Follow us      
  
  

ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 10/03/2563 ]
แพทย์ตอบทุกข้อสงสัย หน้ากากกันโควิด-19 ใส่แบบไหนให้ปลอดภัย ไม่ป่วย ไม่ต้องใส่ ตามคำเตือน WHO?

 ไม่ติดเชื้อ "ไม่จำเป็น" ต้องใช้หน้ากากอนามัย WHO เตือน!! อาจทำให้เสี่ยงติด เชื้อโรคมากขึ้น แถมหน้ากากขาดตลาดส่งผลกระทบต่อแพทย์และผู้ป่วย ด้าน แพทย์ไทยเผย คนธรรมดาสวมแค่หน้ากากผ้าก็กันเชื้อโรคได้ การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์คือวิธีที่ดีที่สุด
          คนไม่ป่วย ใช้แค่ หน้ากากผ้าก็พอ
          "ถ้าคุณไม่มีอาการ เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหลก็ไม่มีความจำเป็นต้องใส่หน้ากาก เพราะหน้ากากอนามัย ควรมีไว้สำหรับ บุคลากรทางการแพทย์, คนดูแลผู้ป่วย, ผู้ติดเชื้อ-มีอาการ"
          กลายเป็นประเด็นร้อนทันที เมื่อองค์การอนามัยโลก WHO (World Health Organization) ได้ออกมา โพสต์คลิปในแอปฯ TikTok ประเด็นเรื่องวิธีการป้องกันตัวเองด้วยการที่ "คนไม่ป่วย" ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก ส่งผลให้ผู้คนถกเถียงกันทั่วโลกว่า สรุปแล้วจะให้รับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ ยังไงดี?
          ในช่วงแรกที่เกิดไวรัสระบาด ก็มีการรณรงค์ทั่ว โลกให้ "สวมหน้ากาก" เพื่อความปลอดภัย จนเกิดภาวะหน้ากากอนามัยขาดตลาด และเป็นที่ต้องการของทุกคนอย่างมาก แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า ไม่ควรสวมหน้ากากจะปลอดภัยกว่า
          เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง-ชัดเจน ทางทีมข่าว MGR Live  จึงพยายามรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จนเจอกับข้อมูลของ เว็บฟอร์บส์ forbes.com ที่อ้างอิงมาจากศาสตราจารย์การแพทย์ อย่าง "Eli Perencevich" นักระบาดวิทยา ม.ไอโอวา สหรัฐอเมริกา ที่ระบุเอาไว้ว่า คนที่ไม่ได้ป่วยอยู่ ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก เพื่อป้องกัน "โควิด-19" ต่อให้จะมีผู้ติดเชื้อพักอาศัย อยู่ข้างบ้านของคุณก็ตาม
          พร้อมกล่าวย้ำอีกว่า ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่บอกว่าหน้ากากจะช่วยป้องกัน ไม่ให้คุณติดเชื้อตราบใดที่คน ใส่ สวมหน้ากากแบบผิดๆ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มากไปกว่าเดิมอีก คำตอบเรื่องหน้ากาก สำหรับคนไม่ป่วย จึงไม่ควรสวมหน้ากากอนามัย และนั้นก็ทำให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยจริงๆ อยู่ในช่วงที่ขาดแคลนเป็นอย่างมาก โรงพยาบาลในไทยเองหลายแห่งก็มีหน้ากากไม่เพียงพอต่อการใช้ การหาซื้อก็ยากลำบาก
          อีกทั้งตอนนี้ ยังส่งผลให้มีกลุ่มมิจฉาชีพที่เห็น ช่องโหว่ ในการหารายได้ ด้วยการ "หลอกขายหน้ากาก" ทั้งหน้ากากปลอม ที่บางเฉียบจนแทบป้องกันอะไรไม่ได้ หรือแม้แต่พวกมักง่ายหยิบเอา "หน้ากากใช้แล้ว" ขึ้นมา "ซัก-รีด-พับ" เพื่อส่งขายใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นเพิ่งถูกจับ ที่ จ.สระบุรี
          การที่ได้รับข้อมูลมากมายจากหลายทางทำให้ประชาชนหลายคนเกิดความสับสนว่าการใช้หน้ากากอนามัยจะส่งผลดีหรือไม่ดีกับตัวเองกันแน่ และควรมีวิธีป้องกันตัวเองแบบไหน เลือกหน้ากากใช้อย่างไรถึงจะปลอดภัย
          เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ทางทีมข่าวจึงได้ไปสอบถาม ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บอกถึงกรณีนี้ว่า คนที่ไม่ป่วยหากไม่ได้อยู่พื้นที่แออัด หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สามารถใส่เพียงหน้ากากผ้าธรรมดาก็ได้
          "จริงๆ แล้วการใส่หน้ากากสำหรับคนไม่ป่วย ถ้าหากว่าอยู่ในสถานที่ ที่มีคนหนาแน่น โดยที่ต้องใกล้ชิดกัน น้อยกว่า 1 เมตรหรือ 2 เมตร ในกรณีนี้จะมีละอองฝอย เกิดจากการพูด การไอจาม เข้ามา ปะทะอยู่ที่เยื่อบุเราได้ เยื่อบุนี้คือ เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุปาก
          เพราะฉะนั้น ให้ลองนึกภาพหมอและพยาบาลทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล เราต้องใส่หน้ากากอยู่แล้วเพื่อกันละอองฝอยจากคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาล ในกรณีอย่างนี้ก็เหมือนกัน ประชาชนทั่วไปถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด อยู่ในรถไฟฟ้า รถประจำทาง ถ้าเราใส่ก็จะกันไม่ให้ละอองฝอยเข้าหน้าเรา ประชาชนทั่วไปก็สามารถใส่หน้ากากผ้าธรรมดาได้ มันเป็นการกันไม่ให้ละอองฝอยที่เป็นเชื้อโรคเข้าสู่ใบหน้า
          แต่มันจะไม่มีความหมายเลยถ้าเราไม่ได้อยู่ในที่ที่มีคนหนาแน่น หน้ากากอนามัยจะมีประโยชน์ในกรณีที่เราไม่สบายแล้วไม่ให้เชื้อโรคมันแพร่ออกไป ถ้าเป็นคนปกติทั่วไปใช้หน้ากากผ้าก็ได้"
          คุณหมอรายเดิมยังบอกอีกว่า การใช้หน้ากากผ้าธรรมดาก็สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ แต่ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่า มือที่ใช้สัมผัสกับหน้ากากมีความสะอาดขนาดไหน หากมือไม่สะอาดแล้วไปจับใบหน้าหรือจับหน้ากาก ก็จะเป็นการเพิ่มเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยที่ไม่รู้ตัว
          หน้ากากผ้ามีข้อจำกัดจริง เนื่องจากจะชุ่มและไม่มีตัวกรองเชื้อโรค แต่ถือว่าสามารถใช้ป้องกันได้ระดับหนึ่งโดยที่สามารถใช้ซ้ำได้ เอาไปซักล้างใหม่ และแน่นอน "ต้อง" ล้างมือบ่อยที่สุดด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์ 70% และถ้าการใส่และถอดหน้ากากไม่ถูกต้อง ก็เป็นการส่งผ่านเชื้อเข้าเยื่อบุตา ปากจมูก จากมือของเราเอง
          ถ้าเดินอยู่คนเดียวในสวนลุมฯไม่มีคนอยู่แถวนั้นจะไม่ใส่หน้ากากก็ไม่เสียหาย ยกเว้น PM2.5 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องใส่หน้ากาก N95 ส่วนผู้ที่ไม่สบายแน่นอนต้องใส่หน้ากากอนามัยที่จะคอยป้องกันละอองฝอยออกไปสู่ผู้อื่น
          "วิธีการใส่ ถ้ามือเราไปสัมผัสวัตถุต่างๆ แล้วไปจับหน้า มือเราก็จะเป็นตัวแพร่เชื้อเอง ในขณะที่เราจะถอดหน้ากาก ถ้าเราไปสัมผัสผิวหน้าของหน้ากาก แล้วเอามือเรามาขยี้ตา มาแคะจมูก มาจับปาก เราก็จะได้เชื้อโรคไปเลย ฉะนั้น เราต้องล้างมืออยู่บ่อยๆ
          แต่ถ้าเป็นคนติดเชื้อต้องใส่หน้ากากอนามัยที่เป็นสีเขียว หรือบางยี่ห้อเป็นสีดำ เพื่อป้องกันเชื้อที่จะออกจากตัวเราไปหาคนอื่น แต่จะต้องเป็นหน้ากากอนามัยที่มีชั้นคัดกรอง 3 ชั้น"
          ส่วนหน้ากากที่รัฐบาลแจกให้กับประชาชนนั้น คุณหมอรายเดิมบอกว่า เป็นหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพดี  แต่ความจริงใช้เป็นหน้ากากผ้าแทนก็ได้ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติด เชื้อไวรัส
          ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันไวรัส
          เมื่อพูดถึงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยในตอนนี้ เสี่ยงเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือไม่ คุณหมอรายเดิมบอกว่า ถ้าคนไทยปล่อยผ่านไม่ช่วยกันดูแล หรือรัฐเองไม่ได้เข้มวงดในการป้องกันมากพอ ประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะที่ 3 และจะเป็นอันตรายจน ควบคุมได้ยากอย่างแน่นอน
          "จริงๆ แล้วการเป็นพื้นที่ 2 หรือ 3 ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ถ้าเราปล่อยให้เป็นพื้นที่ระยะที่ 3 นั้นหมายถึงเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน โดยคนในพื้นที่นั้นๆ และมีการระบาดอย่างเข้มข้น เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าเป็นระยะที่ 3 หมายถึงการป้องกันในตอนนี้เริ่มล้มเหลวแล้ว
          การป้องกันไม่ให้มีการระบาดคือทุกคนต้องร่วมมือกันในการป้องกัน ไม่ให้ตัวเองติดเชื้อจากคนอื่น และป้องกันไม่ให้ตัวเราเองซึ่งไม่แน่ใจว่าติดเชื้อรึเปล่า ไปสู่คนอื่นด้วยซึ่งเป็นการป้องกันระดับบุคคล
          ส่วนมาตรการป้องกันในระดับที่เราทำเองไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องทำ หมายถึงพื้นที่ในที่สาธารณะ ในรถประจำทาง ในรถไฟฟ้า โรงแรมหรือโรงเรียนต่างๆ จะต้องมีมาตรการและวิธีการแนะนำ ในทางปฏิบัติ
          ซึ่งตรงนี้ในส่วนบุคคลเราทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่เป็นสาธารณะนั้นจะต้องมีวิธีการในการปฏิบัติอย่างไร ต้องใช้อะไรในการทำ ถ้าหากเราควบคุมไม่ได้แสดงว่ามีการระบาดจากคนสู่คนคือ คนไทยเองติดเชื้อกันเองอย่างเข้มข้น ซึ่งตรงนี้โทษเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ได้ เพราะสาธารณสุขก็ทำเต็มที่แล้ว ถ้าหากมาตรการของรัฐไม่เข้มแข็งพอก็เข้าสู่ระยะที่ 3 อย่างแน่นอน"
          นอกจากนี้คุณหมอยังได้บอกถึงวิธีป้องกันตัวเอง ว่าการทำเจลล้างมือเองนั้น สามารถที่จะทำได้แน่นอน เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าแอลกอฮอล์ที่ใช้ถึง 70% พอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้
          "สำหรับเจลล้างมือถ้าทำเอง มันขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ถ้ามีความเข้มข้นเกิน 70% หรือน้อยกว่านั้นนิดหน่อย ก็มั่นใจว่าฆ่าเชื้อโรคได้ ถ้าเราไปซื้อแอลกอฮอล์ 100% ตามร้านขายยา แล้วเราเอาน้ำกลั่นมาเจือจางให้เหลือแอลกอฮอล์ 70% ก็สามารถเอาตรงนั้นมาฉีดพ่นที่มือเรา หรือพื้นผิวที่เราคิดว่า อยากให้สะอาดไม่มีเชื้อโรค ก็สามารถฉีดพ้นตามโต๊ะทำงาน หรือสิ่งของต่างๆ ได้เลย เพียงแต่ต้องมีแอลกอฮล์ถึง70% เท่านั้น"
          วิธีป้องกัน หรือการดูแลตัวเองในช่วงที่มีโรคระบาดนั้น ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกมาบอกว่า ยังมีหลากหลายวิธี ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ เพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบข้าง จาก "โควิด-19" นั้นคือ ให้ล้างมือบ่อยๆ โดยใช้น้ำยาล้างที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เจล หรือล้างมือด้วย สบู่และน้ำ
          เมื่อไอหรือจาม ให้ปิดปากและจมูกตัวเอง ด้วยข้อพับแขน หรือใช้ทิชชู่ปิด แต่ต้องรีบกำจัดทิชชู่ ที่ใช้แล้วแผ่นนั้นทิ้งทันที ลงไปในถังขยะที่ปิดสนิทและให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับใครก็ตามที่มีไข้ หรือไอ และถ้าคุณมีไข้ ไอ และหายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน และให้ข้อมูล เรื่องการเดินทาง-ท่องเที่ยว ครั้งล่าสุด ให้ผู้เชี่ยวชาญรับรู้
          ถ้าหากไม่มีอาการเกี่ยวกับระบบหายใจที่รุนแรง หรือไม่มีประวัติการเดินทางท่องเที่ยว ที่เฉพาะเจาะจงขนาดนั้น ก็สามารถเฝ้าระวังและพักฟื้นอยู่ที่บ้านได้
          ในส่วนวิธีการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องนั้น ก่อนจับหน้ากากทุกครั้ง ต้องล้างมือให้สะอาด ตรวจสอบรอยฉีกขาด หรือรูก่อนว่ามีหรือเปล่า และดูให้ดีๆ ว่าด้านไหนคือด้านบนของหน้ากาก ซึ่งคือด้านที่มีขดลวดฝังอยู่ จากนั้นให้ดู ฝั่งด้านในของหน้ากาก ซึ่งปกติแล้วจะเป็น ฝั่งที่มีสีขาวเมื่อสวมหน้ากากแล้ว ให้บีบเส้นลวด หรือ ส่วนที่เป็นขอบแข็ง ของหน้ากากเพื่อให้มันแนบไปกับ รูปร่างของโครงจมูกคุณ จากนั้นดึงหน้ากากลงมาคลุมปากและคาง ให้แน่ใจว่า ไม่มีช่องว่าง ระหว่างหน้าคุณกับหน้ากาก และอย่าจับส่วนหน้า ของหน้ากาก
          ในขณะที่ใช้หน้ากาก แต่ถ้าเกิดสัมผัสมัน อย่างไม่ตั้งใจให้รีบล้างมือทันที ส่วนตอนถอดหน้ากาก ให้จับที่สายพลาสติก มาจากด้านหลัง โดยไม่สัมผัสกับด้านหน้าแล้วเอาออกให้ห่างจากหน้าตัวเอง ควรทิ้งลงถังขยะ ที่มีฝาปิดทันที พร้อมล้างมือให้สะอาด และที่สำคัญห้ามใช้ซ้ำ ให้เปลี่ยนใหม่ เมื่อหน้ากากชื้น .ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha", ทวิตเตอร์ @ppp_jppj และ AFP

 pageview  1210937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved