Follow us      
  
  

ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 24/06/2564 ]
ปรับแผนวัคซีน ฉีดแอสตร้าฯเข็ม2เร็วขึ้น สู้พันธุ์เดลตาระบาดหนัก

  ปรับแผนวัคซีนฉีดแอสตร้าฯเข็ม2เร็วขึ้น
          ผู้จัดการรายวัน360 - ศบค.รายงานสถานการณ์ติดโควิด-19 วันเดียวทะลุ 4,059 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 35 ศพ พบอีก 11 คลัสเตอร์ใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อสั่งปรับแผนฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 เร็วขึ้นใน 8 สัปดาห์ สู้สายพันธุ์เดลตา หลังพบแล้ว 666 ตัวอย่าง "หมอยง" คาด 3-4 เดือน สายพันธุ์เดลตายึดพื้นที่ ต้องคุมระบาดให้ช้าที่สุด "หมอธีระ" หวั่นระลอก 4 มาแน่ หลังเปิดรับนักท่องเที่ยว ด้านหมอพร้อมปลดล็อก รพ.จัดคิวฉีดวัคซีนได้เอง นักวิชาการแฉไทยซื้อ ซิโนแวคแพงกว่าแอสตร้าฯ 5 เท่า "อนุทิน" แจงทันควัน แอสตร้าฯ ถูกกว่า เหตุผลิตในไทย ไม่แสวงกำไร
          ผู้จัดการรายวัน360 - ศบค.รายงานสถานการณ์ติดโควิด-19 วันเดียวทะลุ 4,059 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 35 ศพ พบอีก 11 คลัสเตอร์ใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อสั่งปรับแผนฉีดแอสตร้า เซนเนก้าเข็ม 2 เร็วขึ้นใน 8 สัปดาห์ สู้สายพันธุ์เดลตา หลังพบแล้ว 666 ตัวอย่าง "หมอยง" คาด 3-4 เดือน สายพันธุ์เดลตายึดพื้นที่ ต้องคุมระบาดให้ช้าที่สุด "หมอธีระ" หวั่นระลอก 4 มาแน่ หลังเปิดรับนัก ท่องเที่ยว ด้านหมอพร้อมปลดล็อก รพ.จัดคิวฉีดวัคซีนได้เอง นักวิชาการแฉไทยซื้อซิโนแวคแพงกว่าแอสตร้าฯ 5 เท่า "อนุทิน" แจงทันควัน แอสตร้าฯ ถูกกว่า เหตุผลิตในไทย ไม่แสวงกำไร
          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วานนี้ (22 มิ.ย.) ว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 4,059 ราย แยกเป็นติดเชื้อในประเทศ 3,963 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ ที่ต้องขัง 75 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 21 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 2,047 ราย กลับบ้านแล้ว 187,836 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 35,836 ราย มีอาการหนัก 1,479 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 410 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 35 ศพ ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,693 ศพ รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 225,365 ราย
          ทั้งนี้ ในกรุงเทพฯ พบพื้นที่ระบาดใหม่ 3 แห่ง คือ สถานดูแล ผู้สูงอายุบางเขน ร้านผลิตขายส่งขนมกุยช่าย ซอยเทิดไท 21 และแคมป์ที่พักคนงาน ถ.เพชรเกษมสายเก่า บางกอกใหญ่ ส่วนต่างจังหวัด 8 แห่งใน 7 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรปราการ ที่บางพลี เป็นโรงงานรองเท้า และโรงงานแปรรูปอาหาร ที่ อ.เมืองสมุทรปราการ, จ.สงขลา โรงงาน อาหารทะเลกระป๋องที่ อ.สทิงพระ, จ.สมุทรสาคร ที่ อ.กระทุ่มแบน โรงงานเสื้อผ้า, จ.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม เป็นโรงงานหมู 4 โรง, จ.ระยอง อ.เมืองระยอง เป็นแคมป์ก่อสร้าง, จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ศูนย์วิทยุกู้ภัย, จ.ปราจีนบุรี อ.ศรีมหาโพธิ์ เป็นโรงงานหินเทียม และใน 7 จังหวัด ภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล กระบี่ พัทลุง พบสถานที่เกิดการระบาดที่มัรกัส 3 แห่ง ได้แก่ ยะลา ยี่งอ ศรีสาคร
          ปรับแผนฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้น
          นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้พื้นที่ที่มีการระบาด สามารถปรับระยะเวลาการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้นจากปกติที่นัดห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์ ขยายได้ถึง 16 สัปดาห์ เป็น 8 สัปดาห์ หลังจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าสายพันธุ์เดลตา มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
          ส่วนการจัดสรรวัคซีน ได้มีการ กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ แล้วรวม 8.5 ล้านโดส ตามแผนที่ ศบค.กำหนด เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร โดยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-21 มิ.ย.2564 ฉีดวัคซีนแล้วรวม 7,906,696 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 5,678,848 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 2,227,848 โดส ในจำนวนนี้ เป็นวัคซีนซิโนแวค 5,550,891 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2,355,805 โดส
          กรมวิทย์พบสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้น
          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังตั้งแต่ เม.ย.-20 มิ.ย.2564 พบสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 5,641 ตัวอย่าง สายพันธุ์ เดลตา (อินเดีย) จำนวน 666 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 38 ตัวอย่าง โดยสายพันธุ์เดลตา มีการพบเพิ่มในเขตสุขภาพที่ 4 จากเดิมจำนวน 40 ราย เป็น 65 ราย รวม 105 ราย ส่วนเขต 13 จากเดิม 404 ราย เพิ่มอีก 89 ราย รวมเป็น 493 ราย สายพันธุ์เบตา ขณะนี้ยังพบในภาคใต้ จำนวน 38 ราย พบในเขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 2 ราย และเขตสุขภาพที่ 12 จากเดิม 28 ราย เพิ่มอีก 5 ราย รวม 33 ราย
          ส่วนการติดตามเด็กนักเรียนใน จ.ยะลา เบื้องต้นพบทั้งสายพันธุ์อัลฟา และเบตา ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขกำลังติดตามหาต้นตอว่าติดมาจากที่ไหน และกำลังเร่งติดตามว่าเชื้อมีการกระจายไปจังหวัดอื่นๆ หรือไม่
          "หมอยง" คาด 3-4 เดือนเดลตายึดพื้นที่
          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตา แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษประมาณ 1.4 เท่า จึงไม่แปลกที่สายพันธุ์เดลตาจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลตาจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทั่วโลก และในอนาคต อาจจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น
          ทั้งนี้ สายพันธุ์อัลฟา ลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตมา ก่อนไม่มาก และคงยังใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และในไทยส่วนใหญ่ ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา และมีแนวโน้ม ที่จะเกิดสายพันธุ์เดลตาเข้ามาแทนที่ สิ่งที่ทำได้ ต้องช่วยกันควบคุมป้องกันให้สายพันธุ์เดลตาระบาดในประเทศ ไทยช้าที่สุด และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการให้วัคซีนควบคุมโรคให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดตามทรัพยากรที่มีอยู่
          "หมอธีระ" หวั่นไทยระบาดระลอก 4
          รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่า จะเกิดการระบาดระลอก 4 ในช่วงปลายปีนี้ โดยมีเหตุผลประกอบสรุปว่า การติดเชื้อของไทยติด Top 20 ของโลกมาตลอด ในเอเชีย อยู่อันดับที่ 9 มีปัจจัยเสี่ยง คุมการระบาดไม่ได้ การตรวจคัดกรองมีจำกัด อาวุธป้องกันมีจำกัด และสำคัญที่สุด กำลังจะเปิดประเทศ โดยการติดเชื้อหลายพันต่อวัน มีโอกาสปะทุซ้ำรุนแรง ช่วงต้องระวังต้นถึงกลาง ก.ค. 2564 และไตรมาสสุดท้าย มีโอกาสระบาดระลอก 4 จากการท่องเที่ยว ที่จะทำให้โรคกระจายไปทั่ว แฝงในชุมชน เพราะพบปะกัน ค้าขาย และบริการ หากไม่เคร่งครัด มีโอกาสติด Top 10 หรือ Top 5 ของเอเชียได้ ดังนั้น ต้องไม่ประมาท
          "หมอพร้อม" ปลดล็อก รพ.จัดคิวฉีดวัคซีน
          เพจเฟซบุ๊ก "หมอพร้อม" โพสต์ข้อความแจ้งประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป ระบบ MOPH Immunization Center (MOPH-IC) ของหมอพร้อม จะทำการปลดล็อก เพื่อให้แต่ละโรงพยาบาล สามารถจัดระบบคิว ลงนัด เลื่อนนัด และแจ้งเตือนประชาชน ที่จะมาฉีดวัคซีนได้ตามความเหมาะสม หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับนัดหมาย ฉีดวัคซีน ขอให้ท่านติดต่อไปยัง โรงพยาบาลที่ท่านได้แจ้งความประสงค์โดยตรง
          นายกฯ ไฟเขียวเอกชนขอรัฐฉีดวัคซีน
          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบคำถามแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า องค์กรภาครัฐและเอกชน ที่มีความประสงค์ขอรับวัคซีนให้กับบุคลากร สามารถแจ้งความประสงค์ไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกรณีเป็นองค์กรขนาดใหญ่ สามารถแจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอรับการฉีดวัคซีนได้
          มึนไทยซื้อซิโนแวคแพงกว่าแอสตร้าฯ
          รศ.ดร.สิริพรรณ หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ถึงกรณีการจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาลไทย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลอธิบายว่า เหตุใด จึงต้องจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ทั้งๆ ที่มีราคาต่อโดสแพงกว่าแอสตร้าเซนเนก้า ถึง 5 เท่า และเป็นวัคซีนที่ถูกวิจารณ์ว่า มีประสิทธิภาพน้อย พร้อมระบุราคา ซิโนแวคต่อโดสในล็อตแรก โดสละ 554 บาท และในล็อตที่ 2 ราคาต่อโดส โดสละ 580 บาท และแอสตร้า เซนเนก้า ราคาต่อโดสในล็อตแรก 159 บาท และล็อต 2 ราคา 162 บาทต่อโดส ซึ่งพบว่าราคาต่อโดสของซิโนแวค แพงถึง 5 เท่าตัว
          "อนุทิน" แจงสาเหตุซื้อแอสตร้าฯ ถูกกว่า
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตอนที่แอสตร้าฯ มาขาย เขาใช้นโยบายไม่ได้กำไร และไม่ขาดทุน และมาผลิตในไทย ค่าใช้จ่ายถูกลงแน่นอน และวัคซีนอื่น ก็ซื้อตามราคาตลาด ไม่ได้ซื้อแพงกว่าคนอื่น ส่วน ซิโนแวค ผู้ขายเป็นผู้กำหนดราคา ตอนแรกที่เสนอมา ก็ไม่ใช่ราคานี้ ต่อแล้วต่ออีก ต่อแม้กระทั่งค่าขนส่ง
          ก่อนฉีดเข็ม 3 เอาเข็ม 1-2 ให้รอดก่อน
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือหมอธีระวัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงถึงข้อสิ่งที่ต้องทำก่อนจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 เข็มที่ 3 และการฉีดวัคซีนแบบสลับยี่ห้อ โดยระบุว่า ต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ให้ผ่านไปให้ได้เสียก่อน โดยวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เว้นระยะห่างกัน 2-4 สัปดาห์ วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เว้นระยะห่างกันไม่เกิน 8 สัปดาห์ จากนั้นสิ่งที่ต้องทำหากได้เข็มที่ 2 ไปแล้ว หากฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว ให้เตรียมตัวรับวัคซีนเข็มที่ 3 ได้เลย โดยถ้าฉีดไปแล้ว 2 เข็ม มีคนที่มีระดับภูมิในน้ำเหลืองที่ยับยั้งไวรัสตัวปกติได้ ต่ำกว่า 70% มีเป็นจำนวนพอสมควร และ ไม่น่าพอใจ และจะมีผลทำให้ลดประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลงบ้าง ที่แน่นอนคือจะมีผลกับ เชื้อสายพันธุ์เดลตา และเบตา ที่ประสิทธิภาพจะลดลงอย่างมาก ดังนั้น วัคซีนเข็มที่ 3 หากใช้วัคซีน ไฟเซอร์และโมเดอร์นา จะดีกว่า.

 pageview  1210870    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved