำให้ไปเพิ่มปริมาณฮีสตามีนในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการทั้งทางด้านผิวหนัง ระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ เช่น ผิวหนังอักเสบ เป็นานแดง เป็นลมพิษ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และหอบหืด เป็นต้น โดยเฉพาะที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดจะมีอาการหนักมากจนถึงขั้นเสียชีวิต
          ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า ตั๊กแตนที่นำมาทอดขายส่วนใหญ่เป็นตั๊กแตนปาทังก้า เป็นศัตรูพืชประเภทกัดกินใบ ซึ่งเกษตรกรมักจะใช้ยากำจัดศัตรูพืชฉีดพ่นเพื่อกำจัด โดยสารเคมีที่ใช้จะเป็นสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มคาร์บาเมต (Carbamates) เช่น Carbaryl หรือ 1-naphthyl methylcarbamate ดังนั้น สารกำจัดศัตรูพืชนี้จึงตกค้างทั้งในบริเวณปีก ลำตัว ขาของตั๊กแตน รวมถึงสะสมในตัวของตั๊กแตนด้วย ทำให้เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารจึงมีโอกาสเสี่ยงรับสารกำจัดศัตรูพืช กลุ่มนี้อาการและความรุนแรงของการเกิดพิษจะขึ้นกับปริมาณ วิธีการ และระยะเวลาที่ได้รับสาร หากได้รับไม่มากนักจะมีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ อาการเหนื่อย อ่อนแรง วิงเวียน คลื่นไส้ และมองภาพไม่ชัด จนถึงรุนแรงปานกลาง ได้แก่ ปวดศีรษะ เหงื่อแตก น้ำตาไหล น้ำลายไหล อาเจียน สายตาแคบและกระตุก หากได้รับมากจนมีอาการรุนแรงมากถึงขั้นเป็นตะคริวที่ท้อง ปัสสาวะราด ท้องเสีย กล้ามเนื้อสั่น ม่านตาหด ความดันต่ำ หัวใจเต้นช้า หายใจขัด และหากไม่ได้รับการรักษาโดยทันทีจะเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งหากกินตั๊กแตนทอดเข้าไปแล้วภายใน 4-24 ชั่วโมง มีอาการดังกล่าว ควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
          ด้าน ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเลือกซื้อแมลงทอดให้ปลอดภัยจึงต้องเลือกแมลงที่
          รู้จักและเป็นแมลงที่มีคนนำมากินได้ และควรเลือกชนิดของแมลงที่อาศัยอยู่กับต้นไม้ อยู่กับป่าละเมาะ สวนป่าธรรมชาติ หรือสภาพแวดล้อมธรรมชาตํที่ไม่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชเลย หรือแมลงที่นิยมเพาะเลี้ยงเพื่อการนำมาจำหน่าย เช่น จิ้งหรีด แมลงที่จับมาทอดจำหน่ายควรยังมีชีวิตอยู่และนำมาปรุงเป็นอาหารทันที ควรปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อน เช่น คั่ว ทอด ต้ม เป็นต้น และขณะกินควรเด็ดปีก ขน ขา หรือหนามแข็งของแมลงทิ้งไป เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้กับคนได้
          นอกจากนี้ควรเลือกซื้อจากจำหน่ายที่มีการปกปิดอาหาร ไม่ใช้มือหยับจับอาหารโดยตรง ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า เหม็นบูด เหม็นหืน หากกินแล้วรู้สึกรสชาติผิดปกติ เช่น มีรสขม มีรสเปรี้ยว ต้องหยุดกินทันที และดูลักษณะน้ำมันที่ใช้ทอดต้องไม่เหนียว สีดำคล้ำ มีกลํ่นเหม็นหืน ฟองมาก เหม็นไหม้ และเวลาทอดมีควันขึ้นมาก แสดงว่าน้ำมันใช้มานานทำให้เกิดสารประกอบโพลาร์ ซึ่งจะส่งาลกระทบต่อสุขภาพได้
 pageview  1220587    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved